02 149 5555 ถึง 60

 

คลินิกจิตสังคมลดการกระทำความผิดซ้ำได้ถึง 99 %

""คลินิกจิตสังคม"ลดการกระทำความผิดซ้ำได้ถึง 99 %

สสส.-กรมสุขภาพจิต-ป.ป.ส.-ศาลยุติธรรม พัฒนาคลินิกจิตสังคม ฟื้นฟู ปรับทัศนคติผู้ต้องโทษคดียาเสพติด ความรุนแรง ชูความสำเร็จ 5 ศาลนำร่อง ลดทำผิดซ้ำได้ 99 % เตรียมขยายครอบคลุมศาลอาญาและศาลแขวงทั่วประเทศ

นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอาญาตลิ่งชัน กล่าวในการประชุม “ก้าวต่อไปของระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติด และคดีความรุนแรงในครอบครัว ภายหลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” ว่า ได้ริเริ่มนำคลินิกจิตสังคมในระบบศาล ซึ่งเป็นการให้บริการคำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่นักโทษคดียาเสพติดและปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2552 ที่ศาลอาญาธนบุรี มีเป้าหมายเพื่อต้องการแก้ปัญหานักโทษล้นคุกจากการใช้โทษอาญาเฟ้อในปัญหายาเสพติด ซึ่งผู้ต้องโทษคดีเสพยาเสพติดส่วนใหญ่กลับมากระทำความผิดซ้ำ แม้จะเคยผ่านกระบวนการฟื้นฟูโดยคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เคยถูกคุมความประพฤติ หรือได้รับโทษจำคุกมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่สามารถแก้ไขบำบัดฟื้นฟูได้สำเร็จ

“ปัจจุบันมีศาลที่ให้บริการคลินิกจิตสังคม 5 แห่ง ได้แก่ ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดปทุมธานี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน ผลการดำเนินการในปี 2561 ให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและจำเลยทั้งสิ้น 3,544 คดี โดยผู้ต้องหาอยู่ระหว่างในเงื่อนไขของศาล ลดการกระทำความผิดซ้ำได้ถึง 99 % ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ไม่กลับมาทำความผิดซ้ำอีก และในแง่คุณภาพชีวิตช่วยให้ผู้ต้องขังไม่กลับไปเสพยาซ้ำกลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ให้บริการคลินิกจิตสังคมในระบบศาลที่ประสบความสำเร็จ ผู้ต้องโทษสามารถคืนคนดีกลับสู่สังคมได้จริง” นายวัชรินทร์ กล่าว

​ ด้าน ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิชาการเชิงระบบเพื่อให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัว สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมพฤติกรรมของผู้ต้องโทษที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

แต่การแก้ปัญหาระยะยาวควรฟื้นฟูสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้แก่ผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่สำนวนสั่งฟ้องถึงมือผู้พิพากษาจะใช้ดุลยพินิจว่า กรณีใดที่ควรเข้ากระบวนการคลินิกจิตสังคม โดยมีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมเบื้องต้น ทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้คำปรึกษา” เป็นผู้รับฟัง-พูดคุย-ลดความเครียด-ช่วยให้ผู้ต้องหา/จำเลยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนเอง ให้แนวทางการตั้งเป้าหมายชีวิตในเชิงบวก โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ ป้องกันการเสพซ้ำและกระทำผิดซ้ำ

ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าวด้วยว่า หัวใจความสำเร็จของคลินิกจิตสังคมในระบบศาลคือ การพัฒนาสมรรถนะของผู้ให้คำปรึกษาด้วย 4 หลักสูตรที่พัฒนาโดยสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้แก่ การให้คำปรึกษาเบื้องต้น การจัดการภาวะเสพติด การให้คำปรึกษาครอบครัว และการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม

ตลอดระยะเวลา 10 ปีของคลินิกจิตสังคมในระบบศาล ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. กรมสุขภาพจิต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนารูปแบบ/หลักสูตรการให้คำปรึกษา ระบบบันทึกข้อมูลประมวลผลบริการ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เป็นผู้ให้คำปรึกษา ตลอดจนการสงเคราะห์ต่อเนื่อง เป้าหมายต่อไปคือ การขยายไปยังศาลอาญาและศาลแขวงทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน

16 October 2562

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1303

 

Preset Colors