02 149 5555 ถึง 60

 

ยิ่งรู้จักยิ่งน่ากลัว PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

หลายงานวิจัยใหม่ พบการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ เพิ่มความเสี่ยงเชื่อมโยงสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

เราต่างก็รับรู้กันแล้วว่ามลภาวะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสุขภาพร่างกาย ทั้งโรคเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด กระทบกับผิวหนัง ดวงตา แล้วอาการเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตล่ะ

จากคำถามนี้ ทีมวิจัยในประเทศอังกฤษจึงทำการวิเคราะห์งานศึกษาจากหลาย 16 ประเทศ อาทิ สหรัฐเยอรมนี ไอร์แลนด์ เบลเยียม แอฟริกาใต้ ไปจนถึงเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน (รายงานการวิจัยอื่นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives) ข้อมูลทางสถิติยืนยันว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า-อัตราการจบชีวิตตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาเพิ่มเติมยังให้ข้อมูลที่ชี้ชัดว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับสติปัญญาของคนลดลงอย่างมาก และเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการวิกลจริต การศึกษาแบบครอบคลุมทั่วโลกในต้นปี 2019 ได้ข้อสรุปชัดว่า มลพิษทางอากาศอาจจะทำลายอวัยวะและเซลล์ในร่างกายมนุษย์ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว

ผลวิจัยสรุปได้ว่า ถ้าในเมืองๆ หนึ่งระดับฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน คนจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 10% อธิบายได้ว่า การสูดดมฝุ่นมลพิษฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (เทียบเท่า 0.00025 มิลลิเมตร) หรือ PM2.5 เข้าไปในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปีหรือมากกว่านี้ มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้า

ตามรายงานของ WHO กล่าวเสริมว่า หากลดระดับฝุ่น PM2.5 ลงมาที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดอัตราซึมเศร้าของคนเมืองได้ถึง 2.5% แต่ ในระยะสั้นการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่นชนิดอื่นอย่าง PM10 ในปริมาณ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 วัน กลับเพิ่มความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายถึง 2% แม้จะดูเป็นความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยแต่ผู้คนทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองกว่า 90% อยู่ในภาวะที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 มากเกินกว่าเกณฑ์ที่ EU และ WHO กำหนดมาก

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาข้อมูลงานวิจัยทั่วโลกล่าสุดเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้ากับการสัมผัสมลพิษทางอากาศของ อิโซเบล เบรทเวต จาก University College London (UCL) หัวหน้าคณะวิจัยพบข้อมูลที่น่าตกใจคือ คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศมีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

โดยงานวิจัยกล่าวว่ามลพิษทางอากาศที่สำคัญคือ อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล กิจกรรมในชีวืตประจำวันมนุษย์และจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นมลพิษเหล่านี้ นักวิจัยระบุว่า ข้อมูลใหม่ที่พบยิ่งทำให้ต้องมีการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดย WHO จัดว่า "มลพิษทางอากาศ" เป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่จำเป็นต้องจัดการอย่างเร่งด่วน จากการประเมินของ WHO พบว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 264 ล้านคนทั่วโลกและแต่ละปีผู้ที่มีอาการซึมเศร้าฆ่าตัวตายราว 800,000 คน

ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพจิตเด็ก

วารสารทางการแพทย์ในสหรัฐฯ เผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพจิตเด็ก โดยมีการเจาะจงไปที่ PM2.5 และได้เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเด็ก พบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ตรวจพบค่า PM2.5 ในปริมาณสูง จำนวนผู้มาพบจิตแพทย์จะสูงขึ้นกว่าปกติในอีก 2-3 วันต่อมา ในขณะที่ผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์วันเดียวกับที่ค่ามลพิษสูง มักเป็นผู้ป่วยจิตเภท ขณะที่สองสามวันต่อมา มักจะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการปรับสภาพจิตใจและมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ เด็กๆที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจสังคมระดับล่าง และเด็กที่มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพได้น้อย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากว่าจะได้รับผลกระทบทางจิตใจเมื่อมลพิษทางอากาศพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอาการวิตกกังวลและความคิดอยากฆ่าตัวตาย

24 January 2563

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana

Views, 1477

 

Preset Colors