02 149 5555 ถึง 60

 

จิตแพทย์ ชี้ "หนุ่มแว่น" เป็นเรื่องความรุนแรงบนถนน ไม่ควรอ้างโรคทางจิต เหตุมีสิทธิตัดสินใจเลือกคุมอารมณ์

จิตแพทย์ ชี้ "หนุ่มแว่น" เป็นเรื่องความรุนแรงบนถนน ไม่ควรอ้างโรคทางจิต เหตุมีสิทธิตัดสินใจเลือกคุมอารมณ์

จิตแพทย์ ชี้เคส "หนุ่มแว่น" เป็นความรุนแรงบนถนน อย่าพุ่งเป้าที่ปัญหาสุขภาพจิต ชี้หลายโรคอาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ยาก แต่พฤติกรรมตอบสนองอารมณ์ตัวเอง เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบเอง วอนอย่าอ้างปัญหาสุขภาพจิตอธิบายการกระทำไม่ดี ทำภาพลักษณ์ผู้ป่วยติดลบ แนะ 5 ข้อตั้งสติก่อนเดินทาง ลดปัญหาความรุนแรง

จากกรณีนายรชฏ หวังกิจเจริญสุข อายุ 24 ปี ที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ขณะด่าทอคู่กรณีที่ขับรถชน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเหตุการณ์บานปลายถึงขั้นชาวบ้านรวมตัวกัน เพื่อรุมด่าที่สถานีตำรวจ

วันนี้ (24 ต.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางบนท้องถนนเป็นเรื่องเครียดสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากต้องใช้เวลานานอยู่บนท้องถนนที่มีการจราจรติดขัด เกิดมลภาวะ และมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยเคารพกฏจราจรและขับขี่อันตราย ความเครียดต่างๆ เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งบนท้องถนนได้บ่อยครั้ง ซึ่งการบันดาลโทสะบนท้องถนน (road rage) มักพบได้ตั้งแต่การแสดงภาษากาย การแสดงความรุนแรงทางวาจา การทะเลาะวิวาททางกายภาพ หรือแม้แต่การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน โดยส่วนมากมักจะเริ่มจากความรุนแรงเล็กๆ และขยายตัวเป็นความรุนแรงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การทะเลาะกับคนแปลกหน้าบนท้องถนนเล็กน้อย อาจนำไปสู่ปัญหาที่เป็นคดีความทางอาญาได้หากไม่มีวิธีการป้องกันที่ดี

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การป้องกันความรุนแรงในการขับขี่ยานพาหนะ คือ 1.เผื่อเวลาก่อนออกเดินทาง เพราะอาจมีการจราจรติดขัดหรืออุบัติเหตุ จะทำให้เราไม่ร้อนรนในการขับขี่ 2. ตั้งสติก่อนสตาร์ท ให้มีสติรู้ตัวเสมอว่าตนเองกำลังจะไปไหน มีใครรออยู่ และเตรียมสภาพกายและจิตใจให้พร้อมก่อนการขับขี่ 3. สร้างบรรยากาศ อาจเปิดเพลงที่ชอบและร้องตาม หรือพูดคุยเรื่องดีๆ กับคนที่โดยสารมาด้วย 4. อย่าคาดหวัง เพราะต้องพบเจอผู้คนที่มีมารยาทบนท้องถนนแตกต่างกัน จึงไม่ควรคาดหวังว่า เราจะปรับพฤติกรรมของคนอื่นได้ ควรมองการขับขี่ถูกต้องและปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก และ 5. เป็นคนใจดีบนท้องถนน เคารพกฎจราจร แบ่งปันน้ำใจต่อผู้ร่วมเส้นทาง ให้อภัย ไม่เก็บเอาความรุนแรงจากคนอื่นมาใส่ใจ ไม่มองถนนเป็นสนามแข่งที่ต้องมาเอาชนะกัน เน้นเดินทางถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยพร้อมรอยยิ้ม

"ในหลายๆ เหตุการณ์ความรุนแรงบนท้องถนน ที่มีการอ้างถึงอาการป่วยทางสุขภาพจิต สังคมไทยควรทำความเข้าใจว่า แม้การมีปัญหาด้านสุขภาพจิตควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และบางกลุ่มโรค เช่น โรคทางอารมณ์ โรควิตกกังวล จะทำให้มีอารมณ์แปรปรวนง่าย เศร้าเสียใจ หรือหงุดหงิดได้ง่ายกว่าปกติ จนควบคุมอารมณ์ได้ยากก็ตาม แต่พฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ล้วนเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิเลือกวิธีตอบสนองอารมณ์ของตัวเองภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้น ปัญหาสุขภาพจิตจึงไม่ควรถูกยกมาเป็นคำอธิบายในการกระทำไม่ดีต่อผู้อื่นหรือกระทำไม่ดีกับสังคม เพราะจะทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในแง่ลบ โดยขอฝากว่า สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะให้อภัย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตนไม่อยากให้สื่อและสังคมเจาะลึกไปถึงชีวิต หรืออาการป่วยของหนุ่มคนดังกล่าว เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นต้องมองกลับกัน หากเป็นเรามีภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน หลายครั้งเราก็ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงว่า เราป่วยหรือไม่ คนปกติก็มีอารมณ์วีนได้ตลอด สิ่งสำคัญเราควรจัดการความเครียด และควบคุมอารมณ์ตัวเองก่อนจะดีกว่า เพราะหากจะให้ตอบถึงเคสนี้จริงๆ ก็ต้องบอกว่า จากลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่อาการหลักของโรคซึมเศร้า แต่อาจเป็นผลจากภาวะอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อาการของโรค

“สิ่งสำคัญขออย่าไปเจาะลึกชีวิตเขา เพราะหากเป็นเราและเกิดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำอะไรลงไป สุดท้ายโดนตำหนิ ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ครอบครัวก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็จะเครียดมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาหรือเจาะลึกถึงตัวโรคว่า เป็นโรคหรือไม่ หรือเพราะอะไร เพราะจริงๆแล้วสิ่งสำคัญเราต้องนำมาเป็นบทเรียนว่า ความรุนแรงบนท้องถนนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งเรามีความเครียดไม่สามารถจัดการความเครียด ควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งเราสามารถฝึกจัดการความเครียด อารมณ์ด้วยการฝึกหายใจ ซึ่งมีอีกหลายวิธี หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323” นพ.ยงยุทธ กล่าวและว่า สำหรับอาการของโรคซึมเศร้ามี 3 ด้าน คือ 1.อาการเศร้า เบื่อชีวิต เครียด ท้อแท้ 2.มีอาการทางกายของภาวะเศร้า เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เคลื่อนไหวช้า และ 3.มีความคิดตำหนิตัวเอง ไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป

25 October 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1090

 

Preset Colors