02 149 5555 ถึง 60

 

พัฒนาเด็กพิเศษ ผ่านสังเกตพฤติกรรม เสริมแรงบวก เข้าใจความแตกต่าง

พัฒนาเด็กพิเศษ ผ่านสังเกตพฤติกรรม เสริมแรงบวก เข้าใจความแตกต่าง

ปัจจุบัน ครอบครัวมักประสบกับความท้าทายในการส่งเสริมเด็กมากมายโดยเฉพาะ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ผู้ปกครอง ครู และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ในพฤติกรรมของเด็ก เพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วานนี้ (5 กุมภาพันธ์) มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระบรมราชูปถัมป์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี นำโดย ศาสตราจารย์ ศรียา นิยมธรรม ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ ร่วมด้วย ศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ จัดอบรมเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ลูกของฉัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจริงหรือ” ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เพื่อเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการดำรงชีวิตในสังคมของเด็กพิเศษ โดยมีผู้ปกครอง ครู นักจิตวิทยา และนักวิชาการที่ทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้ารับฟังกว่า 100 คน

พ่อแม่คือผู้พิทักษ์

ดร.อะมิริส ดิพูเกลีย ที่ปรึกษาหน่วยงานพัฒนาบุคลากร และความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในฐานะวิทยากรและคุณแม่ที่มีลูกออทิสติก กล่าวว่า เรามีความคาดหวังอยากให้ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม แต่เราจะทำอย่างไร เพื่อให้การเข้ามาอยู่ในสังคมของทุกคนเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ในสหรัฐอเมริกาจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ คือ พ่อแม่เป็นผู้พิทักษ์สิทธิ์ที่ดีที่สุด ในการพิทักษ์สิทธิของลูก เรามีทั้งรัฐบาล โรงเรียน สังคม ที่ช่วยกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ่อแม่

“สิ่งที่ต้องรู้ คือ ไม่มีการฝึกหรือการพัฒนาอะไรที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มียารักษาที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นแบบชั่วพริบตา แต่ต้องอาศัยการทำงานที่ทุ่มเท อดทน เพราะเราอาจจะไม่ได้เห็นผลลัพธ์อย่างทันทีทันใด สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ จะช่วยเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร เด็กมีความต้องการเฉพาะอย่างไร และถามตัวเองว่าเด็กเหล่านี้จะก้าวหน้าไปตามเป้าหมายของเขาอย่างไร”

ทั้งนี้ การจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้จริง แต่ก่อนเราเห็นว่ามีระบบสนับสนุนบริการด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษน้อยมาก หลายครั้งที่พยายามผลักดันพวกเขาให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาทั่วไป แต่กลายเป็นว่าพวกเขาถูกทิ้งเอาไว้ที่มุมห้อง แทนที่จะไปโรงเรียน ได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ แต่กลายเป็นไปนั่งเฉยๆ แต่ปัจจุบัน การสนับสนุนเพื่อให้เด็กพิเศษมีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น เช่น ในแพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านการศึกษาพิเศษ ให้การอบรม กับบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ เพื่อการจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น

“ในฐานะที่มีลูก ที่มีภาวะออทิสซึม หรือออทิสติก ต้องเข้าใจว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้เหมือนกันทุกคน บางคนฉลาด หรือ บางคนต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น ดังนั้น ต้องเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่แค่การจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น ต้องมองหลายด้าน หลายคนมองว่าการได้เรียนรวมกับคนอื่นจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่จะทำอย่างไรหากลูกยังมีทักษะไม่มากพอในการเรียนรวม ต้องหาวิธีให้เขาเรียนรู้อย่างประสบความสำเร็จด้วย ไม่ใช่แค่ส่งเสริมในด้านการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างเดียว”

เรียนรู้พฤติกรรมแบบประยุกต์ ABA

ข้อมูลจาก ศูนย์เพื่อเด็กพิเศษแสงเหนือ ได้อธิบายถึงการเรียนรู้แบบ “การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์” หรือ ABA (Applied Behavior Analysis) ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมในเชิงวิทยาศาสตร์และประยุกต์ใช้เทคนิคต่างๆ ที่มีข้อมูลรองรับเพื่อเพิ่มหรือลดพฤติกรรมต่างๆ ที่สำคัญต่อนักเรียน รวมถึงสิ่งแวดล้อม และผู้แวดล้อม

