02 149 5555 ถึง 60

 

ถอดบทเรียนจิตวิทยา กราดยิง ทางออก ป้องกันความรุนแรง

ถอดบทเรียนจิตวิทยา 'กราดยิง' ทางออก ป้องกันความรุนแรง

นักจิตวิทยาแนะสังคมไทย พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกโดยฝึกควบคุมตัวเอง มีภูมิต้านทานในการรับมือ แก้ปัญหา ระบุปัจจัยทำให้เกิดเหตุความรุนแรง มาจากมีมูลเหตุจูงใจ และโอกาส ฝากสื่อต้องเล่าเรื่องสร้างสรรค์ ต้องสร้างตัวแบบทางบวกมากกว่าเรื่องผู้ก่อเหตุ

จากเหตุการณ์การกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และได้สร้างความตื่นตระหนก กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนอย่างมาก รวมถึงคำถามว่า ทำไมเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย? และจะแก้ปัญหาอย่างไร? คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน” เพื่อหาทางออกและวิธีการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว

รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯกล่าวว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกคน ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจว่ามีโอกาสกระทำความรุนแรงแก่ผู้อื่นได้ ทั้งด้านการพูด และการกระทำ ไม่เกี่ยวกับความปกติหรือผิดปกติในจิตใจ แต่ในเรื่องความก้าวร้าว รุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดแต่การที่จะคุมไม่ให้แสดงความรุนแรงออกมาสำคัญมากกว่า

"ความก้าวร้าว ความรุนแรงในสังคมเป็นปัญหาทั่วโลก ยิ่งในยุคสังคมเทคโนโลยี ทุกคนรอไม่เป็น รอไม่ได้ และสามารถแสดงออกได้ทันทีตามธรรมชาติของเทคโนโลยี ส่งผลให้เด็กไม่ได้ไตร่ตรองว่าทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันสังคมไทยตอนนี้ เวลาเลี้ยงเด็กไม่มีสอนเด็กให้คุมตนเอง ไม่ฝึกควบคุมตัวเอง และไม่เข้าใจ สนใจกฎระเบียบของสังคม ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้ทุกคนสร้างความรุนแรงในสังคมได้"รศ.สมโภชน์ กล่าว

5 พฤติกรรมแนวโน้มรุนแรง

ทั้งนี้ คนที่มีแนวโน้มที่จะกระทำความรุนแรง ก้าวร้าว จะมีพฤติกรรม คือ 1. มองโลกในแง่ร้าย เพราะมองว่าตัวเองถูกกระทำ และแสดงออกโดยการต่อต้านเขา 2.คนไทยมักไม่มองสาเหตุปัญหาว่าเกิดจากตัวเรา แต่มองว่าคนอื่นกระทำต่อตัวเอง ดังนั้น ทุกคนควรมองหาปัญหาโดยมองจากตัวเอง ไม่ใช่มองไปข้างนอก 3.คนที่อยากมีตัวตน อยากให้ทุกคนอ้างถึง ดังนั้นเขาก็จะเรียกร้องพฤติกรรมอะไรก็ได้เพื่อให้ได้รับความสนใจ 4.เด็กแยกตัวจากสังคม ชอบอยู่คนเดียว เด็กเหล่านี้อาจจะมีพฤติกรรมความก้าวร้าว เพราะเขาจะขาดทักษะการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องปลูกฝังให้เด็ก เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ 5.ชอบดู หรือสนใจอะไรที่เป็นพฤติกรรมร้ายๆ ซึ่งบางคนอาจจะมีพฤติกรรมร้ายแต่บางคนอาจมีมุมมองอีกแบบ

สำหรับการนำเสนอความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ของสื่อนั้น ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของแรงจูงใจที่จะกระทำ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นอีก เนื่องจากคนรู้ว่าทำแล้วจะเกิดอะไร มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่ถ้าระยะยาวมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อ และคนมองว่าทำได้อีก ก็อาจเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม การจะแก้ปัญหาความรุนแรง ต้องอยู่ที่กระบวนการเลี้ยงเด็กให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ มีภูมิคุ้มกันในการรับมือ แก้ปัญหาต่างๆ

