02 149 5555 ถึง 60

 

วิธีช่วยเด็กไม่ให้เครียดในช่วงสถานการณ์ปิดเมือง

วิธีช่วยเด็กไม่ให้เครียดในช่วงสถานการณ์ปิดเมือง

แม้ในวันนี้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการผ่อนคลายมาตรการบางส่วนเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมดำเนินต่อไปได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ทุกคนต่างก็ต้องเตรียมใจรับมือกับความเครียดและปรับตัวให้เกิดความเคยชินกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) สำหรับทุกกิจกรรมในชีวิตนับจากนี้ไป

การเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากที่คุ้นเคยแม้แต่กับผู้ใหญ่เองก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กซึ่งเป็นวัยที่ต้องพัฒนาตัวเองผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไปพร้อมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากโลกภายนอกตลอดเวลาด้วยเช่นกันในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดและความไม่แน่นอนดังเช่นการกักตัวอยู่ในบ้าน การเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียน และการงดกิจกรรมเสริมพิเศษที่ทำร่วมกับเพื่อนๆเพื่อเปิดรับประสบการณ์แปลกใหม่ ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุดลงนั้นต่างก็เป็นปัจจัยที่ผลักให้เด็กๆต้องตกอยู่ในภาวะความเครียด

ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องความคิด สภาพจิตใจและพฤติกรรมของเด็กอยู่เสมอ เด็กที่เก็บสะสมเรื่องราวความกังวลและไม่สบายใจจนเกิดเป็นความเครียดอาจมีการแสดงออกที่หลากหลายและแตกต่างกันไป บางคนอาจเก็บตัวไม่ต้องการพบปะพูดคุยกับใคร บางคนมีอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ครุ่นคิดวิตกกังวลและโมโหฉุนเฉียวได้ง่ายกว่าปกติ บางคนเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้นและขาดสมาธิที่จะทำงานให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน บ่อยครั้งที่ความเครียดส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน ความอยากอาหาร และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจนทำให้ร่างกายทรุดโทรม

อย่างไรก็ตาม เราได้ทราบแล้วว่าความเครียดในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้สามารถสร้างผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจเด็กมากเพียงใด ทางเลือกในการป้องกันปัญหาจึงเป็นวิธีการเชิงรุกที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณานำมาใช้เป็นลำดับแรกมากกว่ารอให้เด็กตกอยู่ในภาวะความเครียดแล้วตามแก้ไขต่อไปนี้เป็น 6 วิธีที่จะช่วยไม่ให้เด็กเกิดความเครียดในช่วงสถานการณ์ COVID-19

1.การสื่อสารทางบวก – สุขภาพจิตที่ดีต้องเริ่มจากคนในครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่แม้กำลังเครียดและวิตกกังวลในสถานการณ์ COVID-19 จากภาระการงาน การเงินหรือปัญหาอื่นๆเช่นกัน แต่ก็จำเป็นต้องแสดงความเป็นผู้นำปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ ส่งต่อรอยยิ้มและข้อความทางบวกเสมอ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เบิกบานและเสริมพลังทางบวกให้เด็กๆได้มีกำลังใจในการปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่

2.ดูแลการรับข่าวสาร – ความตื่นตระหนกและวิตกกังวลจนเกิดความเครียดส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับข้อมูลข่าวสารในปริมาณและความถี่ที่มากเกินไป โดยเฉพาะโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยกลั่นกรองข้อมูล อธิบายและให้คำแนะนำ ตลอดจนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม

3.สร้างความรู้สึกภูมิใจ – ในช่วงเวลาแห่งความสับสนและไม่มั่นใจต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัว คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดพื้นที่และเวลาในการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้องชัดเจนเสมอ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เด็กต้องเข้ามามีบทบาทและให้ความร่วมมือในการทำสิ่งที่สังคมคาดหวัง ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบ ประโยชน์และคุณค่าที่เด็กรู้สึกผูกพันต่อผู้อื่น

4.ช่วยจัดตารางประจำวัน – เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ภายในบ้าน การกำหนดตารางกิจกรรมประจำวันที่เหมาะสมและชัดเจนโดยอยู่บนพื้นฐานของกิจวัตรที่คุ้นเคยและการมีส่วนร่วมกันตัดสินใจ จะช่วยทำให้แต่ละวันนั้นมีความหมายและเป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบต่อการดูแลจัดการชีวิตของตัวเองได้อย่างราบรื่นจนสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจ

5.จัดสรรเวลาครอบครัว – ช่วงเวลาที่เด็กรู้สึกไม่มั่นคงสิ่งสำคัญคือ การเสริมสร้างความรักและอบอุ่นใจให้กับเด็กผ่านการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆในครอบครัว ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่สมาชิกทุกคนจะได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้เด็กรู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุข โดยใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของตารางกิจกรรมซึ่งผลัดเปลี่ยนกันไปตั้งแต่การเล่นเกม อ่านหนังสือ จัดสวนหรือทำครัว เป็นต้น

6.ทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดี – บทบาทสำคัญของคุณพ่อคุณแม่คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนที่รักและเข้าใจที่พร้อมจะให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กันเสมอ ซึ่งนอกจากใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันแล้ว ยังช่วยแนะนำและค้นหาความชอบและความสนใจใหม่ๆ โดยเป็นเพื่อนคู่คิดที่รับฟังและหาทางออกให้มากกว่าการตำหนิหรือลงโทษ ที่สำคัญคือ การเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสมให้เด็กได้มีพื้นที่และเวลาของตัวเองในการสร้างคุณค่าและตัวตนซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆได้อย่างมั่นคง

สถานการณ์ปิดเมืองที่ครอบคลุมการจำกัดการเดินทางและพบปะทางสังคมแม้จะผ่อนคลายลง แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าเด็กๆจะกลับไปโรงเรียน ออกไปเล่นสนุกกับเพื่อนและใช้ชีวิตที่คุ้นเคยได้เมื่อไร สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้จึงเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเหตุการณ์ ตลอดจนการส่งเสริมคุณค่าและกำลังใจที่ดี ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่จะช่วยปกป้องเด็กจากภัยของความเครียด

12 May 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1050

 

Preset Colors