โดยหลักการพื้นฐานของ ABA คือ 1. การวิเคราะห์พฤติกรรมที่มีความสำคัญทางสังคมที่ต้องการได้รับการส่งเสริมและปรับปรุง โดยที่นักบำบัดสังเกต ประเมิน และแปลผลข้อมูลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสอน 2. พฤติกรรมต้องสามารถอธิบายในรูปแบบการจับต้องได้และวัดได้ 3. ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรม 4. วิเคราะห์พฤติกรรม ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนพฤติกรรมที่จะแสดงออกมา ลักษณะพฤติกรรมนั้นเป็นอย่างไร และอะไรเกิดขึ้นหลังจากแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา

กฎ ABC ของพฤติกรรม

ดร.อะมิริส อธิบายเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมทุกชนิด เป็นไปตามกฏเบื้องต้นที่เรียกว่า ABC ของพฤติกรรม ได้แก่ Antecedent ตัวกระตุ้น แรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดพฤติกรรม Behavior พฤติกรรมที่กระทำ และ Consequences หรือผลลัพธ์ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทำนายพฤติกรรมเด็กและสามารถควบคุมได้ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม หากจะสามารถทำนายพฤติกรรมต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ 1. Reinforcement การเสริมแรงเชิงบวก 2. Punishment การลงโทษเพื่อลดพฤติกรรม และ 3. Extinction ลดแรงเชิงลบ เพื่อหยุดพฤติกรรมนั้นๆ ขั้นตอนการสอน อาจแตกต่างจากการสอนทั่วไป พอเราสอนมากขึ้นก็จะเห็นพัฒนาการมากขึ้น เห็นการตอบสนอง เข้าใจหลักการพื้นฐาน สอนให้เขาทำสิ่งต่างๆ ได้เอง แต่ไม่ควรสอนบางอย่างที่ยาก ถ้าเขาไม่มีพื้นฐาน เช่น การสอนให้เด็กอ่านแต่เด็กไม่มีทักษะทางภาษา

ดังนั้น ควรศึกษาว่าเด็กชอบอะไร เพราะเด็กแต่ละคนมีความสนใจ ถนัด แตกต่างกัน อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ว่าง โดยวิธีการพูดคุยกับเด็ก คือ การบอกตรงๆ ว่าจะให้ทำอะไร อย่าบังคับให้สนใจพฤติกรรมที่มีปัญหา พูดเรื่องที่ต้องการให้เกิดขึ้นให้มาก อย่าพูดขู่ หลีกเลี่ยงการติเตียน กล่าวโทษ และทับถม ให้คำชมสำหรับพฤติกรรมดี

ขณะที่วิธีการบางอย่างที่อาจจะใช้ไม่ได้ผล คือ การเตือนหรือบอกกล่าวล่วงหน้า การให้เหตุผลว่าทำไมจะต้องเปลี่ยนหรือทำไมต้องทำ การประณามพฤติกรรมที่มีปัญหา การใช้คำพูด เช่น “ฉันไม่ชอบนะ...เวลา...” หรือ การบอกเหตุผลว่าทำไมเด็กจึงทำอย่างนั้น (เช่น เธอทำอย่างนั้นเพื่อแกล้งฉันใช่ไหม)

ทั้งนี้ การสอนที่ดี คือ “ต้องชัดเจน” มีระบบชัดเจนดีพอ เพื่อให้เรียนรู้ง่าย มีความยืดหยุ่นในการสอน และ “จัดทำและกำหนดแผนการสอน” ตอบสนองในสิ่งที่เด็กทำได้ และสอนทักษะสำหรับโลกความจริง ในส่วนชอง การจัดห้องเรียน ต้องจัดให้สามารถเข้าถึงทุกจุดในห้อง สามารถมองเห็นว่าเด็กกำลังทำอะไร ไม่มีจุดบอด มีตารางการทำงานของนักเรียนและครูอยู่ในที่ๆ เห็นได้ชัด มีวัสดุอุปกรณ์การสอนพร้อมให้ใช้ได้ นักเรียนสามารถหยิบฉวย และเก็บเข้าที่ได้สะดวก และมีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ

ด้าน ศาสตราจารย์ ศรียา นิยมธรรม ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไม่ใช่แค่หน้าที่ครูการศึกษาพิเศษ แต่ยังต้องรวมไปถึงนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว นักโสตสัมผัสวิทยา เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ต้องมีความรู้ และความเข้าใจในความแตกต่างของเด็กเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อพัฒนาให้ถูกจุด

6 February 2563

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1220

 

Preset Colors