02 149 5555 ถึง 60

 

รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เทคนิคดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ

รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เทคนิคดูแลพ่อแม่วัยเกษียณ

ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายจนเกินไป สำหรับการที่ลูกหลานจะอยู่กับผู้สูงอายุอย่างไรให้มีความสุข เพราะบางครั้งการเอาใจหรือตามใจคนสูงวัยมากเกินไป ก็จะทำให้ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง หรือพึ่งพาลูกหลานตลอดเวลา เพราะอย่าลืมว่าบางครั้งบุตรหลานจำเป็นต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่วัยเกษียณและครอบครัว อีกทั้งการใช้ชีวิตอยู่แบบมีคุณค่าย่อมเป็นสิ่งที่คนวัยปู่ย่าตายายหลายคนเทคะแนนให้ เพราะนั่นสื่อให้เห็นว่าคนรุ่นเก่าแต่เก๋าประสบการณ์ และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือการใช้ชีวิตแบบเดินทางสายกลาง ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกเรื่อง รวมถึงการดูแลผู้สูงวัย

พี่แอ้-พรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลจิตอาสาที่ชำนาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ บอกว่า “การดูแลผู้สูงอายุแบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย คือช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 80-90 ปีขึ้นไป ซึ่งหลักสำคัญในการดูแลปู่ย่าตายายนั้น คือการที่บางครั้งเราต้องตามใจเราและตามใจเขา เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ส่วนตัวพี่มีคุณแม่อายุ 92 ปี ซึ่งดูแลคุณแม่ของพี่คือก็จะตามท่าน เพราะถ้าพูดกันตามตรงนั้น เราไม่รู้ว่าท่านจะอยู่กับลูกหลานได้นานแค่ไหน ดังนั้นถ้าท่านอยากทำอะไร หรืออยากรับประทานอะไร ก็ให้ท่านได้กิน เป็นต้นว่า หากท่านอยากกินขนมหวาน หรือน้ำพริก ก็จะตามใจคือปล่อยท่าน แต่ทั้งนี้เราจะต้องคอยดูเรื่องกายภาพทั่วๆ ไป อาทิ เรื่องความสะอาด และอาการเจ็บป่วยต่างๆ อีกทั้งต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอหากมีโรคประจำตัวอื่นๆ หมายความว่าคนหลัก 8 หลัก 9 นั้น เราสามารถ “ตามใจท่านได้แต่ต้องไม่ปล่อยปละละเลย”

“สำหรับลูกหลานคนไหนที่มีพ่อแม่อยู่ในวัยหลัก 65 ขึ้นไปจนถึงใกล้ 70 กว่าปี ซึ่งคนกลุ่มนี้แน่นอนว่าปัจจุบันค่อนข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่วนใหญ่อาจจะอายุยืนไปจนถึง 80 กว่าปี คือให้เน้น “การให้กำลังใจ” เพื่อให้คนหลัก 6 ขึ้นไปรู้ว่าอันที่จริงท่านเป็นวัยที่มีคุณค่าต่อลูกหลานและคนรอบข้าง เช่น เราจะพบว่าคนวัยเกษียณที่อาจจะไม่ได้ทำงานประจำแล้วและอยู่บ้านว่างๆ ก็จะทำให้รู้สึกเหงาและเกิดอาการท้อแท้ในชีวิตได้ ดังนั้นลูกหลานสามารถพาคุณพ่อคุณแม่ไปดูคนที่แย่กว่าเรา เช่น พาท่านไปทำบุญกับคนพิการซ้ำซ้อน ซึ่งแม้ว่าร่างกายของเราจะทุพพลภาพ แต่เขาก็มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตเพื่อที่อยากจะอยู่บนโลกนี้ต่อไป นั่นจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกตัวเองโชคดีกว่าคนกลุ่มนี้อีกมาก ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยตัวกระทั่งตัวเองป่วย ลูกๆ จะอยู่กันอย่างไร ตรงนี้จะทำให้คนหลัก 6 มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป โดยการร่วมกันดูแลหรือช่วยทำบุญกับคนพิการซ้ำซ้อนต่อไป เพื่อสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น

หรือหากครอบครัวที่คุณพ่อแม่หลัก 6 หลัก 7 ขี้อ้อนและไม่ยอมดูแลช่วยเหลือตัวเอง จากอาการน้อยใจที่ลูกหลานทิ้งให้เฝ้าบ้านเพียงลำพัง เช่น หากขับถ่ายแล้วปล่อยตัวเองไม่ยอมทำอะไรเลย แนะนำว่าให้ลูกหลานอาจต้องให้ท่านเห็นผลของการกระทำดังกล่าว เช่น เวลาที่ปัสสาวะใส่กางเกงแล้วไม่ยอมเปลี่ยนกางเกง ซึ่งจะทำให้มีแผลถลอกหรือแผลกดทับ อาจทำให้การรักษาลำบากหรือหายยาก ก็จะทำให้ผู้สูงวัยขี้อ้อนเริ่มเรียนรู้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วลูกจะไม่สนใจ อีกทั้งทำให้สุขภาพของตัวเองแย่ลงเช่นกัน เพราะบางครั้งการที่ลูกหลานง้อท่านมากไป อาจทำให้เหตุการณ์เรียกร้องความสนใจแย่ลงไปอีก บางครั้งก็จำเป็นต้องปล่อยให้ท่านได้พบกับผลการกระทำของตัวเอง แต่ทั้งนี้หลักของการดูแลผู้สูงอายุนั้นก็จำเป็นหย่อนบ้างและตึงบ้างโดยการสลับไปมา แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ท่านเกิดแผลกดทับ กระทั่งเกิดการติดเชื้อรุนแรง หรือบางครั้งลูกๆ ที่ดูแลผู้สูงอายุมีอาการในเคสดังกล่าว จะเรียนรู้และปรับตัวได้เอง หรือหาจุดตรงกลางได้จากประสบการณ์ หากดูแลเอาใจใส่ท่านมาเป็นเวลานานๆ ค่ะ

นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งคือการที่คนหลัก 6 หลัก 7 มักจะตามใจหลานๆ มากเกินไป ตรงนี้ขอแนะนำลูกหลานเลยว่า ถ้าเจอกับปัญหานี้อยากให้คุณคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้สูงวัย ที่มักจะรักคนรุ่นหลานมากกว่าลูกของตัวเอง เพราะว่าคนที่เป็นปู่ย่าตายายส่วนหนึ่งอายุมาก และเป็นช่วงอายุที่ห่างไกลกับการที่จะมีเด็กเล็กๆ มาเจอะแจะพูดคุยด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมปู่ย่าตายายจึงตามใจลูกหลานที่มาเอาใจและคลอเคลียท่าน ดังนั้นลูกหลานต้องทำความเข้าใจว่า อันที่จริงแล้วไม่มีอะไร แต่เป็นธรรมชาติของคนวัยนี้ ตรงกันข้ามหากว่าลูกหลานไปตำหนิท่าน หรือต่อว่าถึงการตามใจลูกหลาน ก็จะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกเสียใจและน้อยใจ เพราะว่าสิ่งต่างๆ ที่เขาได้ทำให้ลูกหลานนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดจากปู่ย่าตายายแล้ว ตรงนี้ก็อยากให้ลูกหลานคิดถึงคำว่าใจเขาใจเรา จึงจะทำให้อยู่กับผู้สูงวัยได้แบบแฮปปี้ทั้ง 2 ฝ่าย”.

25 February 2563

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 2069

 

Preset Colors