02 149 5555 ถึง 60

 

ให้ลูกทำกิจกรรมดีอะไรช่วง Social Distancing

ให้ลูกทำกิจกรรมดีอะไรช่วง Social Distancing

สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันหรือยาที่ใช้รักษาโรคเป็นการเฉพาะ สิ่งเดียวที่ทุกคนทำได้ในเวลานี้คือ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำที่เป็นทางการของหน่วยงานสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด

Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ได้ยินจนคุ้นหูในเวลานี้นับเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากเชื้อไวรัสจะปะปนอยู่กับฝอยละอองของน้ำมูกและน้ำลาย การหลีกเลี่ยงการรับและสัมผัสฝอยละอองที่ผู้ป่วยปล่อยออกมาทั้งโดยการไอ จาม พูดคุยใกล้ชิด รวมทั้งพื้นผิวที่ฝอยละอองไปติดอยู่ ไม่ให้เข้าถึงเยื่อเมือกบุผิวที่ดวงตา จมูกและปากจึงเป็นการป้องกันตัวเองจากความเจ็บป่วยนี้ได้

การเว้นระยะห่างทางสังคมจึงหมายถึง การพาตัวเองออกห่างจากคนอื่นอย่างน้อยก็เฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการหลีกเลี่ยงไม่ใช้สิ่งของ พื้นที่ บริการและไม่ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนอื่นแม้แต่กับคนใกล้ชิด จำกัดการเดินทางและงดออกนอกบริเวณที่พักอาศัย โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการทำงานและรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นการชั่วคราว หากจำเป็นให้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เว้นระยะห่างจากคนอื่นประมาณ 2 เมตร ล้างมือและรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันทั้งไม่ให้ตัวเองรับเชื้อโรคจากภายนอกและไม่ให้ตัวเองเป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรคสู่คนอื่น

การเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ไม่จำกัดเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น หากยังรวมถึงเด็กซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับผู้สูงอายุเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่าช่วงวัยอื่น ยังมีเรื่องดีอยู่บ้างที่เวลานี้เป็นช่วงของการปิดภาคเรียน เด็กๆจึงสามารถใช้เวลาอยู่กับบ้านเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมโดยไม่มีอุปสรรคในการเรียนและความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปโรงเรียน แต่ก็ต้องแลกกับกิจกรรมการท่องเที่ยวและการสร้างเสริมประสบการณ์แปลกใหม่นอกชั้นเรียนที่เด็กๆเคยมีในช่วงปิดเทอม

เพื่อไม่ให้การเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นช่วงเวลาที่ว่างเปล่าและน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ลูกๆอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำ สนับสนุนและผลักดันให้เด็กๆริเริ่มและลงมือทำกิจกรรมที่มีทั้งความสนุกควบคู่ไปกับประโยชน์ในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นได้เช่นเดียวกับในสถานการณ์ปกติ โดยยังคงรักษาการเว้นระยะห่างภายในบ้านอย่างเหมาะสม ดังนี้

1.เขียนสิ่งที่อยากทำ – การแนะนำให้ลูกลงมือเขียนสิ่งที่อยากทำทั้งหมดในช่วงเวลาหยุดอยู่บ้านนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะไม่ทำให้การใช้เวลาภายในบ้านเป็นไปอย่างเลื่อนลอยไร้จุดหมายและเราควรเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นกิจกรรมเพราะมีกระบวนการมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้เด็กพัฒนาทักษะในการคิดและการวางแผน เด็กจะให้เวลากับตัวเองในการคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ความต้องการของตัวเอง สิ่งที่ต้องการปรับปรุง แล้วแปรเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นมาเรียบเรียงและเขียนเป็นกิจกรรมที่จะต้องทำในแต่ละวัน

