02 149 5555 ถึง 60

 

โคราช 4 รูปแบบ จากโศกนาฏกรรมจ่าโหดกราดยิงโคราช  

โคราช 4 รูปแบบ จากโศกนาฏกรรมจ่าโหดกราดยิงโคราช  

กรณีเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนผืนแผ่นดินไทย นับเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนขวัญแก่คนไทยทั้งชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 8 ก.พ.63 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา การก่อเหตุร้ายในครั้งนี้เกิดจากน้ำมือของจ่าทหารผู้หนึ่ง​ที่ขาดสติและบ้าคลั่ง ใช้อาวุธสงครามที่ปล้นจากค่ายทหารใน จ.นครราชสีมา กราดยิงผู้คนไม่เลือกหน้าและไม่เลือกสถานที่​ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหน้าวัด ย่านชุมชน หน้าศูนย์การค้าและภายในศูนย์การค้ากลางใจเมืองนครราชสีมา​ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 30 รายและบาดเจ็บ 57 ราย 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่ปลอดภัยของประชาชน และความไม่สงบเรียบร้อยของเมืองนครราชสีมา จึงได้รีบดำเนินการปฏิบัติงานในเชิงรุกทันที โดยส่งทีมวิกฤติสุขภาพจิต (MentalHealthCrisis Assessment and  Treatment Team -​ MCATT) ประกอบด้วยสหวิชาชีพที่สังกัดอยู่กับกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ ลงพื้นที่ปฏิบัติการประเมินสภาพจิตใจและให้การช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจแก่ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้บาดเจ็บและผู้อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อให้การดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

 

แนวทางการดำเนินงานการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจของประชาชนมี 4 รูปแบบ ได้แก่

 

รูปแบบที่ 1 ตั้งคลินิกหมอใจภาคสนามประจำที่่ห้างเทอร์มินอล 21 โคราช ในลักษณะเป็น รพ.จิตเวช ขนาดย่อย โดยจัดผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา พร้อมเวชภัณฑ์ยาจำเป็น และรถพยาบาลประจำการเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อบริการเป็นเพื่อนใจประชาชนทุกคนในห้างตลอดวัน

รูปแบบที่ 2 จัดทีมเยียวยาจิตใจเยียวยา (MCATT) ออกไปให้บริการตามชุมชนสถานที่เกิดเหตุและข้างเคียงทุกวัน

รูปแบบที่ 3 ให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์โดยผู้เชี่ยวชาญของ รพ.จิตเวชราชนครินทร์นครราชสี มาที่หมายเลขโทรศัพท์ 044-233-999 ตลอด 24 ชม. และโทรศัพท์สายด่วนกรมสุขภาพจิต ที่หมายเลขโทรศัพท์  1323 ตลอด 24 ชม.

รูปแบบที่ 4 บริการในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งใน จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

กรมสุขภาพจิตได้แบ่งกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจตามระดับความเสี่ยงในการประสบเหตุการณ์วิกฤตเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้บาดเจ็บ ตัวประกัน

กลุ่มที่ 2 ผู้อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เห็นเหตุการณ์ เช่น ผู้ค้าขาย / ผู้ประกอบการ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่ติดค้างอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ที่ลงปฏิบัติงานในหน้างานทุกหน่วยงาน

กลุ่มที่ 3 ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารความรุนแรงตามช่องทางต่าง ๆ ผู้ที่อาจมีผลกระทบทางจิตใจจากการได้รับข้อมูลข่าวสาร ทางสังคมออนไลน์ (socialmedia)

ผลการตรวจคัดกรอง ประเมินระดับความเครียดจากเหตุการณ์ เพื่อจัดระบบให้การดูแลฟื้นฟูอย่างเหมาะสม พบผู้มีความเครียดระดับสูงต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องหลายร้อยคน ซึ่งพบทั้งในกลุ่มผู้บาดเจ็บและญาติ ญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และกลุ่มผู้ที่ติดตามข่าวสารทางสื่อต่าง ๆ แล้วเกิดความเครียด

ความคืบหน้าการดูแลประชาชนได้เร่งดำเนินการใน 2 ประการ ประการแรกการรักษาฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ เพื่อให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ประการที่ 2 การฟื้นฟูจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่มีอาการเครียดจากการติดตามข่าวสารในวันเกิดเหตุ ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ป้องกันผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว

กรมสุขภาพจิต​ให้การดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างเร่งด่วน โดยให้คำแนะนำและแนวทางในการดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิดดังนี้

 

1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองเพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้

2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญานของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง

4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่าง ๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ

5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก

 

6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้ ทั้งนี้หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วน 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชม.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/758369

21 February 2563

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 765

 

Preset Colors