02 149 5555 ถึง 60

 

ให้ความเครียดบรรเทาด้วย บ้านของเรา

ให้ความเครียดบรรเทาด้วย บ้านของเรา

โฮมสไตลิสต์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช แนะวิธีบริหารจัดการความเครียดด้วยการสร้างบรรยากาศความหอมภายในบ้าน

การดำเนินชิวิตที่ต้องเผชิญกับมลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และความกังวลกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน โฮมสไตลิสต์สาว อวน-วยา ดุลยบวรกุล และหมอนุ่น-แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช แนะนำเคล็ดลับการเลือกกลิ่นหอมพร้อมเผยเคล็ดลับการผสมกลิ่มหอมเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายภายในบ้าน รวมถึงเผยวิธีการรับมือกับความเครียด ร่วมกับ THANN และกลุ่มผลิตภัณฑ์ THANN Home aroma (ธัญ โฮม อะโรมา)

โดยโฮมสไตลิสต์สาว อวน-วยา ดุลยบวรกุล กล่าวถึงการแต่งบ้านเพื่อรับมือกับ PM2.5 พร้อมแนะเคล็ดลับการเลือกกลิ่นหอม เพื่อสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายภายในบ้านว่า “สำหรับแนวทางการแต่งบ้านหรือห้องเพื่อรับมือมือกับ PM 2.5 นั้น ควรเน้นความโล่งและโปร่งเป็นอันดับแรก และควรทำความสะอาดบ้านทุกวัน เพื่อลดปริมาณการสะสมของฝุ่นที่จับอยู่ในแต่ละที่ รวมถึงการปรับลดปริมาณเฟอร์นิเจอร์และการใช้ของตกแต่งบ้านที่ไม่จำเป็นให้น้อยชิ้น ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด และควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มการติดมุ้งลวดหรือม่านประตู-หน้าต่างเพิ่มอีกชั้นเพื่อดักจับฝุ่นละออง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีมุ้งลวดและม่านกันฝุ่นหลากหลายดีไซน์ให้เลือกใช้สำหรับแต่งบ้านให้สวยงามอย่างลงตัว ส่วนการสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้น่าอยู่ก็เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดแจกันดอกไม้สด โดยสามารถมิกซ์แอนด์แมทช์สีสันและสายพันธุ์ของดอกไม้ตามที่เจ้าของบ้านชอบได้ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติ สบายตายามมองเห็น และอีกสิ่งที่อยากแนะนำ คือ การสร้างบรรยากาศด้วยการใช้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องกระจายความหอมหรือก้านไม้หอมอย่าง Aroma Diffuser รวมถึงการใช้เทียนหอมก็สามารถช่วยเสริมบรรยากาศที่ดีให้กับทุกพื้นที่ภายในบ้านได้”

ทางด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช หมอนุ่น-แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์ กล่าวถึงภาวะความเครียดในปัจจุบัน พร้อมแนะนำเคล็ดลับการจัดการกับความเครียดที่ถูกวิธีว่า "ความเครียดเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่เกิดจากการที่คนเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้รู้สึกกดดัน วิตกกังวล กระทั่งสภาวะจิตใจที่เปลี่ยนไปในด้านลบ เมื่อสมองรับรู้ได้ว่าเกิดสภาวะที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของฮอร์โมนทันที ทำให้ร่างกายมีสภาวะที่หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก มือเท้าเย็น ปวดท้อง กระวนกระวาย หรือสมาธิไม่ดี อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนเรามีความเครียด และหากใครที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เป็นเวลานานโดยที่ไม่รู้จักหาวิธีผ่อนคลายก็อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของอาการซึมเศร้าได้"

นอกจากนี้คุณหมอยังอธิบายด้วยว่า ความเครียดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

ระดับต่ำ (Mild Stress) สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ส่งผลรุนแรงต่อการดําเนินชีวิต เพียงแค่รู้สึกเบื่อหน่าย ขาดแรงกระตุ้น รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้เชื่องช้าลง

ระดับปานกลาง (Moderate Stress) เกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติจากชีวิตประจำวัน ไม่ก่ออันตราย และไม่แสดงออกถึงความเครียดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะสามารถปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติได้ คลายเครียดได้เองจากการได้ทํากิจกรรมที่ชื่นชอบ

ระดับสูง (High Stress) เกิดจากเหตุการณ์รุนแรง หากปรับตัวไม่ได้ จะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความคิด รวมถึงพฤติกรรม เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมเกี่ยวกับการนอนและการทานอาหารเปลี่ยนไปจนมีผลต่อการดําเนินชีวิต

ระดับรุนแรงและเรื้อรัง (Severe Stress) ทําให้มีความล้มเหลวในการปรับตัว ก่อให้เกิดความผิดปกติและโรคต่างๆ ที่รุนแรง รวมถึงอาการทางจิต ส่งผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน ดังนั้นควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 นั้นสามารถส่งผลให้เราเกิดความเครียดในระดับปานกลาง-สูงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคน ส่วนวิธีสังเกตุตัวเอง หรือคนรอบข้างเมื่อตกอยู่ในสภาวะเครียด สามารถสังเกตอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน อาทิ อาการปวดศีรษะ ใจสั่น เกิดอาการวิตก กระวนกระวาย หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิด รวมถึงอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย

สำหรับวิธีบริหารจัดการความเครียดนั้นให้เริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนแล้วลองวิเคราะห์หาสาเหตุของความเครียดนั้น เพื่อหาแนวทางจัดการอย่างเหมาะสม วิธีง่ายๆ เลยก็คือการพูดคุยให้กับคนที่เราไว้วางใจได้รับฟัง หรืออาจจะหากิจกรรมสนุกๆ ทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง รวมถึงควรฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ หากความเครียดอยู่ในระดับรุนแรงก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยาเพื่อทำการเยียวยารักษา

นอกจากนี้ การใช้กลิ่นหอมบำบัด (Aromatherapy) มาช่วยในการสร้างบรรยากาศความผ่อนคลายภายในบ้านนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาความเครียดได้เร็วที่สุด กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจมูกได้รับกลิ่นมาเพียงไม่กี่วินาที กลิ่นจะถูกส่งผ่านประสาทรับกลิ่น (Olfactory Nerves) ซึ่งอยู่เหนือโพรงจมูกไปยังกระเปาะรับกลิ่น (Olfactory Bulbs) และส่งต่อไปยังสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความรู้สึก (Limbic System) อณูของน้ำมันหอมระเหยจะกระจายไปตามประสาทรับกลิ่นเข้าสู่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ และความรู้สึก (Emotion Center หรือ Limbic System) โดยไปกระตุ้นให้สมองสั่งการไปที่ระบบต่อมไร้ท่อ เพื่อหลั่งสารที่มีประโยชน์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึก ได้แก่ เอ็นโดฟิน (Endorphin) สารที่ช่วยลดความเจ็บปวด คลายความเครียด และความวิตกกังวล, เอนเคฟาลิน (Enkephalin) สารที่ช่วยลดอาการซึมเศร้า และเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยทำให้สงบ เยือกเย็น และผ่อนคลายจากสภาะเครียดได้

3 March 2563

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1142

 

Preset Colors