2.ทำสิ่งที่อยากทำ – มีกิจกรรมนอกชั้นเรียนมากมายที่เด็กๆสามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน อาจเป็นงานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ที่ต้องใช้ทั้งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การฝึกซ้อมร้องเพลง เล่นดนตรีหรือเต้นรำ ขณะที่บางคนชอบเข้าครัวฝึกทำขนมและอาหารสูตรใหม่ๆ บางคนมีความสุขที่ได้ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่การปลูกต้นไม้และจัดสวน บางคนชอบอ่านและเขียนหนังสือ คุณพ่อคุณแม่สามารถสนับสนุนได้โดยการจัดหาคู่มือ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กิจกรรมเหล่านี้หยุดชะงัก

3.ช่วยดูแลงานบ้าน – เด็กๆสามารถทำตัวเป็นประโยชน์และแบ่งเบาภาระให้กับคนในครอบครัวได้ด้วยการดูแลงานบ้านเท่าที่พอจะทำได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาดบ้าน มีส่วนร่วมในการจัดและตกแต่งห้องต่างๆให้เรียบร้อย งานซักล้างเสื้อผ้า จัดเตรียมอาหาร งานซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดหรือแม้แต่การดูแลรดน้ำต้นไม้ การให้คำแนะนำและมอบหมายหน้าที่เพิ่มเติมในช่วงเวลาว่างนี้ นอกจากจะช่วยให้เพลิดเพลินไปกับงานที่ทำแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้การทำงานและฝึกฝนความรับผิดชอบไปพร้อมกัน

4.ฝึกฝนสมาธิ – ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์รอบตัว การแบ่งเวลาให้กับการฝึกฝนสมาธิและการศึกษาหลักธรรมคำสอนในศาสนาที่แต่ละคนมีความเลื่อมใสศรัทธานั้น สามารถช่วยจรรโลงจิตใจให้เด็กๆมีความเข้าใจในสถานการณ์ มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดทอนความเครียดและความวิตกกังวลจากการเว้นระยะห่างทางสังคม จากบุคคลที่รักในครอบครัวและจากการกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลานานได้

5.เกมเสริมพัฒนาการ – เด็กกับการเล่นเป็นสิ่งคู่กันเสมอ ระหว่างการอยู่ในบ้านเป็นเวลานานนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจัดตารางเวลาและเตรียมของเล่นและเกมเสริมพัฒนาการที่ลูกชื่นชอบเอาไว้ อาทิ บล็อกตัวต่อเป็นรูปร่างต่างๆ การ์ดรูปภาพและคำศัพท์ เกมฝึกทักษะต่างๆหรือเกมทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นกับคนในบ้านโดยเว้นระยะห่างจากกันได้ นอกจากจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวเกิดความเหินห่างกันจนเกินไป

6.เรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ – ทุกวันนี้สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ถูกพัฒนาขึ้นในหลากหลายรูปแบบและมีเนื้อหาในสาขาวิชาต่างๆให้เด็กๆได้เรียนรู้มากมาย ซึ่งมีทั้งที่นำเสนอผ่านเรื่องราวเป็นตัวการ์ตูนที่เด็กชื่นชอบ สารคดีที่เสมือนพาเด็กๆไปเที่ยวชมและเรียนรู้ในสถานที่จริง หรือหลักสูตรการเรียนที่พัฒนาขึ้นเฉพาะสำหรับเด็ก ในช่วงเวลาที่มีข้อจำกัดในการออกจากบ้านเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้รูปแบบใหม่เพื่อนำเสนอและให้คำแนะนำกับเด็กๆได้อย่างเหมาะสม

การเรียนรู้ของเด็กๆนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะมี Social Distancing หรือจะอยู่ในสถานการณ์ใดที่ทำให้ผู้คนต้องเว้นระยะห่างออกจากกัน คุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนสำคัญเสมอที่คอยสนับสนุนและผลักดันให้ลูกได้ริเริ่มและลงมือทำกิจกรรมต่างๆเพื่อให้การเรียนรู้นั้นไม่ขาดตอน

30 March 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1044

 

Preset Colors