02 149 5555 ถึง 60

 

เตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับสื่อร้ายออนไลน์

เตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับสื่อร้ายออนไลน์

สัปดาห์นี้ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้กับเนื้อหาที่ช่วยแนะนำให้เด็กและนักเรียนท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ช่วงกลางปี ผมเคยเข้าไปฟังงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” จัดโดยดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า Bully เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เพราะถ้าแปลตรงตัว Bully หมายถึง รังแก ถ้าไปสอบถามกลุ่มตัวอย่าง เด็กไทยรู้สึกว่ารังแกจะมีความหมายเชิงลบมากๆ มีความรุนแรง ถึงเนื้อถึงตัว ซึ่งเด็กไทยจะไม่มีความรู้สึกว่าถูกรังแกเท่าไหร่นัก แต่ถ้าขยับเป็นคำว่า “กลั่นแกล้ง” เกือบทุกคนเคยเป็นผู้แกล้งและเคยโดนแกล้งตั้งแต่อายุยังน้อยมาแล้วทั้งนั้น

รศ.ดร.ธานี ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเปรียบเทียบข้อมูลของเด็กไทยกับเด็กในต่างประเทศ เช่น การแกล้งกันทางวาจา นักวิจัยต่างชาติไม่เข้าใจว่า การเรียกชื่อพ่อแม่เพื่อล้อเลียนกันของเด็กไทย ทำไมถึงรู้สึกว่าเป็นการกลั่นแกล้ง รวมถึงพฤติกรรมการขอความช่วยเหลือของเด็กไทยวัยนี้ จะเลือกที่จะบอกเพื่อนก่อนเสมอ (แทนที่จะเลือกบอกพ่อแม่หรือครู) ถ้าลงลึกถึงเหตุผลที่เด็กไปบอกเพื่อนก็คือ เพื่อจะรวมพลไปเอาคืนคู่กรณี กลายเป็นพฤติกรรมแกล้งกันไปแกล้งกันมา เป็นต้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่มักจะโดนแกล้งเสมอคือ กลุ่ม LGBT

เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน การกลั่นแกล้งกันขยายวงไปในโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyber Bully ก็จะเกิดพฤติกรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ไม่เคยแกล้งกันในโลกความจริง แต่ไปแกล้งกันในโลกออนไลน์ หรือ แกล้งกันทางกายภาพในโลกความจริงก่อน พอเข้าไปในโลกออนไลน์ก็ไปแกล้งกันต่อ จนถึงขั้นมีปัญหาทะเลาะวิวาทกันในโรงเรียน รศ.ดร.ธานี ให้ความคิดเห็นว่า ถ้าในโลกแห่งความจริง คนตัวใหญ่แข็งแรงกว่ามักจะรังแกคนตัวเล็กและอ่อนแอกว่า แต่เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ ทุกคนตัวเท่ากัน จึงไม่มีใครกลัวใคร เด็กบางคนจึงใช้โอกาสนี้ โพสต์ข้อความว่ากล่าวด่าทอ ถ่ายและแชร์คลิปวีดีโอ แต่งรูปภาพล้อเลียนคนอื่น เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อเดือนก่อน ผมได้รับเชิญจากดีแทคให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาโครงการ “Young Safe Internet Leader Camp version 1.0” ถือเป็นโครงการต่อเนื่องที่ดีแทคอยากจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่อง Cyber Bullying ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี (Gen Z) และช่วงอายุ 18-37 ปี (Gen Y) เพราะมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 90% และใช้งานเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน โครงการนี้เป็นการนำกลุ่มนักเรียนระดับ ม.1- ม.3 ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ 20 โรงเรียน (10 โรงเรียนในกรุงเทพฯ และ 10 โรงเรียนในต่างจังหวัด) ในทีมจะมีนักเรียน 5 คน มีครูที่ปรึกษา 1 ท่าน มาฝึกอบรมแบบ Train the Trainer ผ่านแนวคิดเรื่องภัยจากอินเทอร์เน็ตรอบตัว มีการอบรมจากวิทยากรมืออาชีพในแต่ละสาขา และพาไปทัศนศึกษาในองค์กรชั้น เช่น Garena, LINE, Webtoon และ Dek-D.com

