02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ชี้คนไทยแค่ 20% ที่กังวลโควิด-19 แต่พอดี รู้วิธีปฏิบัติตัว แนะคนกักตัวเองปรับมุมมองไม่ให้โทษตัวเอง

จิตแพทย์ชี้คนไทยแค่ 20% ที่กังวลโควิด-19 แต่พอดี รู้วิธีปฏิบัติตัว แนะคนกักตัวเองปรับมุมมองไม่ให้โทษตัวเอง

จิตแพทย์ ชี้ คนไทย 80% ยังอยู่ในภาวะกังวลโควิด-19 มากไป และใช้ชีวิตแบบชิล ไม่กังวล อาจส่งผลกระทบสังคมโดยรวมได้ แนะต้องกังวลแบบพอดี รู้วิธีปฏิบัติตัวเอง รู้จักป้องกันตนเอง แนะเสพข่าวแต่น้อย ระบุคนกักตัวเอง 14 วัน อย่ารู้สึกผิด ให้มองว่าเรามีความรับผิดชอบ กำลังทำเพื่อคนที่เรารัก ไม่ต้องติดเชื้อ แนะวางแผนตารางใช้ชีวิต ออกกำลังกายและจิต ป้องกันอาการ เบื่อ เหงา เศร้า กลัว โกรธ

วันนี้ (21 มี.ค.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 กับสุขภาพจิตของคนไทย ว่า ในสถานการณ์โรคโควิด-19 กรมสุขภาพจิตขอฟันธงว่าตอนนี้คนไทยมี 3 ประเภท ในแง่สุขภาพจิต คือ 1. กังวลน้อยเกินไป สังเกตว่าคนเกือบครึ่งหนึ่ง ยังไม่สวมหน้ากาก เช่น หน้ากากผ้า การไม่ป้องกันตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดได้มากขึ้น 2. กังวลมากเกินไป เช่น กลัวคนอื่นมาติดเรา โดยไปตรวจร่างกายโดยไม่มีอาการ กลัวว่า คนป่วยคนเสี่ยงจะมาติดเราเลยไปรังเกียจ ทั้งที่ป้องกันตนเองได้ อาหารหมด เพราะกลัวเลยไปกักตุน การกลัวเกินไปส่งผลกระทบต่อสังคม ทำให้เราสุขภาพจิตเสีย นอนไม่หลับ ใช้เวลารับรู้ข่าวสารยาวนานเกินไป เมื่อสะสมทำให้เกิดความเครียด ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันตก และ 3. กังวลในระดับพอดี ตระหนักไม่ตระหนก คือ ตระหนักในตนเองป้องกันตนเอง เช่น ล้างมือ สวมหน้ากาก ไม่ไปที่แออัด รู้ว่าตนเองจะทำอย่างไร จากการสำรวจ 3 กลุ่มนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 อยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ กังวลน้อยไป และกลุ่ม 2 คือ กังวลมากไป แต่กลุ่มกังวลพอดีกลับมีน้อยแค่ร้อยละ 20 ซึ่งต้องพัฒนากลุ่ม คน 2 กลุ่มนี้ ให้มีระดับความกังวลแบบพอดี ทำได้ด้วยการบริโภคข่าวสารที่พอเหมาะ อย่าไปเพิ่มความขัดแย้ง และต้องคิดว่า เราต้องร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หากต้องกักตัวเองในบ้านเพราะไปมีความเสี่ยงมา ต้องปรับวิธีคิด โดยวิธีปฏิบัติที่ดี คือ การใช้เวลาที่ผ่านไปมีความหมาย อย่าให้ความรู้สึกกลัว เหงา มาทำให้เราสูญเสียพลัง เช่น จัดให้มีตารางเวลาประจำวัน 14 วัน เช้าถึงค่ำจะทำอะไร เพื่อไม่ให้ผ่านไปวันๆ โดยไร้จุดมุ่งหมาย คนมีความเครียดจะอยู่แต่หน้าโทรศัพท์ และทีวี ซึ่งไม่เป็นผลดีสุขภาพกายและใจ ตารางเวลาจึงต้องมีเรื่องออกกำลังกาย เช่น ยืดเหยียด เดินในพื้นที่ที่จะเคลื่อนไหวได้ มีระยะห่างจากผู้อื่น ออกกำลังใจ คือ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกหายใจคลายเครียด ฝึกสมาธิ ฝึกให้ใจสงบ เป็นพื้นฐานสำคัญการเผชิญปัญหา เป็นผลดีต่อภูมิคุ้มกันโรค เพราะเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันเราลดลง

“อยากให้มองว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาคนเดียว แต่จะฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน มีส่วนสำคัญมากใช้เวลาดูแลเพื่อนๆ ของเราที่อาจมีปัญหาแยกตัวเอง ขอให้เป็นเวลาที่เราเรียกว่า 3 สร้าง 2 ใช้ ที่จะเผชิญวิกฤตได้ดี 1. สร้างความปลอดภัย ล้างมือ สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง ไม่ติดใคร ไม่ไปรับเชื้อ 2. สร้างความสงบ ออกกำลังกายและจิต อย่าติดตามข่าวสารเกิน 2 ชั่วโมงติดต่อกัน จะทำให้เครียดเกินไป หรือการส่งข่าวทำร้ายสุขภาพจิต เฟกนิวส์ รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 3. สร้างความหวัง ประเทศไทยเราอยู่อันดับ 40 จากที่ 2 มานาน ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันให้การระบาดนี้ค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยในอนาคตในระดับที่สามารถรับมือได้ คนที่กักตัวต้องเข้าใจ สถิติชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่เกือบ 90% หมือนหวัดธรรมดา ป่วยเข้า รพ. 10% ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจน้อย 2% ไทยทำได้ดีต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และ 2 ใช้ คือ ครอบครัว และชุมชน ต้องใช้พลังช่วยกันดูแลให้มีรายได้ อาหาร สวัสดิการดำเนินชีวิตเพียงพอ 14 วันให้มีความหมาย คุณภาพชีวิตดีขึ้น

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คที่กักตัวเองแล้วโทษตัวเองนั้น อยากชี้แจงว่า ผลกระทบจิตใจที่เจอตอนกักกันตัวเอง คือ เบื่อ เหงา เศร้า กลัว และโกรธ ซึ่งเบื่อและเหงา อาจเจอในระยะแรกๆ ส่วนเศร้าอาจเป็นความรู้สึกผิดได้ คือ สงสัยว่าไปรับเชื้อมาต้องอยู่กักตัวเอง 14 วัน แล้วโทษตัวเองที่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน จึงไม่อยากให้โทษตัวเอง แต่สำคัญว่าต้องมองว่า เราทำอะไรอยู่ การกักตัวเองก็เพื่อคนที่เรารักไม่ให้ติดด้วย เราทำเพื่อคนที่เรารักอยู่ เรากำลังเป็นฮีโร่ให้คนในบ้าน การกักตัวไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะเรารับผิดชอบและแคร์คนรอบข้างอยู่

23 March 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1133

 

Preset Colors