02 149 5555 ถึง 60

 

9 สาเหตุเด็กยุคดิจิทัลใจเปราะเสี่ยงฆ่าตัวตาย

9 สาเหตุเด็กยุคดิจิทัลใจเปราะเสี่ยงฆ่าตัวตาย

หนึ่งในปัญหาสำคัญของโลกยุคนี้คือการฆ่าตัวตาย

นี่ก็เพิ่งผ่านพ้นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ปีนี้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดธีมไว้ว่า Working Together to Prevent Suicide โดยวางเป้าหมายบูรณาการทำงานเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในทุกภาคส่วน

ประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 รายต่อปี และมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 รายต่อปี

ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.4 ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับที่ 32 ของโลก

ในขณะที่เกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 4 (เฉลี่ย 26.9 คน) , ญี่ปุ่นอันดับ 14 (เฉลี่ย 18.5 คน) ,อินเดีย อันดับที่ 21 (เฉลี่ย 16.3 คน) , ศรีลังกา อันดับที่ 29 (เฉลี่ย 14.6 คน) , สิงคโปร์ อันดับ 67 ( 9.9 คน) , จีน อันดับ 69 ( 9.7 คน) , ลาว อันดับ 84 ( 8.6 คน) , พม่า อันดับ 94 (7.8 คน) , เวียดนาม อันดับ 101 (7.3 คน) , มาเลเซีย อันดับ 123 ( 5.5 คน) และฟิลิปปินส์ อันดับ 163 (3.2 คน)

งานวิจัยที่สหรัฐอเมริกาหลายปีก่อนบอกว่า จำนวนคนพยายามฆ่าตัวเองมีมากกว่าที่ตายจริงถึง 3 เท่า และส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ แต่เพราะเหตุผลประมาณนี้

“ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

“ชีวิตไม่มีความหมาย”

“เบื่อโลก”

แต่กรณีของไทย ส่วนใหญ่มีสาเหตุเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ที่ไม่ดีกับสามีภรรยา คนรัก พ่อแม่ หน้าที่การงาน ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับปัญหาอื่น ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาทางจิตอื่น ๆ

คำถามคือ ในโลกที่เทคโนโลยีอยู่ล้อมรอบตัว แอพพลิเคชั่นมากมาย มีสารพัด Social Media สิ่งอำนวยความสะดวกเพียบ แต่ตัวเลขคนไทยกลับมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ และมีปัญหาทางสภาพจิต ประมาณ 1.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คน

โลกวันนี้พัฒนามาไกลมาก มีโทรศัพท์มือถือคนละหลายเครื่องหลายเบอร์ สามารถติดต่อที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งยังสามารถดูหนังฟังเพลงได้ตลอดเวลา แต่ทำไมผู้คนยัง “เหงา” “เครียด” “ฆ่าตัวตาย” กันมากมาย จนข่าวการ “ฆ่าตัวตาย” แทบจะมีอยู่ทุกวี่วัน

ล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นกับดาราสาวชาวเกาหลีเมื่อไม่กี่วัน และก่อนหน้านี้ก็เพิ่งเกิดกับดาราชาวไทยเช่นกัน นี่ยังไม่นับรวมนิสิตนักศึกษาชาวไทยที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกหลายราย

ปฏิเสธไม่ได้ ด้วยสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสภาพปัญหา สถาบันครอบครัวก็อ่อนแอ มันส่งผลให้สภาพจิตใจของผู้คนเปราะบางได้ง่าย

ปัจจุบันผู้คนในสังคมมีปัญหาเรื่องภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการขาดทักษะชีวิตในการรับมือกับปัญหาหรือจัดการกับความเครียด

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนวัยทำงานต้องแบกรับความรับผิดชอบ ไม่สามารถหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการตกงาน รวมถึงการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือมีความรุนแรง

ส่วนวัยเกษียณ มักมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ทางสังคม และปัญหาทางการเงิน

ขณะที่เด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง การเรียน ความรัก การเผชิญกับปัญหาในโลกออนไลน์ ฯลฯ

เหล่านี้ นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความอ่อนไหว และเร่งเร้าให้เกิดความเครียด ความกดดัน วิตกกังวล อารมณ์เศร้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะนำไปสู่การป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้

โรคทางจิตเวชคือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับการควบคุมอารมณ์ กระบวนการคิด หรือพฤติกรรม โดยจะแสดงออกผ่านทางอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีสาเหตุมาจากทั้งการพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท รวมถึงปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ปัญหาในชีวิต การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย ประสบการณ์ในอดีต ฯลฯ

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็เป็นเรื่องของต้นทุนชีวิตในวัยเด็กแต่ละคนว่าเติบโตขึ้นมาแบบไหนอย่างไรที่ทำให้พวกเขาจิตใจเปราะบาง ?

