02 149 5555 ถึง 60

 

หมดไฟทำงานเครียดเรื้อรัง สัญญาณซึมเศร้าคุกคาม

หมดไฟทำงานเครียดเรื้อรัง สัญญาณซึมเศร้าคุกคาม

สัปดาห์นี้ลองสำรวจตัวเองเครียดเกินไปหรือไม่ เพราะคุณอาจกำลังจะเข้าสู่ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” เป็นผลจากเครียดสะสมเรื้อรังยาวนานในที่ทำงาน คุกคามการใช้ชีวิตเสี่ยงโรคซึมเศร้า

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า…เครียดสะสมจากการทำงาน แล้วที่จริงมันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในวันนี้พบกับคุณยาย OK เช่นเคย ซึ่งจะอาสาพาไปค้นหาคำตอบ แต่ก่อนอื่นเอ่ยถามคุณผู้อ่านสักนิดว่า รู้จักภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเครียดโดยตรง

เนื่องจากว่าปัญหา “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก โดยได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงานและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต

เรามาฟังคำอธิบายจาก นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลฟังว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะหนึ่งที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นเวลานาน และเป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน แต่ไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขาดแรงจูงใจ หดหู่ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลามไปถึงประสิทธิภาพการทำงานลดลง แต่ที่สำคัญภาวะหมดไฟในการทำงาน ยังเป็นภาวะที่ทำให้คน ๆ นั้น สุ่มเสี่ยงต่อการเป็น “โรคซึมเศร้า” ตามมาได้ ดังนั้นการหมั่นสังเกตสัญญาณอาการ จึงช่วยให้รู้ทันโรคและรับมือได้อย่างถูกวิธี ก่อนจะสายเกินไปและอาจส่งผลเป็นโรคทางสมองเป็นซึมเศร้าในที่สุด

ภาวะหมดไฟในการทำงาน แบ่งอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง 2.มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ และ 3.ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม ทำงานได้ไม่ดี

ทั้งนี้เมื่อประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างไปทางลบ ทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บอกว่า...กำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้

อย่างไรก็ตาม สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เช่น เมื่อรู้สึกว่าทำงานมากเกินไป ควรหันมาให้เวลากับตัวเองมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหารตามเวลา หาเวลาเที่ยวพักผ่อน อาจสร้างตารางชีวิตประจำวันใหม่ให้ความหลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งที่ยากคือ องค์กรต้องตระหนักว่าภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ

ฉะนั้นการจัดการกับภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ไม่ทำงานหักโหมมากเกินไป ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาแพทย์

ส่วนโรคซึมเศร้า เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งมีองค์ประกอบทางชีววิทยาค่อนข้างมาก และจะโจมตีตัวตน ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกไม่มีแรง ไม่อยากทำงาน รู้สึกไม่เป็นคนเดิม บางครั้งความยากไม่ได้อยู่ที่คนไข้ แต่เป็นสิ่งสิ่งรอบข้าง เช่น ญาติพี่น้อง สิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ทำงาน เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้ามุมมองต่อโลกจะลบในทุกด้านที่ต้องใช้ความเข้าใจค่อนข้างมาก

ความยากอีกเรื่องหนึ่งคือ การตระหนักรู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว คนไข้ควรมาพบแพทย์ ค้นหาต้นเหตุที่ทำให้ไม่กลับไปทำงานไม่ได้ ซึ่งต้องแก้ไปทีละจุด อาศัยความเข้าใจ...โรคซึมเป็นได้ แต่ก็รักษาได้

นพ.อโณทัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้คนไทย 1 ใน 5 มีทุกข์ เป็นทุกข์ที่ส่งกระทบทั้งกายและจิตใจ บางคนไม่รู้ว่าจะต้องหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ภาวะหมดไฟในการทำงาน โรควิตกกังวล หรือคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต มะเร็ง โรคปอด ลมชัก ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น คนเหล่านี้เผชิญความเครียดกับโรคที่เป็นอยู่ สิ่งสำคัญคือกำลังใจในการต่อสู้กับโรค ด้วยกิจกรรมบำบัดหลากหลายรูปแบบ ที่ช่วยให้ค้นหาศักยภาพและคุณค่าในตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข

1.อาหารบำบัด ใช้สมาธิแต่ละขั้นตอนอยู่กับตัวเองและจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า 2.เคลื่อนไหวบำบัด 3.ดนตรีบำบัด 4.โยคะบำบัด 5.ศิลปะบำบัด และ 6.ละครบำบัด ศาสตร์ของละครเป็นการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ เติมเต็มความสุข

แต่อย่างไรก็ดี การรักษาอาการให้ดีขึ้นในระยะยาว ต้องทำให้คน ๆ หนึ่งอยู่กับตัวตนของเขาได้ดีเหมือนเดิม ฉะนั้นการรักษาทางใจควบคู่ไปกับทางกายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งความรู้สึกดี ๆ ตรงนั้นมีค่ามาก และคนไข้เองก็สามารถที่จะหยิบเอาความรู้สึกดี ๆ กลับไปใช้ต่อที่บ้านได้ เป็นการเยียวยาความเครียดอีกทางหนึ่ง

26 November 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 1834

 

Preset Colors