02 149 5555 ถึง 60

 

กินสมุนไพรฤทธิ์ผ่อนคลาย แก้ปัญหานอนไม่หลับผู้สูงวัย

กินสมุนไพรฤทธิ์ผ่อนคลาย แก้ปัญหานอนไม่หลับผู้สูงวัย

หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะการที่ “ผู้สูงวัยนอนไม่หลับ” ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปตามวัยอย่างการนอนน้อย เพราะใช้พละกำลังในแต่ละวันค่อนข้างน้อย หรือแม้แต่การคิดวกวนในเรื่องต่างๆ ทั้งครอบครัวและลูกหลาน นั่นจึงเป็นสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ แต่ทว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เมื่อมีเหตุก็ย่อมต้องมีทางแก้ไขเป็นธรรมดา ล่าสุด แม่ครูจรรยา วงศ์ชัย แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ชมรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน จ.เชียงใหม่ มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับสมุนไพรที่ช่วยทำให้คนสูงวัยนอนหลับสบาย

แม่ครูจรรยา วงศ์ชัย บอกว่า “สมุนไพรที่กินแล้วทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ง่าย คือ “ขี้เหล็ก” ที่สามารถนำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือปรุงเป็นเมนูแกงขี้เหล็ก ให้ผู้สูงอายุรับประทานก็ได้เช่นกัน นอกจากสมุนไพรไทยที่รู้จักกันอย่าง “โกฐจุฬาลัมพา” หรือบางท้องที่ก็จะเรียกว่า “กัญชาป่า” (ไม่ผิดกฎหมาย) ที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับได้ลึกขึ้น โดยสามารถใช้ใบสดมาต้มน้ำ เพื่อสำหรับเป็นชาดื่มเพื่อสุขภาพ หรือจะกินใบตากแห้งก็แก้อาหารนอนไม่หลับก็ได้เช่นกัน

แต่ที่แนะนำมากที่สุดคือ “ยาหอมรสสุขุม” ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยหลายชนิด ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วจะช่วยทำให้ชื่นใจ อีกทั้งช่วยบำรุงหัวใจ จึงทำให้หลับง่าย ซึ่งวิธีการรับประทานนั้น แนะนำว่าให้ชงในน้ำร้อนแล้วดื่ม หรือรับประทานโดยการตักยาหอมรสสุขุม 1 ช้อนกาแฟ จากนั้นอมไว้ใต้ลิ้นสักครู่และดื่มน้ำตาม ก็จะทำให้รู้สึกชุ่มคอและนอนหลับสบายขึ้น หรือแม้แต่สมุนไพรจีนอย่าง “เจียวกู่หลาน” ก็สามารถชงดื่มเป็นชาสมุนไพร เพื่อช่วยให้นอนหลับสบายและคลายเครียด อีกทั้งสมุนไพรดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ จึงป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างเป็นอย่างดี

“นอกจากการบริโภคสมุนไพรที่กล่าวมาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ดีนั้น คือการ “ปล่อยวาง” ร่วมกับการ “ทำสมาธิ” อย่างการสวดมนต์ไหว้พระ ถือศีล หรือมีสติรู้อยู่ทุกขณะย่างก้าว เป็นต้น นอกจากนี้ก็ให้หาอะไรทำยามว่าง ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือเย็บปักถักร้อยสานตะกร้า หรืองานเพื่อสังคมต่างๆ ที่สำคัญต้องไม่คิดว่าเวลาที่เราแก่แล้ว ต้องให้ลูกหลานมาอยู่ดูแลเรา หรือการที่ลูกหลานไม่ได้มาเยี่ยมมาหาในวันสำคัญ แต่ให้คิดว่าบางครั้งการที่เขาไม่ดูแลเรา ก็เป็นเพราะว่าเขาต้องมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือมีกิจธุระต่างๆ ที่ทำให้มาหาไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่ปล่อยวางและคิดมาก ก็จะทำให้เรานอนไม่หลับ และอาจจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น”

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่มีแสงไฟสาดเข้ามาในห้องนอนผู้สูงอายุ หรือการไม่มีทีวีในห้องนอน ตลอดจนการหลีกเลี่ยงเสียงดังรบกวนต่างๆ ก็จะทำให้คนสูงวัยหลับได้ง่ายขึ้น หรือหากมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่มีส่วนต่อการนอนพักผ่อน ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการรักษาที่ตรงจุด.

16 January 2563

ที่มา ไทยโพสต์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 5647

 

Preset Colors