ผมดูหัวข้อที่กำหนดมาแล้วน่าสนใจครับ เด็กๆ จะได้ศึกษาเรื่องภัยออนไลน์ที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น ข่าวปลอม (Fake News) การระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) การสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) นอกเหนือจากนี้ ยังมีเรื่องความเสี่ยงในการเข้าถึงเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อจากการมีปฏิสัมพันธ์กับมิจฉาชีพและคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อทางการค้า การโฆษณาเกินจริง ความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกลายเป็นผู้กระทำต่อผู้อื่น ความเสี่ยงในการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานเกินไป เช่น การติดเกม

ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีนายตำรวจมาอบรมเด็กๆ ทั้งเด็กชายและเด็กหญิงเกี่ยวกับการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต เช่น เริ่มแรกอาจจะมีการเสนอไอเทมของเกมต่างๆ มาให้ฟรีๆ เพื่อให้เด็กๆ วางใจและตีสนิท หลังจากนั้นจะมีการชักชวนหรือท้าทายให้กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

ตลอด 3 วัน 2 คืน ที่เด็กๆ จำนวนร้อยคนมาอบรมในหัวข้อต่างๆ ในวันสุดท้ายจะมีการขึ้นเวทีนำเสนอโครงการ Safe Internet แบบ Pitching 3 นาที เพื่อจะนำโครงการที่เสนอไปปฏิบัติจริงในโรงเรียนและชุมชนของตัวเองภายในระยะเวลา 6 เดือนต่อไป โดยจะมีเพียง 10 ทีมเท่านั้นที่เข้ารอบและได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 20,000 บาท

ในวันนั้น ผมได้รับฟังการนำเสนอที่น่าสนใจหลายหัวข้อ เช่น ต้องการหยุดยั้ง Cyber Bullying และ Hate Speech ในโรงเรียน หรือบางทีมก็เจาะจงลงไปในกลุ่ม LGBT โดยเฉพาะ มีทีมที่ทำโครงการคัดกรองข่าวให้น่าเชื่อถือ เพื่อช่วยขจัดเรื่อง Fake News ให้กับคนใกล้ตัว เริ่มตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ และโรงเรียน ฯลฯ

แต่ละทีมมีช่องทางการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ อาทิเช่น ประกาศหน้าเสาธง รณรงค์ผ่านเสียงตามสาย ทำช่องรายการพิเศษใน Youtube ประกวดแอมบาสเดอร์ประจำโรงเรียน ตั้งชมรม เปิดแฟนเพจใน Facebook ตัดต่อหนังสั้นเพื่อแชร์ในโซเชียลมีเดีย สร้างบอร์ดเกมเพื่อแก้ปัญหา เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายในโรงเรียน เช่น นักจิตวิทยา นักพัฒนาการเด็ก มาพูดถึงปัญหาการติดเกม การกลั่นแกล้งรังแกกัน เป็นต้น

จากที่ผมได้ฟังการนำเสนอโครงการ เด็กๆ ร้อยคนนี้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาด้วยความเข้าใจ แสดงว่าพวกเขาเข้าถึงในสิ่งที่ได้รับการอบรมมาตลอด 3 วัน และพร้อมที่จะนำไปบอกต่อเพื่อให้ความรู้กับผู้อื่นได้ โดยส่วนตัว ผมคิดว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว หลังจากนี้ เราต้องมาดูกันต่อครับว่าเด็กๆ กลุ่มนี้จะไปต่อยอดโครงการของพวกเขาไปสู่โรงเรียนและชุมชนได้อย่างไรและสำเร็จหรือไม่…ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามครับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ปกครองและครูอาจารย์ที่สนใจโครงการนี้ ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลในเว็บ Safe Internet for Kid ในนั้นจะมีเนื้อหาที่ช่วยแนะนำให้เด็กและนักเรียนท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยครับ มีเกมและแบบทดสอบสนุกๆ เพื่อให้เด็กได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละระดับช่วงอายุ เมื่อเขาทำได้แล้วจะได้รับประกาศนียบัตรด้วยนะครับ สำหรับผู้ปกครองและครูจะมีคู่มือการใช้งาน เพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในโลกดิจิทัลไปพร้อมๆ กันเพื่อที่เราจะได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมต่อไปในอนาคตครับ.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/742117

19 November 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 957

 

Preset Colors