02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิต แจงตัวเลขจริงพยายามฆ่าตัว หลังแชร์ว่อนพุ่งหลักหมื่น

กรมสุขภาพจิต แจงตัวเลขจริงพยายามฆ่าตัว หลังแชร์ว่อนพุ่งหลักหมื่น

กรมสุขภาพจิต แจงตัวเลขจริงพยายามฆ่าตัว หลังแชร์ว่อนเพิ่มจากหลักร้อยเป็นหลักหมื่น ชี้หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเพิ่ม 30% เร่งหาทางป้องกัน

จากกรณีมีการแชร์ตัวเลขรายงานผู้พยายามทำร้ายร่างกายตนเอง ซึ่งเป็นตัวเลขของกรมสุขภาพจิต เทียบระหว่างปี 2562 และปี 2563 ซึ่งพบว่า ตัวเลขปี 2562 มีเพียงกว่า 500 คน ขณะที่ตั้งแต่เดือน ต.ค.62- เม.ย.63 ตัวเลขรวมอยู่ที่กว่า 12,000 นั้น

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าว เป็นระบบการดึงรหัสจากการกรอกข้อมูลของโรงพยาบาลมารวม ซึ่งพบว่ามีการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บข้อมูลทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยปกติความพยายามทำร้ายร่างกาย 60-70% จะไม่ไปโรงพยาบาล และผู้ที่พยายามทำร้ายร่างกายตนเองจะมากกว่า ผู้ที่ทำร้ายร่างกายตนเองจนสำเร็จหลายเท่า เช่น สหรัฐ ประเมินว่า ตัวเลขผู้พยายามทำร้ายตนเองจะสูงกว่า ผู้ที่ทำร้ายตนเองสำเร็จ 8-15 เท่า ทำให้ตัวเลขดังกล่าวที่ปรากกฎบนเว็บไซต์จึงไม่สะท้อนความเป็นจริง และเป็นไปไม่ได้ที่มีผู้ทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมากในลักษณะดังกล่าว

"กรมสุขภาพจิต ไม่ได้ใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการทำงาน โดยข้อมูลฆ่าตัวตายของคนไทย จะรวบรวมจากมรณบัตร และการเก็บข้อมูลของโรงพยาบาล โดยมีทีมจิตแพทย์วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาอีกทาง เพื่อทำให้ทราบว่าปัจจัยการเสียชีวิตเกิดจากอะไร ซึ่งพบว่า ปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน และจะนำมาคำนวณทางสถิติต่อไป ซึ่งจำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตายจะสูงกว่านั้น สำหรับข้อมูลปี 2562 อยู่ระหว่างการวิเคราะห์"นพ.วรตม์ กล่าว

นพ.วรตม์ กล่าวว่า จากสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทยย้อนกลับไปพบว่า ปี 2530- 2539 สถิติการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.5-7.0 ต่อแสนประชากร ปี 2540 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง อยู่ที่ 6.9 ต่อแสนประชากร แต่หลังจากนั้นผลกระทบลากยาวถึงปี 2542 ซึ่งพบว่า จำนวนคนฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.59 ต่อแสนประชากร โดยประมาณการณ์ว่า ผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 30-4% และค่อยๆ ลดลง โดยตั้งแต่ปี 2548 -2549 เป็นต้นมา ตัวเลขปรับลดลงอยู่ที่ 6-6.5 ต่อแสนประชากร เมื่อดูปรากฎการณ์ในต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ก็จะพบตัวเลขในลักษณะคล้ายกัน โดยกรมสุขภาพจิต ได้ทำงาานเชิงรุก ด้วยการเพิ่มคู่สายสำหรับประชาชน และ บุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลจิตเวช ก็พร้อมที่จะรับฟัง ประชาชนสามารถโทรขอคำแนะนำได้ ทั้งนี้ ยังมีทีม อสม. ทีมสุขภาพจิต ที่เข้าไปหาประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพราะทราบดีว่า เมื่อเกิดวิกฤตตัวเลขปัญหาจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

"ต้องขอบคุณประชาชนที่ให้ความสนใจในประเด็นการฆ่าตัวตาย โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับสังคมไทยมานานแล้ว ซึ่งการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่สามารถหยุดได้ ด้วยคนใกล้ตัวต้องยื่นมือช่วยเหลือ เรารู้ว่าปัจจัยอะไรคือ สิ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย เช่น เศรษฐกิจ โรคประจำตัว ยาเสพติด จิตเวช แต่อันดับ 1 ที่เป็นสาเหตุจริงๆ คือ เรื่องความสัมพันธ์ หากเราพูดคุยรับฟังกัน คนใกล้ตัวมีปัญหาแล้วเราไม่นิ่งเฉย หากช่วยไม่ได้อย่างน้อยก็รับฟัง แล้วทุกคนจะผ่านไปด้วยกัน"

1 May 2563

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1781

 

Preset Colors