02 149 5555 ถึง 60

 

อาจารย์พยาบาลแนะสร้างความรู้สุขภาพจิต ปชช. 4 เรื่องหลัก ช่วยลดป่วยจิต-ฆ่าตัวตาย

อาจารย์พยาบาลแนะสร้างความรู้สุขภาพจิต ปชช. 4 เรื่องหลัก ช่วยลดป่วยจิต-ฆ่าตัวตาย

อาจารย์พยาบาลแนะ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ให้แก่ประชาชน เน้นหลัก 4 เรื่อง ความรู้ปัญหาสุขภาพจิต ความเชื่อความเข้าใจที่ผิด การแสวงหาความช่วยเหลือ กลยุทธ์ช่วยเหลือตัวเองอย่างเหมาะสม ช่วยป้องกันความผิดปกติทางจิตและการฆ่าตัวตาย

นายปราโมทย์ ถ่างกระโทก อาจารย์สาขาวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ความผิดปกติทางจิตเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ในประชากรทุกกลุ่มวัย ทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ อาทิ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความเครียด ความผิดปกติทางจิตดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลมีความคิดและเกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย โดยช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายไม่เว้นในแต่ละวัน ทั้งดารา นักร้อง และประชาชนทั่วไป จากรายงานของกรมสุขภาพจิตพบว่า ในแต่ละวันคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยสูงถึง 11-12 ราย อย่างไรก็ตาม การจัดบริการสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต และการช่วยเหลือหรือการให้การรักษาความผิดปกติทางจิตในปัจจุบันพบว่า ยังไม่เพียงพอและทั่วถึง ดังนั้น การดำเนินการเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนจึงต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (Mental health literacy) หมายถึง ความรู้และความเชื่อของบุคคลที่ช่วยให้บุคคลเกิดความตระหนักและสามารถจัดการหรือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความสามารถและทักษะในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือบุคคลรอบข้างที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังรวมถึง ความสามารถในการรับรู้ความผิดปกติที่เป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพจิตและแนวทางการรักษา มีความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ มีความรู้เกี่ยวกับการแสวงหาข้อมูลด้านสุขภาพจิต การแสวงหาความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล หรือบุคลากรด้านสุขภาพ และมีทัศนคติที่ส่งเสริมการตระหนักรู้และการแสวงหาความช่วยเหลือที่เหมาะสม ดังนั้น หากประชาชนได้รับการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยป้องกันความผิดปกติทางจิตและการฆ่าตัวตายได้

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ประกอบด้วย 1.ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับความหมาย สาเหตุ อาการและอาการแสดง รวมถึงผลกระทบของปัญหาสุขภาพจิตที่พบในผู้สูงอายุ ได้แก่ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล 2.ความเชื่อและความเข้าใจที่ผิด ได้แก่ ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตไม่จำเป็นต้องรักษา คนที่มีความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ความผิดปกติทางจิตจะพบเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น ความผิดปกติทางจิตไม่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษา 3. ทักษะในการแสวงหาความช่วยเหลือและทักษะในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ได้แก่ การแสวงหาและการขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล หรือบุคลากรด้านสุขภาพ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ตนเองและผู้อื่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต และ 4. กลยุทธ์การช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตที่เหมาะสม อาทิ การผ่อนคลายอารมณ์ การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ การเล่นกีฬา ดนตรี การฝึกคิดยืดหยุ่น การฝึกคิดแต่เรื่องดี รู้จักให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคือง การฝึกคิดถึงคนอื่นไม่คิดหมกมุ่นกับตนเอง คิดถึงประสบการณ์ที่ดี คิดถึงความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา การทำกิจกรรมที่สามารถฝึกสติ ฝึกสมาธิ เป็นต้น

"การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความผิดปกติทางจิตและการฆ่าตัวตายในประชากรคนไทย บุคลากรด้านสุขภาพต้องเร่งดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้เกิดผลโดยเร็วเพื่อสร้างเสริมให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตและความผาสุกมากยิ่งขึ้นต่อไป

4 December 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 4660

 

Preset Colors