02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิตร่วม "ไลฟ์อีส" ใช้ดนตรี เปิดใจเด็กยอมรับ-เคารพตนเอง ลดเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายวัยรุ่น

กรมสุขภาพจิตร่วม "ไลฟ์อีส" ใช้ดนตรี เปิดใจเด็กยอมรับ-เคารพตนเอง ลดเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายวัยรุ่น

กรมสุขภาพจิต จับมือค่ายเพลง "ไลฟ์อีส" ใช้ดนตรีพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น เน้นทำให้เด็กเข้าใจตนเอง เคารพตนเอง ปรับตัว และออกแบบชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้ ย้ำปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น มาจากการที่ไม่ยอมรับและไม่เคารพตนเอง

วันนี้ (12 ก.พ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายนภ พรชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์อีฟ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการตัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพเด็กวัยรุ่น เรื่อง School tour edutainment เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตของวัยรุ่น โดยใช้ดนตรีและกิจกรรมในโรงเรียนเป็นสื่อกลาง

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นในปัจจุบัน พบวัยรุ่นมีปัญหาภาวะซึมเศร้า ปัญหาการฆ่าตัวตาย และการรังแกกันในโรงเรียน โดยในปี 2562 ผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น อายุ 11-19 ปี โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในสถานศึกษาจาก 13 จังหวัด 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ พบว่า วัยรุ่นที่มีความคิดอยากตาย ร้อยละ 21 มีความคิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 5 และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 23 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตวัยรุ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2017 รายงานว่า เด็กนักเรียนไทยร้อยละ 30 เคยถูกเพื่อนในโรงเรียนรังแก และจากการวิจัยสำรวจความชุกของการรังแกกันในโรงเรียน พบว่า นักเรียนที่เคยมีประสบการณ์การรังแกใดๆ เช่น เป็นผู้รังแก เป็นผู้ถูกรังแก หรือเป็นทั้งสองบทบาท ร้อยละ 21 ซึ่งในกลุ่มนี้มีนักเรียนที่พบโรคจิตเวชอย่างน้อย 1 โรค ร้อยละ 60

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะชีวิตวัยรุ่น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยป้องกันและส่งเสริมให้วัยรุ่นมีภูมิคุ้มกันต่อปัญหาสุขภาพจิต กล่าวคือ ทักษะชีวิตในเชิงสุขภาพจิต อารมณ์ และความคิด มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันปัญหาด้านจิตใจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยในปี 1999 องค์การอนามัยโลก ได้สรุปทักษะชีวิตพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กและวัยรุ่น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การตัดสินใจและการแก้ปัญหา 2. การคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ 3. การสื่อสารและสัมพันธภาพ 4. ความเข้าใจตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และ 5. การจัดการอารมณ์และความเครียด

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หากวิเคราะห์ถึงปัญหาในวัยรุ่นแล้ว จะพบว่าสาเหตุหลัก คือ การที่เด็กไม่ยอมรับ และไม่เคารพตนเองมากพอ ดังนั้น หากเราสามารถช่วยให้เด็กหันมาเคารพตัวเองได้มากขึ้นแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพจิตนี้อาจจะลดลงตามไปด้วย การร่วมกับไลฟ์อีส ในครั้งนี้ก็เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทักษะชีวิตของวัยรุ่น โดยใช้ดนตรีและกิจกรรมในโรงเรียนเป็นสื่อกลาง ให้มีความเข้าใจและพอใจในตัวเอง (Self) ร่วมกับเห็นคุณค่าและขอบคุณคนรอบข้างในความสัมพันธ์ที่ดีรอบตัว (Relationship) สามารถปรับตัวในยุคสังคมปัจจุบัน ออกแบบชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้ และนำศักยภาพของตนเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงมีความสุขในการดำเนินชีวิต โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนมัธยมศึกษา 13 เขตสุขภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 4 แห่ง มีระยะเวลาดำเนินโครงการร่วมกันประมาณ 1 ปี

นายนภ กล่าวว่า จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมผ่านการเล่นเกม ตอบคำถามง่ายๆ อย่างสนุก และผ่อนคลาย ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ตนเองได้ว่า จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเองเป็นอย่างไร และนำผลของการวิเคราะห์นั้น มาตั้งคำถามกับตัวเองต่อได้ว่า ความหมายของชีวิตคืออะไร จุดเด่นของโครงการนี้ คือ หลังจากวัยรุ่นได้วิเคราะห์ตนเองแล้ว จะมีมินิคอนเสิร์ตเล็กๆ เพื่อใช้ดนตรีในการเปิดใจให้วัยรุ่นได้มีเวลาซึมซับดนตรีในช่วงหนึ่ง และอยู่กับตัวเอง เพื่อกลับไปค้นหาตัวเองต่อไปว่า ความหมายของชีวิตเขาคืออะไร

13 February 2563

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 2034

 

Preset Colors