02 149 5555 ถึง 60

 

คู่มือพ่อแม่ยุคโซเชียล เลี้ยงลูกให้รักตัวเอง ไม่บูลลี่ใคร ไม่ยอมถูกใครบูลลี่

คู่มือพ่อแม่ยุคโซเชียล เลี้ยงลูกให้รักตัวเอง ไม่บูลลี่ใคร ไม่ยอมถูกใครบูลลี่

วันเด็ก 2020

จากข่าวที่ปรากฏให้เห็นมากมายกับพฤติกรรมของเด็กที่มีให้เห็น ทำให้พ่อแม่หลายคน มีความหนักใจว่าจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรในยุคโซเชียลอย่างนี้ เพราะโลกมันช่างแตกต่างไปจากยุคสมัยที่คนเป็นพ่อเป็นแม่เติบโตม

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ หมอวิน เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ เพื่อรวบรวมหลักการและเทคนิคง่ายๆ ที่จะให้คุณพ่อคุณแม่ใช้เลี้ยงลูกในยุคโซเชียลนี้

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เวิร์ค? เหมาะสมกับยุคโซเชียล

- อยากให้เด็กรู้เท่าทันโซเชียลต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ หมอวิน ให้คำแนะนำว่า พ่อแม่ต้องถามตัวเองก่อนว่า เอาตัวเองรอดแล้วหรือยัง พ่อแม่บางคนยังไม่มีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร บางคนรับข่าวมาแล้ววิจารณ์ทันทีโดยไม่เก็บข้อมูล เด็กจะเรียนรู้วิธีการใช้สื่อออนไลน์จากพ่อแม่ พ่อแม่ควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก

- พ่อแม่ได้แบ่งความเป็นส่วนตัวของตัวเองในโลกออนไลน์และครอบครัวแล้วหรือยัง บางคนบอกหมดทุกอย่าง ลงรูปลูกแก้ผ้าอาบน้ำ เรื่องแบบนี้ต้องมีความเป็นส่วนตัว พ่อแม่ต้องสอนตัวเองให้ใช้สื่ออย่างสมเหตุสมผล แล้วลูกก็จะใช้สื่ออย่างสมเหตุสมผลเช่นกัน ถ้าสอนตัวเองได้ก็สอนลูกได้

- ยูทูบที่เกี่ยวกับเด็กมีเยอะ บางบ้านเด็กพูดภาษาอังกฤษได้เพราะดูพวกนี้ เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู การที่เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ได้หมายความว่าสื่อสารได้ บางทีแค่พูดตาม แต่สื่อสารไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าโลกจะไปไกลแค่ไหนก็ตาม แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันก็ยังยืนยันเสมอว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูหน้าจอในทุกกรณี

- ภาพเคลื่อนไหวในวิดีโอ ทำให้เด็กคิดไม่ทันว่าอะไรเคลื่อนไหวตรงหน้าบ้าง เพราะภาพเปลี่ยนเร็ว เด็กคิดไม่ทัน ไม่มีช่องว่างให้เด็กคิด จินตนาการ เมื่อภาพเคลื่อนไหวเร็ว ดูจบเร็ว เกิดการดูซ้ำ แต่เด็กบางคนดูไม่จบ ก็เปลี่ยนคลิปไปเรื่อยๆ ทำให้สมาธิเด็กสั้นลง

- หลังอายุ 2–6 ขวบ อนุญาตให้เด็กดูหน้าจอได้ แต่ต้องเลือกชนิดของสื่อโดยพ่อแม่เห็นว่าเหมาะสม และนั่งดูด้วยกัน ต้องจำกัดเวลาอย่างน้อยห้ามเกิน 1 ชั่วโมง

- หลัง 6 ขวบ สามารถใช้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ถ้าให้ดูน้อยยิ่งดี ไม่ต้องรีบให้ลูกใช้โซเชียลเพราะกลัวว่าลูกจะไม่เก่งเท่าคนอื่น เพราะของพวกนี้มันเรียนรู้ง่าย เด็กเรียนรู้เร็ว แป๊บเดียวใช้เก่งกว่าพ่อแม่เสียอีก

