02 149 5555 ถึง 60

 

เขาหยุดหัวเราะหรือหยุดร้องไห้ไม่ได้

เขาหยุดหัวเราะหรือหยุดร้องไห้ไม่ได้

คนเรามักจะคุ้นเคยกับแสดงออกที่สื่อถึงอารมณ์เพื่อตอบสนองต่อเรื่องราวที่เผชิญอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นร้องไห้เมื่อเศร้าเสียใจหรืออาจเป็นเพราะรู้สึกตื้นตันยินดียิ้มและหัวเราะเมื่อสุขใจหรือมีเรื่องให้ชวนขบขัน แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อสิ่งที่เราคุ้นเคยนั้นกลับตาลปัตรไปเสียทั้งหมด

คงเป็นเรื่องน่าประหลาดและทำให้รู้สึกอึดอัดใจไม่น้อยหากได้ยินเสียงหัวเราะดังลั่นและยาวนานจนหยุดไม่อยู่ขณะที่ทุกคนกำลังตกอยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าใครกันนะที่ช่างไม่รู้จักกาลเทศะเอาเสียเลย หรือใครกันที่ร้องไห้ฟูมฟายอยู่คนเดียวในขณะที่ทุกคนกำลังรู้สึกชื่นชมยินดีกับเรื่องดีๆที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาคนนั้นเสียสติไปแล้วหรืออย่างไรถึงทำให้หยุดหัวเราะหรือหยุดร้องไห้แบบแปลกๆนี้ไม่ได้

หากใครต้องตกอยู่ในสถานการณ์แปลกๆข้างต้นก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเขาคนนั้นทำตัวเป็นที่น่ารังเกียจ เป็นบ้าหรือโรคจิตไปเสีย เพราะคงไม่มีใครต้องการทำตัวประหลาดไปจากคนอื่นและเขาก็อาจไม่ได้เป็นคนเสียสติอย่างที่เราคิด แต่กำลังทนทุกข์อยู่กับอาการเจ็บป่วยที่น่าเห็นใจซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองและต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากพวกเราอยู่ก็เป็นได้

ภาวะที่คนเราไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องไห้ของตัวเองได้หรือ Pseudobulbar Affect (PBA) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการสั่งการของสมองและระบบประสาทที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมร่างกายในส่วนของการแสดงออกทางอารมณ์ให้สัมพันธ์กับสภาวะความเป็นจริงได้ โดยจะพบการแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ลักษณะ คือ ควบคุมการหัวเราะไม่ได้ (Pathological Laugher) และควบคุมการร้องไห้ไม่ได้ (Pathological Crying) หรืออาจปรากฏทั้ง 2 อาการเกิดขึ้นควบคู่กัน

ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะ PBA ซึ่งแม้จะรู้ตัวแต่ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนการแสดงออกให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ กล่าวคือ อยู่ๆก็หัวเราะขึ้นมาอย่างคนเสียสติหรือร้องไห้ฟูมฟายโดยที่ไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกหรือสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะนั้น ซึ่งมักแสดงอาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน หยุดไม่ได้และมีความถี่บ่อยครั้งในแต่ละวันจนน่ารำคาญใจ

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยในภาวะ PBA นอกจากจะต้องทนทุกข์จากอาการของโรคแล้ว ยังต้องแบกรับความทุกข์จากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลงด้วยความรู้สึกอับอายถึงพฤติกรรมผิดปกติและแปลกแยกไปในสายตาของคนรอบข้าง รวมทั้งเกิดความเครียดและวิตกกังวลถึงความไม่แน่นอนจากการแสดงออกของอาการ กลัวว่าคนอื่นจะไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ความมั่นใจในตัวเองถูกลดทอนลงเรื่อยๆ จึงพยายามเก็บตัวหรือพาตัวเองหลีกหนีไปจากการใช้ชีวิตตามปกติ เกิดการแทรกซ้อนของปัญหาทางจิตเวช อาทิ โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว จนทำให้การดูแลรักษาทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากภาวะการหยุดหัวเราะหรือร้องไห้ไม่ได้ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่เป็นผลมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทและสมองส่วนหน้าที่ไม่สามารถควบคุมการแสดงออกทางร่างกายให้สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างถูกต้อง ซึ่งพบว่าอาการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับผู้ป่วยทางระบบประสาทที่เคยมีประวัติได้รับการบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนทางสมองอย่างรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีก้อนเนื้องอกกดทับในสมอง รวมทั้งยังมีความเกี่ยวพันกับโรคปลอกประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์อีกด้วย

การดูแลรักษาอาการ PBA นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะจะส่งผลต่อการรับรู้ การช่วยเหลือตัวเองได้และการปรับตัวใช้ชีวิตในสังคมของผู้ป่วยโดยตรง จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาทอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผลดีในการลดความรุนแรงและความถี่ของการเกิดอาการลง โดยอาจมีการใช้ยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับเฉพาะโรคเพื่อลดอาการควบคู่ไปกับการแนะนำวิธีการรับมืออย่างถูกต้อง อาทิ การฝึกสมาธิและการควบคุมการหายใจ การเปลี่ยนอิริยาบถและท่าทาง การใช้ดนตรีหรือศิลปะบำบัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาผู้ที่ตกอยู่ในภาวะ PBA คือ คนใกล้ชิดที่อยู่รอบตัว เนื่องจากสภาพจิตใจที่ถูกบั่นทอนจนทำให้การใช้ชีวิตตามปกติเป็นไปด้วยความยากลำบากนั้น ต้องการความเข้าใจและการปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเห็นอกเห็นใจจากคนรอบข้างที่มีให้กันเสมอ ซึ่งจะเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถผ่านพ้นเรื่องร้ายนี้ไปได้ด้วยกัน

9 December 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 13902

 

Preset Colors