9 เหตุที่ทำให้เด็กยุคดิจิทัล “ใจเปราะ” เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

หนึ่ง - พื้นนิสัยใจเปราะบาง

สำหรับคนเป็นพ่อแม่ควรรู้ว่าพื้นนิสัยเดิมของลูกเราแต่ละคนเป็นอย่างไร เด็กบางคนร่าเริงแจ่มใส สามารถเข้ากับเพื่อนได้ง่าย แต่เด็กบางคนมีนิสัยอ่อนไหว เมื่อถูกสิ่งใดมากระทบใจก็จะมีอาการเสียใจมากหรือไม่สามารถรับมือได้ง่าย หรือแม้แต่โดนคนตำหนิก็จะเสียใจมากกว่าปกติ เช่น มีคอมเม้นท์คนต่อว่าบนโลกออนไลน์ บางคนไม่สนใจก็เลิกอ่าน แต่สำหรับบางคนก้าวข้ามไปไม่ได้ เก็บนำมาคิดเสียใจและผิดหวังอย่างแรง คนเป็นพ่อแม่จึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจพื้นนิสัยลูก และพยายามช่วยเหลือด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกตั้งแต่เล็กและทำอย่างต่อเนื่อง

แต่ถึงแม้พ่อแม่จะพยายามปลูกฝังทักษะชีวิตให้ลูกเข้มแข็ง ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถรับมือได้ดี เพราะปัญหาชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จิตใจก็เข้มแข็งเปราะบางแตกต่างกัน อาจจะรับมือได้มากหรือน้อยแตกต่างกันไป

สอง - การแข่งขัน ความเร่งรีบ

ยุคที่เต็มไปด้วยสภาวะการแข่งขัน เต็มไปด้วยความเร่งรีบ จะต้องมีคำว่าชนะ-แพ้, ได้-เสีย เป็นภาวะที่เด็กยุคนี้เผชิญทุกวี่วันทั้งในระบบการศึกษา และรูปแบบการใช้ชีวิต และด้วยการแข่งขันนี่แหละที่ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด ถ้าเด็กที่สามารถรับมือได้ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ผ่านไปไม่ได้ และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองก็มีมาแล้ว

สาม - ถูกขีดเส้นให้เดิน ไม่เป็นตัวของตัวเอง

การถูกขีดเส้นให้เดินก็คือการค่อย ๆ สะสมความเครียดให้เด็ก ในวันที่เด็กยังอยู่ในความปกครองของพ่อแม่ เด็กจะยังไม่ได้สนใจ แต่ทำไปเพื่อให้พ่อแม่รักและชื่นชม แต่เมื่อนานวัน พวกเขาเติบโตขึ้นทุกวัน ได้เรียนรู้โลกภายนอก เมื่อเขาอยากมีชีวิตของเขาที่เขาเลือกเอง ก็จะเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะกับพ่อแม่ และนำไปสู่ปัญหาต่อไปได้

สี่ - เปลี่ยนชีวิตกะทันหัน

เด็กจำนวนมากที่ต้องเปลี่ยนชีวิตกะทันหันชนิดยังไม่ทันตั้งตัว และไม่สามารถจัดการอารมณ์และความเครียดได้ ถ้าจำกันได้เคยมีกรณีที่เด็กในชนบทได้รับทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศ แต่ด้วยความที่ต้องเปลี่ยนชีวิตกะทันหัน ไม่สามารถสื่อสารได้ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือไม่มีโอกาสได้ปรับตัว พยายามร้องขอให้ครอบครัวพากลับบ้าน แต่ไม่เป็นผล สุดท้ายเด็กไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทันทีได้ จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเด็กได้ส่งสัญญานบอกผู้ใหญ่แล้ว แต่ไม่มีใครรับฟังด้วยความเข้าใจ แต่กลับบอกให้เด็กอดทนเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุปัจจัยอื่นด้วย