ขจัดมูลเหตุจูงใจ ลดความรุนแรง

นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในส่วนของอาชญาวิทยา เป็นสหวิทยาการ ใช้มุมมองหลายๆ ศาสตร์ร่วมกัน โดยปัจจัยทำให้เกิดเหตุ มี 2 ตัวแปร คือ มีมูลเหตุจูงใจ และโอกาส ซึ่งในส่วนของมูลเหตุจูงใจนั้น จากการศึกษาการกราดยิงต่างๆ ในต่างประเทศมากกว่า 30 ปี พบว่า คนที่มีลักษณะกระทำผิด คือ 1.เป็นคนเก็บตัว โดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร เป็นคนเก็บกด 2.ถูกกระทำในวัยเด็ก ทั้งจากโรงเรียน ครอบครัว ที่ทำงาน เกิดความกดดัน ความเกลียด 3.อยู่กับความรุนแรงมาโดยตลอด และ4.เรียนรู้จากเหตุการณ์ความรุนแรง ส่วนโอกาส เช่นการเข้าถึงอาวุธ เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมีมูลเหตุจูงใจและเข้าถึงโอกาสจึงทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย แต่ในประเทศไทยการกราดยิงอาจจะไม่มากแต่การตายด้วยอาวุธปืนนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะคนหนึ่งคนอาจมีปืนอยู่ประมาณ 4-5 กระบอก ดังนั้น ต้องควบคุมโอกาสหรือการควบคุมอาวุธปืนในประเทศ ทุกคนในสังคมต้องร่วมกันเรียกร้องเรื่องนี้ และต้องขจัดมูลเหตุจูงใจที่จะเกิดขึ้นแต่ละคน ทำให้ทุกคนมีโอกาสในการระบาย ไม่สร้างกติกาที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคม ถ้าใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาความรุนแรงจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละสังคม

ให้พื้นที่ข่าวส่งผลพฤติกรรมทำตาม

ผศ.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่าการนำเสนอข่าวในช่วงสถานการณ์รุนแรง สื่อมีอิทธิพลค่อนข้างมาก ยิ่งสื่อในตอนนี้ทุกคนสามารถไลฟ์สด รายงานให้เร็วที่สุดเพื่อได้คนดู ซึ่งในมุมของจิตวิทยานั้น มองว่าสื่อต้องทำหน้าที่ของตนเอง แต่การทำหน้าที่สื่ออาจส่งให้เกิดกรณีที่คล้ายกับกรณีความรุนแรงแรกที่นำเสนอได้เช่นกัน โดยจากการศึกษากรณีการกราดยิงในประเทศอเมริกา พบว่า ตัวอย่างการนำเสนอข่าวของสื่อส่งผลให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรงกรณีที่คล้ายกัน มีอิทธิพลยาวนาน 2-4 อาทิตย์ ทำให้ทุกคนที่มีโอกาสและมีมูลเหตุจูงใจจะกระทำที่ก่อเหตุคล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะเขารู้ข้อมูลจากสื่อ ทั้งมูลเหตุจูงใจ ประวัติของผู้กระทำ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไขว้เขวอยู่แล้วเกิดการกระทำรุนแรง

สร้างต้นแบบทางบวก หยุดแชร์ผู้ก่อเหตุ

“การนำเสนอข่าวของสื่อทั้งการให้พื้นที่ข่าวของผู้ก่อเหตุมาก จะเป็นเสมือนการให้รางวัลแก่คนก่อเหตุ หรือผู้ที่ไขว้เขวเกิดการกระทำตามได้ ดังนั้น การนำเสนอข่าวทั้งการให้ข้อมูล หรือการใช้คำต่อผู้ก่อเหตุ ต้องไม่ทำให้ผู้ที่มีพฤติกรรมไขว้เขวรู้สึกว่าตนเองทำตามแล้วจะมีชื่อเสียง มีความรู้สึกเจ๋ง ต้องเล่าเรื่องสร้างสรรค์ นำเสนอเรื่องของเหยื่อมากกว่าผู้ก่อเหตุ ต้องสร้างตัวแบบทางบวก ส่วนผู้ที่แชร์ข่าว เป็นผู้สื่อข่าวในโซเซียลมีเดียนั้น ข้อมูลเรื่องราวใดที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุ มีพื้นที่ เป็นที่รู้จัก เกิดการให้คุณค่า ไม่เร้าอารมณ์ไม่ควรจะนำเสนอหรือแชร์เรื่องเหล่านั้น แต่เน้นการป้องกัน”ผศ.วัชราภรณ์ กล่าว

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต จุฬาฯ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการให้ข้อมูลข่าวสาร การถามซ้ำๆ ย้ำๆ ในช่วงต้นที่เกิดเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่ติดตามข้อมูลข่าวสารต้องถามตัวเองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมกระทบต่อตนเองหรือไม่ กระทบมากกระทบน้อยต้องดูแลจิตใจของตัวเอง และรู้จักการระบายออกมา หรือไปทำอย่างอื่น เพื่อไม่ให้อยู่กับเหตุการณ์รุนแรงมากเกินไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะเป็นความสูญเสีย และมีผลกระทบทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และไม่มีใครหวังอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ถือเป็นบทเรียนที่ประชาชนต้องเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และความตระหนัก พร้อมที่จะรับมือเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคม

19 February 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1102

 

Preset Colors