02 149 5555 ถึง 60

 

แนวทางผู้ป่วยจิตเวช รับยาในร้านขายยาใกล้บ้าน

แนวทางผู้ป่วยจิตเวช รับยาในร้านขายยาใกล้บ้าน

นครราชสีมา 23 ต.ค.-กลไกลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ 1 ใน 2 โรงพยาบาลนำร่อง คาดว่าจะเริ่มให้ผู้ป่วยทยอยรับยาที่ร้านยาได้ในปลายเดือนตุลาคมนี้

เพราะป่วยด้วยอาการหู่แว่ว ประสาทหลอน มานานกว่า 2 ปี แต่ทุกวันนี้อาการคงที่ รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ป้าอรวรณสนใจร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หวังประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ขั้นตอนการรับยาจิตเวชที่ร้านยาไม่ง่าย เพราะไม่มีผลสุขภาพเชิงประจักษ์เหมือนระดับน้ำตาลในเลือด ค่าความดันโลหิต ต้องอาศัยการประเมินด้วยแบบสอบถามจากเภสัชกร ตรวจสอบลักษณะของยา เช็กวินัยในการทานยา การมีสติรู้ตัว จากนั้นส่งต่อให้จิตแพทย์ประเมินซ้ำ จนมั่นใจว่าไม่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน คล้ายคนปกติ จึงให้รับยาที่ร้านขายยาได้

โปรแกรมประเมินอาการทางจิตเวชถูกคิดค้นให้เป็นเครื่องมือชี้วัดกับเภสัชกรในร้านยา ใช้ตรวจอาการเบื้องต้น 4 โรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคจิตเภท แบบหูแว่วประสาทหลอน อารมณ์แปรปวน ซึมเศร้า และวิตกกังวล หากอาการคงที่ สามารถรับยาในร้านขายยาได้ถึง 8 ครั้ง แต่ครั้งที่ 9 ผู้ป่วยต้องกลับมาพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดการติดต่อ ขณะเดียวกันข้อมูลคนไข้และสื่อสารระหว่างเภสัชกรร้านยากับโรงพยาบาลจะถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะ มั่นใจข้อมูลคนไข้ไม่รั่วไหล

แต่อุปสรรคสำคัญของการรับยาในกลุ่มผู้ป่วยทางจิตใจกลับเป็นเรื่องของจำนวนร้านยาที่เข้าร่วมมีน้อย เพราะเงื่อนไขร้านขายยาที่จ่ายยาจิตเวชต้องมีใบอนุญาตครอบครองและจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 3 และ 4 พร้อมต้องจัดทำบัญชีรายงานการจ่ายยาถึง อย. ด้วย

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา มีร้านขายยาที่สามารถจ่ายยาจิตเวชเข้าร่วมโครงการ 5 ร้าน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สามารถมารับยานอกโรงพยาบาลได้มีมากถึง 300 คน แต่เบื้องต้นสมัครใจรับยาแค่ 6 คนเท่านั้น โดยผู้ป่วยคนแรกจะทยอยรับยาในร้านยาใกล้บ้าน 31 ตุลาคมนี้.

24 October 2562

ที่มา กรมสุขภาพจิต

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1332

 

Preset Colors