02 149 5555 ถึง 60

 

ผู้ป่วยเบาหวานระวัง "เครียด-ซึมเศร้า" ทำคุมน้ำตาลไม่อยู่ เสี่ยงโรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยเบาหวานระวัง "เครียด-ซึมเศร้า" ทำคุมน้ำตาลไม่อยู่ เสี่ยงโรคแทรกซ้อน

แพทย์ห่วงผู้ป่วยเบาหวาน เครียด ซึมเศร้า ทำคุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนสารพัดโรค ทั้งหัวใจ ไตเสื่อม ขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชพบอาการเบาหวานมากขึ้น จากการขาดออกกำลังกาย ผลข้างเคียงของยา แนะ 4 วิธีดูแลใจอยู่กับโรคเบาหวาน

วันนี้ (14 พ.ย.) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 9 "นครชัยบุรินทร์" กล่าวว่า วันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งครอบคลุม 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ในปี 2562 มีรายงานผู้ป่วยเบาหวานขึ้นทะเบียนรักษา 312,797 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและวัยแรงงาน พบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยเดือนละ 3,100 คน ที่เป็นห่วงคือปัญหาความเครียดและซึมเศร้า จะมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษาโรคเบาหวาน โดยมีผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนปกติทั่วไปประมาณ 2 เท่า เมื่อมีปัญหาซึมเศร้าจะทำให้การดูแลตัวเองแย่ลง ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเครียดจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย เช่น โรคหัวใจ ไตเสื่อม โรคสมองเสื่อม เป็นต้น จึงให้ รพ.ในเขตพื้นที่ทุกแห่ง ดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบองค์รวมทั้งกาย-ใจ-สังคม ทำการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังความเครียดและภาวะซึมเศร้าให้ผู้ป่วยเบาหวานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องมือมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต จะทำให้ค้นหาปัญหาได้รวดเร็วและสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันการ

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะรายใหม่ มี 4 ข้อแนะนำ คือ 1. ทำความเข้าใจกับโรคให้ดีที่สุด โดยสอบถามอาการและการรักษาจากแพทย์หรือพยาบาลให้เข้าใจ จะทําให้เกิดความมั่นใจ คลายความกลัว ความกังวลและปฏิบัติตามคำแนะนำ 2. เข้าร่วมกิจกรรมที่รพ.จัดขึ้นร่วมกับเพื่อนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะได้รับความรู้และวิธีการปฏิบัติตัวที่สำคัญเช่นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การดูแลจิตใจให้แจ่มใส และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆกับผู้ป่วยด้วยกันด้วย 3. หากรู้สึกว่าอารมณ์ตึงเครียด ให้สลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ เช่นฝึกการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง นั่งสมาธิ ฝึกการผ่อนคลาย เป็นต้น สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน และ 4. หมั่นดูอารมณ์ หากรู้สึกว่าอารมณ์ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่ายชีวิต จิตใจหดหู่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิทํางานหรือทํากิจวัตรประจําวัน โดยมีอาการติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ขอให้รีบปรึกษาอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

"สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรดูแลให้กำลังใจเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว อยู่คนเดียว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือพาไปพบแพทย์ตามนัดหรือพาไปเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม งานบุญต่างๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ ควรยกย่องคุณค่าอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีกำลังใจดี ก็จะทำให้การดูแลตัวเองดีตามไปด้วย" นพ.กิตต์กวี กล่าวและว่า ปัญหาโรคเบาหวานขณะนี้ยังพบในผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้นด้วย สาเหตุทั้งจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เช่น ขาดการออกกำลังกาย และจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่อาจทำให้เพิ่มความอยากอาหาร จึงเน้นการเฝ้าระวังเรื่องน้ำหนักตัวทุกคนอย่างต่อเนื่อง โดยต่อวันมีผู้ป่วยจิตเวชที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยเฉลี่ย 19 คน กลุ่มโภชนาการได้จัดเมนูเฉพาะโรค เพื่อใช้อาหารให้เป็นยาด้วย เช่นเมนูคลีน ซึ่งไม่ใช้เครื่องปรุงรส หรือใช้ความหวานอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และได้นำสมุนไพรหญ้าหวานมาใช้ในเมนูอาหารและเครื่องดื่ม

15 November 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/thongpet/kanchana/Maneewan

Views, 2360

 

Preset Colors