02 149 5555 ถึง 60

 

ปฏิบัติธรรมยึดหลักศีล5 เทคนิคง่ายๆใช้ชีวิตมีสุข

ปฏิบัติธรรมยึดหลักศีล5 เทคนิคง่ายๆใช้ชีวิตมีสุข

ถือเป็นหลักการดำเนินชีวิตในวัยเก๋า ที่คนทั่วไปสามารถทำตามได้ โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์หลังวัยเกษียณของ “ดร.กรวิภา วิลลาส” นักวิชาการอิสระ ในวัย 65 ปี อดีตนักวิชาการสตรีศึกษาอิสระ, นักวิชาการประจำกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ, อาจารย์พิเศษ ม.ธรรมศาสตร์, คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป ฯลฯ

ดร.กรวิภา บอกให้ฟังว่า ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ที่มีเงินน้อย ก็สามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะการที่เราทำใจให้โล่งโปร่งสบาย ไม่เครียด และไม่วิ่งตามทุกๆ สิ่ง ที่สำคัญทำใจของเราให้นิ่ง ดังคำภาษาอังกฤษที่บอกไว้ว่า “สุขภาพจิตที่ดี จะทำให้มีสุขภาพกายที่ดีเช่นกัน

“ทั้งนี้ จิตที่ดีจะได้มาอย่างไรนั้น อยากให้ทุกคนกลับไปมองว่า ในฐานะคนไทยเราเกิดมาในประเทศที่มีพุทธศาสนา อีกทั้งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงให้ไว้อย่างหลักศีล 5 จะทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นรู้สึกสบายใจ และไม่หลงตัวเอง ที่สำคัญก็ทำให้เราไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น อีกทั้งทำให้เราพูดจาเป็นมงคล ซึ่งจะทำให้เรามีความสุข เพราะอย่าลืมว่าถ้าเราด่าผู้อื่น มันก็ทำให้เราไม่มีความสุขเช่นกัน แต่เมื่อไรก็ตามที่เราพูดดีกับคนอื่น นั่นจะทำให้เรารู้สึกดีไปด้วย ดังนั้นอาจารย์จึงเน้นถือศีล 5 เพื่อให้ใจของเราสว่างและสงบ ที่สำคัญหลักศีล 5 เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตให้มีความสุข

ซึ่งอาจารย์มองว่าการที่คนต่างจังหวัดก็ดี หรือแม้แต่คนเมือง ที่อาราธนาศีล 5 แต่เขาไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้สังคมยุ่งเหยิงไม่สงบสุข ดังนั้นบอกเลยว่าการที่ชีวิตในวัยเก๋านั้น จะเต็มไปด้วยความสุขสงบ ก็จะต้องทำจิตใจของเราให้สะอาด และต้องเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ อีกทั้งการที่เราจะเป็นผู้สูงวัยในแบบที่มีลูกหลานอยู่ใกล้ชิด ผู้สูงอายุท่านนั้นจะต้องเป็นผู้ที่สงบนิ่ง ซึ่งจะทำให้คลื่นของความอบอุ่น แผ่กระจายไปยังคนรอบข้างค่ะ เพราะทุกคนมีเซนส์และจะสามารถสัมผัสรับรู้ความรู้สึกดีๆ นี้ได้”

“ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่วัยเก๋านั้น เรามีเวลามากกว่าคนปกติ อีกทั้งอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม เราก็สามารถปลูกผักรับประทานได้ มันจะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า เวลาที่เราได้ดูการเจริญเติบโตของพืชผักที่เราปลูกเอาไว้ ดั่งเช่นประโยคภาษาอังกฤษที่บอกว่า “จงมองไปข้างหน้า” (Looking forward) เช่น การที่คนหนุ่มสาวบอกกับตัวเองว่า ฉันตื่นเต้นและดีใจมากที่พรุ่งนี้จะได้เจอแฟน หรือคนที่บอกว่าเดี่ยวพรุ่งนี้ก็ได้ดูละครที่ชอบแล้ว คนสูงวัยก็เช่นกัน หากว่าปลูกต้นไม้แล้ว และรอผลการติดดอกออกผล สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงวัยมีชีวิตชีวา หรือมีสิ่งที่เรากำลังมองหาอยู่ ทั้งนี้หากคนแก่ไม่มีคำ Looking forward ก็จะค่อนข้างอันตรายมาก เพราะจะทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ หรือหากใครไม่ชอบปลูกต้นไม้ ก็สามารถไปร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างมนุษย์สัมพันธ์ หรือหาเพื่อนพูดคุยและทำในสิ่งที่ชอบร่วมกัน อาทิ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะมีตึกเปิดใหม่อย่างตึก สธ. ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ตรงนี้ก็สามารถไปร่วมกิจกรรมได้

