02 149 5555 ถึง 60

 

HOW TO..รับข่าวสาร ไม่ตื่นตูมแต่ให้ตระหนัก

HOW TO..รับข่าวสาร ไม่ตื่นตูมแต่ให้ตระหนัก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์รุนแรงในบ้านเราช่วงนี้อาจกระทบจิตใจของคนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงวัยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเหตุการณ์รุนแรงอย่างกราดยิงในห้างสรรพสินค้า หรือแม้ข่าวคราวของเชื้อไวรัสอันตรายที่แพร่กระจายสู่คนได้ง่าย อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตในต่างประเทศค่อนข้างสูง และล่าสุดที่ชายวัยกลางคนเกิดภาวะเครียดจากการประกอบธุรกิจ และใช้อาวุธปืนยิงระบายความเครียดในบ้าน แม้จะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ข่าวที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้สูงวัยเกิดความตระหนกตกใจได้ง่าย แม้ว่าจะมีคำเตือนเกี่ยวกับรับมือกับปัญหาสุขภาพของเหตุการณ์ทั้งหมดออกมาอย่างไม่ขาดสายเพื่อให้เกิดความสบายใจ แต่ทว่าก็ยังคงสร้างความเครียดและอาการวิตกกังวล ยิ่งโดยเฉพาะคนวัยหลัก 6 ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวยิ่งไม่ต้องพูดถึง ล่าสุด พี่เพ็ญพักตร์ ศรีทอง สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคนรุ่นใหญ่ มาให้มุมมองเกี่ยวกับการรับมือกับภาวะเครียด วิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นและแนวโน้มอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตไว้น่าสนใจ

ส.ว.เพ็ญพักตร์ ให้ข้อมูลว่า “ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหญ่อยากให้มองว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งอาจกระทบจิตใจทั้งคนทั่วไปและคนวัยสูงอายุนั้น สิ่งสำคัญอยากให้คิดว่า อันที่จริงแล้วไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องทำใจ เพราะเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ที่สำคัญเราจะต้องมีสติและต้องดำเนินชีวิตต่อไป เพราะการที่คนทั่วไปและคนสูงอายุคิดและหมกมุ่นอยู่กับข่าว หรือเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าว จะทำให้บั่นทอนสุขภาพจิตของเราได้ ที่สำคัญคนวัยชรานั้นเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตผ่านโลกมาค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงอยากให้มองโลกในแง่บวก เพราะในสังคมเรายังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ภาพของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์รุนแรงอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งการลงแรงไปช่วย การให้กำลังใจผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือแต่การบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบ ก็อยากให้จดจำหรือเก็บเรื่องดีๆ เหล่านี้ไว้ ซึ่งดีกว่าการที่ผู้สูงอายุจะตกอยู่กับความกลัดกลุ้ม เพราะนั่นจะบ่อนทอนสุขภาพ ทำให้กินไม่ได้และนอนไม่หลับเช่นกัน

ที่สำคัญนั้นเรื่องของการที่คนสูงอายุเสพข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ ก็จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณด้วยเช่นกัน เพราะคนแก่ยุคนี้เล่นโซเชียลเป็น ประกอบกับข่าวเท็จที่แชร์ส่งต่อๆ กันมาก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นการถามลูกหลาน กระทั่งผู้รู้ หรือลูกหลานเอง เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ เกิดขึ้นในสังคม ก็ต้องหมั่นคอยดูแล รวมถึงตอบข้อซักถามโดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง ที่บางครั้งมีเพื่อนส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับข่าวต่างๆ ให้เรา พี่ก็จะต้องคอยเตือนเพื่อนๆ อยู่เสมอ คือเราต้องเสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณ และต้องไม่แชร์ข่าวเท็จที่ยังไม่ได้รับการยืนยันไปยังไลน์กลุ่มของผู้สูงวัย เพราะอย่าลืมว่าคนสูงอายุมักจะอินกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นได้ยินได้ฟังข่าวเท็จก็จะทำให้รู้สึกเศร้าและหดหู่ได้ง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว ดังนั้นเมื่อได้รับทราบข่าวด่วน หรือเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรก็ตาม ก็ควรจะรับรู้รับทราบในแง่ของการเพื่อให้ผู้สูงวัยรู้ทันข่าวสาร แต่ต้องไม่ยึดติดหรือเอนเอียงไปกับข่าวเท็จ อีกทั้งต้องไม่แชร์ข่าวปลอมโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบไปยังกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันค่ะ

“นอกจากรับฟังข่าวสารหรือเหตุการณ์ต่างๆ แล้ว การแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นเกมในมือถือ หรือดูรายการทีวีเกี่ยวกับสารคดี การทำงานบ้าน ซักเสื้อผ้า ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กระทั่งการออกกำลังกายเบาๆ หรือแม้แต่การอ่านหนังสือที่ชอบ หรือออกไปทำงานจิตอาสา กระทั่งการเลี้ยงลูกหลาน กิจกรรมพิเศษเหล่านี้จะช่วยทำให้คนสูงอายุไม่หมกมุ่นอยู่กับข่าวหรือเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ มากเกินไป เพราะการรับข่าวสารที่ดีของคนวัยเก๋า คือการที่รับข้อมูลเพื่อเติมเต็มความรู้ เพื่อนำไปสู่การรับมือหากว่าต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การหวั่นวิตกกังวลจนเกินเหตุ และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น”.

18 February 2563

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1189

 

Preset Colors