ห้า - กดดันตัวเอง

มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่กดดันตัวเอง ประเภทฉันแพ้ไม่ได้ ฉันไม่ยอม ฉันต้องได้ ฉันจะไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ฯลฯ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจต้องแบกรับความกดดันทั้งจากครอบครัว โรงเรียน จากคนที่เขารัก หรือแม้แต่กดดันตัวเอง เด็กเหล่านี้จะมีภาวะความเครียดสูง ถ้าสามารถจัดการกับตัวเองได้ก็โชคดี แต่มีเด็กไม่น้อยที่ไม่สามารถแบกรับความกดดันเหล่านี้ได้

แต่ไม่ว่าจะสอนลูกอย่างไร เหนือสิ่งอื่นใดคือตัวพ่อแม่ต้องเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้าน และไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันชีวิตลูก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ต้องมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย การพูดคุยและการให้เวลาในครอบครัว เพื่อพูดคุยสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

หก - ประชด

เรื่องนี้มักเกิดจากสาเหตุความรัก ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่น จะมีเรื่องความยับยั้งชั่งใจเข้ามาร่วมด้วย เช่น น้อยใจคนรักก็เลยประชดกินยาฆ่าตัวตาย หรือประชดพ่อแม่ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เพราะความสัมพันธ์ที่มีช่องว่าง และขาดการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน

เจ็ด - ยืดหยุ่นไม่เป็น

การยืดหยุ่นทางความคิด (Shift / Cognitive Flexibility) เป็นหนึ่งในทักษะของ EF (Executive Functions) การทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับทักษะการคิดเพื่อให้ชีวิตสำเร็จ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิด ยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็สามารถทำใจยอมรับได้ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด ไม่ยึดติดกับความคิดและการกระทำเดิม ๆ สามารถยืดหยุ่น พลิกแพลงแก้ปัญหาและปรับตัวได้ดี

ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่ต้องสร้างให้ลูก ๆ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เพราะเมื่อมีสีขาวก็มีสีดำ หากไม่ขาวหรือดำ ก็ยังมีสีอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อผิดหวังก็มีสมหวัง ถ้าผิดหวังวันนี้ก็อาจสมหวังได้ในวันหน้า หรือสมหวังในวันนี้ ในวันหน้าก็ผิดหวังได้เช่นกัน ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือคิดว่าชีวิตหมดหนทาง

แปด - เป็นคนชอบเก็บตัว

เด็กที่ชอบเก็บตัว พูดน้อย ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ให้คนรู้ว่าคิดอะไร มีภาวะความเสี่ยงสูงที่จะตัดสินใจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ได้บอกเล่าให้ใครฟัง เวลาทุกข์ใจก็ไม่พูด พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหาทางช่วยเหลือพร้อมแสดงออกให้ลูกได้เห็นว่าพร้อมรับฟังลูกทุกเรื่อง และสามารถแบ่งปันเรื่องราวกันได้ หรือต้องพยายามให้เด็กได้ค้นพบวิธีการระบายความเครียด มีงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ฯลฯ

เมื่อลูกตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หรือประสบภาวะผิดหวัง พ่อแม่หรือคนในบ้านต้องไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว อยู่เป็นเพื่อนประมาณห่วงแบบห่าง ๆ ก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เขารู้ว่าเรารักและห่วงเขาเสมอ และพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ

เก้า - หาความสุขง่าย ๆ ให้ตัวเองไม่เป็น

การมีความสุขง่ายๆ กับสิ่งรอบตัว มีความจำเป็นยิ่งในสังคมยุคนี้ ยุคที่ผู้คนก้มหน้าอยู่กับสมาร์ทโฟน อยู่กับเทคโนโลยี สังคมที่ตัวใครตัวมัน แม้ตัวจะอยู่ด้วยกัน แต่ก็ต่างคนต่างอยู่ ทำให้การสร้างสัมพันธภาพในระดับไว้เนื้อเชื่อใจกันเกิดได้ยาก ภาพความสุขรอบตัวของผู้คนหรือสิ่งแวดล้อมก็น้อยลง กลายเป็นผู้คนหันไปพึ่งพาความสุขผ่านเทคโนโลยี

โดยสรุปก็คือต้นทุนชีวิตของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองพอจะรู้ เรายังสามารถเพิ่มทุนชีวิตให้เด็กได้

อย่าทำให้เทคโนโลยีที่มีมากมายในยุคดิจิทัล มาทำให้การสื่อสารและสัมพันธภาพของผู้คนหายไป จนถึงขนาดจิตใจเปราะบาง !!

17 October 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1748

 

Preset Colors