- ก่อนเด็กอายุ 13 ปี ไม่ควรให้ลูกใช้สื่อออนไลน์ใดๆ ยังไม่ควรให้มีบัญชีเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ ของตัวเอง หลังอายุ 13 ปีจะอนุญาตให้มีเมื่อไหร่นั้นให้พ่อแม่พิจารณาว่าลูกของเราพร้อมเล่นแล้วหรือยัง

- เมื่อต้องให้โทรศัพท์กับลูก ห้ามให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูก แต่ให้ใช้วิธียืม โดยบอกว่าเป็น "นี่โทรศัพท์ของพ่อแม่ แต่พ่อกับแม่ให้ลูกยืม" โดยลูกจะใช้ได้เมื่อไหร่ ใช้อย่างไร พ่อกับแม่จะเป็นคนกำหนด ถ้าเกิดใช้ไม่สมเหตุสมผล พ่อแม่จะต้องริบคืน แต่ถ้าพ่อแม่ยื่นโทรศัพท์ให้ลูกเฉยๆ เด็กจะถือว่าคือกรรมสิทธิ์ของเขา พ่อแม่จะไปล่วงล้ำกรรมสิทธิ์ของเขาไม่ได้แล้ว

- ห้ามให้เด็กใช้สื่อโซเชียลพวกนี้คนเดียว ที่สำคัญไม่ควรเอาเข้าห้องนอน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มือถือเข้าไปสู่ห้องนอน หลายๆ อย่างจะเสียไป และความอันตรายของโลกออนไลน์จะเบี่ยงเบนลูกเราออกไปจากทางขาวๆ ให้ออกไปทางเทาและดำได้เสมอ

เล่นอะไร ทำกิจกรรมแบบไหน ดึงความสนใจเด็กเล็กจากโซเชียล

- สำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่คือของเล่นสำคัญสำหรับลูก ไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมาย การกอด วิ่ง ไล่จับ เดินชมธรรมชาติ ทำให้แฮปปี้มากแล้ว

- ถ้าเป็นของเล่น บล็อกไม้ จิ๊กซอว์ การเล่านิทานจะดีมาก เพราะว่าการมีรูป คำอธิบายน้อยๆ การเล่นปลายเปิดทั้งหลาย จะต่อยอดจินตนาการให้กับเด็กๆ และกระตุ้นพัฒนาการ เค้ามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ความคิดแบบตรรกะจะตามมา

วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกในการใช้ชีวิตในยุคโซเชียล

- ลูกคือกระจกสะท้อนของพ่อแม่ ซึ่งจะสะท้อนด้านที่ไม่ดีก่อนเสมอ เด็กจะทำตามด้านที่ไม่ดีของพ่อแม่ เพราะสิ่งที่ไม่ดีมันทำง่ายกว่า ฉะนั้นด้านดีๆ ของพ่อแม่จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของลูก

- เด็กทุกคนเมื่อโตมาระดับหนึ่งจะรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พ่อแม่เริ่มสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี แต่ความเป็นวัยรุ่นจะมีความอยากลอง อยากทำ พ่อแม่ต้องค่อยๆ ถามและให้เขาค่อยๆ คิด ว่าสิ่งที่เขากำลังทำมันดีหรือไม่ดี

- การสอนลูกด้วยคำพูดที่ติเพื่อก่อ ใช้คำพูดละมุนละม่อม พูดจาสุภาพ ไม่หักหาญน้ำใจลูก จะทำให้ลูกซึมซับพฤติกรรมที่ดี และช่วยให้ลูกคิดตามว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดนั้นเป็นอย่างที่พ่อแม่พูดรึเปล่า

- ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เพราะจะทำให้ความมั่นใจของลูกแย่ลง

- ควรต่อยอดด้วยการจับข้อดีของคนที่ลูกชื่นชมมาสอนลูกจะดีที่สุด เพราะเด็กที่เป็นวัยรุ่นจะมีไอดอลของเขา