นอกจากนี้ เวลาที่เราอายุมากขึ้น ก็ต้องรู้จักการพึ่งพาตัวเอง หรือทางพุทธเรียกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นเราจะต้องฝึกตัวเองเพื่อให้อยู่คนเดียวให้ได้ เพราะถ้าวันหนึ่งข้างหน้า สามี ภรรยาของเราจากไป หรือแม้แต่ลูกหลานไม่ดูแล เราก็ต้องอยู่โดยลำพังให้ได้ ดังนั้นถ้าคนหลัก 6 สามารถฝึกจิตตัวเองให้อยู่คนเดียวได้ ก็จะทำให้เราไม่เป็นโรคซึมเศร้าค่ะ”

ถามถึงการทำงานวัยหลัก 6 นั้น ดร.กรวิภา บอกว่า “ตอนนี้อาจารย์อายุ 65 ปีแล้ว แต่อาจารย์เริ่มที่จะถอดหมวกที่สวมอยู่นั้นออกไปทีละใบๆ ตั้งแต่อายุ 50 ปี ไม่ว่าจะเคยดำรงตำแหน่ง นักวิชาการประจำกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ, อาจารย์พิเศษสอนหนังสือที่ ม.ธรรมศาสตร์ ฯลฯ กระทั่งอายุ 60 ปี ก็ถอดออกเกือบหมด เหลือเพียงหมวก 1-2 ใบ กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ถอดออกหมดแล้วทุกใบค่ะ คือตัวนี้เราเป็นนักวิชาการอิสระ แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้เราทำอะไร ก็คงต้องบอกว่าอาจารย์พักผ่อนอยู่บ้านส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเราก็ไปปฏิบัติธรรมะตามวัดป่า และไปกราบไหว้ครูอาจารย์ที่เรานับถือในสถานที่ปฏิบัติธรรมต่างๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าชีวิตตอนนี้ 40-50% นั้น เราใช้เวลาไปกับการปฏิบัติธรรมและถือศีลภาวนาค่ะ

ที่เหลือก็อยู่บ้านและใช้เวลาว่างกับสิ่งที่ชอบ เป็นต้นว่าการทำกิจวัตรประจำของตัวเอง ตั้งแต่ตื่นตี 4 กินกาแฟ และนั่งเล่นไปเรื่อย กระทั่งตี 5 ก็ปฏิบัติธรรม และนั่งวิปัสสนา เพื่อทำสมาธิ จากนั้นเรื่อยไปจนถึงเวลา 11 โมงเช้า ก็จะอ่านหนังสือธรรมะบ้าง และเตรียมทำอาหารเที่ยงให้ลูกๆ รับประทาน และเตรียมเครื่องปรุงสำหรับทำอาหารเย็นให้ลูกๆ เช่นกัน กระทั่งเวลา 4 โมงเย็น ก็ไปออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ และเวลา 5 โมงเย็นก็กลับมาทำอาหารเย็นให้ลูกๆ หลังจากนั้น 6 โมงเย็นก็ติดตามดูข่าวสารประจำวัน และก่อนเข้านอนก็ฟังธรรมะอีกครั้งหนึ่ง เพียงแค่นี้เวลาก็ผ่านไป โดยไม่รู้ตัวแล้วค่ะ ซึ่งก็เป็นความสุขในแบบเรียบง่ายของเรา ที่หากคนทั่วไปจะยึดไปทำตาม ก็สามารถทำได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีเงินทองมาก แต่คุณก็สามารถมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม และยึดถือหลัก 5 มาใช้ชีวิตค่ะ”.

20 March 2563

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1461

 

Preset Colors