สอนลูกอย่างไรรู้จักคุณค่าและรักตัวเอง

- ต้องดูว่าลูกชอบกิจกรรมอะไรที่ทำแล้วรู้สึกไปได้ดี สิ่งนี้จะสอนเด็กในเรื่องสมาธิได้เยอะ และเป็นการสร้างความมั่นใจ สร้างคุณค่าในตัวเอง และงานอดิเรกเหล่านี้จะเป็นทางระบายความเครียดอีกทางนึง หากวันนึงลูกต้องไปเจอปัญหาอะไรมา

- อย่าดับฝันของลูก หากลูกชอบอะไร พ่อแม่ควรสนับสนุน เสริมทักษะที่ลูกชอบเต็มที่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา แต่ก็ควรตั้งเป้าให้ลูกว่าการเรียนยังสำคัญ

สร้างเกราะป้องกันลูกจากการถูกบูลลี่และไม่ให้ลูกไปบูลลี่คนอื่น

- เมื่อไหร่ก็ตามที่ครอบครัวแน่นแฟ้น มีความรักความอบอุ่นให้กันจะช่วยสร้างตัวตนเด็ก เด็กที่อยู่ในครอบครัวอบอุ่นและรับฟังกันโดยไม่ตัดสินเด็กจะกล้าพูดความรู้สึกตัวเอง

- สอนให้ลูกปฏิเสธเป็น สอนให้เป็นคนช่างเจรจาและต่อรองแบบเหมาะสมได้ เช่น บอกไปหากไม่ชอบอะไรให้บอกตรงๆ และถ้าไม่หยุด จะต้องบอกคุณครู เป็นต้น

- หากเกิดการกลั่นแกล้ง ถูกหยอกล้อด้วยพูด ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ให้ลูกไปบอกคุณครู แต่ถ้าคุณครูเมินเฉย และมองว่าเพื่อนแค่หยอกถ้าครูไม่ปกป้องเด็ก โรงเรียนนั้นไม่น่าอยู่แล้วถึงปล่อยให้การกลั่นแกล้งแบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการตักเตือนอีกฝ่าย

- อย่าปล่อยให้ลูกเจอเรื่องแบบนี้โดยไม่มีใครปกป้อง หากเด็กเริ่มสะสมความเครียดเก็บไว้เยอะๆ สุดท้ายมันจะออกมาในรูปแบบของความรุนแรง หรือหากยอมมากๆ จะเกิดความเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือวันหนึ่งถ้าลุกขึ้นสู้ จะมีการใช้ความรุนแรงเข้ามายุติเรื่องราวเหมือนที่เห็นในข่าวปัจจุบัน

- เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกล้อเพื่อน หรือไปตีเพื่อน โดยมีความจงใจจะแกล้งผ่านการเล่น ห้ามเพิกเฉยและมองว่าเป็นการเล่นของเด็กๆ พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปสั่งสอนลูกด้วยตัวเอง ห้ามดึงคนนอกให้มามีอำนาจเหนือคนในบ้าน เพราะการสั่งสอนจะไม่สำเร็จผล

- พ่อแม่ไม่ต้องสั่งสอนมาก แค่ทำแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เป็นที่น่านับถือและน่าเคารพต่อลูกๆ เป็นที่พึ่งของเขา

- อาวุธที่ดีที่สุดคือ สายสัมพันธ์และการรับฟัง ซึ่งมีอ้อมกอดที่อบอุ่น หูที่รับฟัง และจิตใจที่เปิดกว้าง สามอย่างนี้เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของคุณพ่อคุณแม่ที่จะเชื่อมกับลูกได้ตลอดในทุกช่วงวัย

ปิดท้าย คุณหมอวิน ย้ำอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลจากการศึกษาทางการแพทย์ชี้ชัดแล้วว่า "ทั้งหมดเริ่มต้นที่ครอบครัว แล้วมาต่อยอดข้างนอก ถ้าครอบครัวแข็งแรงมากพอ จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะออกไปเรียนรู้โลกภายนอก และไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแค่ไหนขึ้น ลูกจะนึกถึงและกลับมาหาพ่อแม่ก่อนเสมอ จะไม่ไปหาคนอื่น เพราะที่บ้านมีคนพร้อมเปิดใจรับฟังและเข้าใจในตัวเค้ามากที่สุด"...

13 January 2563

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 830

 

Preset Colors