02 149 5555 ถึง 60

 

เยาวชนยื่น 3 ข้อเสนอเพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพจิต "สาธิต" หนุนเปิดคู่สายด่วนเพิ่ม 2 เท่า

เยาวชนยื่น 3 ข้อเสนอเพิ่มเข้าถึงบริการสุขภาพจิต "สาธิต" หนุนเปิดคู่สายด่วนเพิ่ม 2 เท่า

แกนนำเยาวชน ยื่น 3 ข้อเสนอเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในวัยรุ่น หลังหลายรายเข้าไม่ถึง ทำร้ายตัวเอง ด้าน รมช.สาธิต รับข้อเรียกร้อง พร้อมดูแลเต็มที่ ห่วงแนวโน้มทำร้ายตัวเองคนอายุต่ำกว่า 30 ปีมีมากขึ้น ห่วงคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 2 ชม. แนะรับฟังกันมากขึ้น พร้อมเปิดคู่สาย 1323 เพิ่มจาก 10 เป็น20 คู่สาย เล็งเอาธรรมะสร้างภูมิคุ้มกันวัยรุ่น

วันนี้ (10 ต.ค.) เครือข่ายสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยแกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ แกนนำสภาเด็กและเยาวชน เดินทางมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเสนอแนวทางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น เนื่องในวัน "สุขภาพจิตโลก" เนื่องจากพบปัญหาเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไม่ถึงการบำบัดรักษาด้านสุขภาพจิตโดยตรง เนื่องจากสถานพยาบาลมีการตีความมาตรา 21 พ.ร.บ.สุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 แตกต่างกัน ทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการ บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้กรมสุขภาพจิตทำหนังสือเวียนถึงหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตและหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อชี้แจงและซักซ้อมแนวปฏิบัติในกรณีผู้ที่อายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม ยกเว้นกรณีที่ต้องรับไว้รักษาในสถานพยาบาลหรือสถานบำบัดให้ชัดเจน 2.ขอให้ผู้รับบริการเข้ารับการรักษาได้ในทุกหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อลดขั้นตอนการทำเรื่องขอใบส่งตัวจากสถานพยาบาลตามสิทธิ ในกรณีที่ไม่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาที่รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และ 3.ขอให้มีตัวแทนเด็กและเยาวชนในคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ หรือคณะทำงานด้านนโยบายสุขภาพจิต เพื่อเสนอประเด็นปัญหาที่มีผลต่อเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน รวมถึงการวางแนวทางปฎิบัติที่เด็กและเยาวชนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้าน นายสาธิต กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง ข้อ 1 และข้อ 3 สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนข้อ 2 จะต้องนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยอมรับว่าปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน มีตัวเลขที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการเรียน เศรษฐกิจ ครอบครัว การใช้เทคโนโลยี หรือแม้แต่เรื่องการเมือง โดยสถานการณ์ในภาพรวมระดับประเทศของไทย พบว่ามีคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 9.55 คนต่อนาที และมีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมง อัตราการฆ่าตัวตายรวมทั้งปีประมาณ 4 พันคน ซึ่งไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่พบแนวโน้มการทำร้ายตัวเองมากขึ้นในคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเน้นการใส่ใจรับฟังคนรอบข้างให้มากขึ้น และในปี 2563 กรมสุขภาพจิตจะมีการเปิดคู่สายสายด่วนสุขภาพ 1323 เพิ่มขึ้นจาก 10 คู่สายเป็น 20 คู่สาย ยอมรับว่า อาจจะยังน้อยอยู่ แต่การทำงานเรื่องนี้ต้องการคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ นอกจากนี้ จะมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การปล่อยวาง เข้าใจ ก้าวข้าม เเละรู้จักความผิดหวัง มาให้เยาวชนได้เรียนรู้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิต โดยได้ตั้งงบประมาณไว้แล้ว เเละจะนำมาเริ่มใช้ในปี 2563

"ขณะนี้ น่าเป็นห่วงเยาวชนกลุ่มวัยรุ่นมาก เนื่องจากที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องประสานกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมสุขภาพจิต เพื่อจัดทำโครงการดูแลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการการรับฟังมากขึ้น ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงในการส่งนักสุขภาพจิต ไปช่วยให้คำแนะนำวิธีการสังเกตอาการของเด็กที่อยู่ในภาวะปัญหาสุขภาพจิต” นายสาธิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนมารับมอบหนังสือจากเครือข่ายเยาวชน นายสาธิต ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมและแถลงข่าวเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2562 ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อธีมงานว่า “Talk to ME” คือ มาคุยกับฉัน ฉันพร้อมจะรับฟังเธอ เพื่อสร้างให้คนไทยเป็นผู้รับฟังที่ดี หยิบยื่นความช่วยเหลือออกไปสู่สังคม โดย “ME” ย่อมาจากคำว่า “Mental Health Education” หรือ การสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพจิตให้กับทุกคนในสังคมไทย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วยการเสวนา ME Film สุขภาพจิตบนแผ่นฟิล์ม เป็นงานเสวนาที่กรมสุขภาพจิตร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดขึ้น ในแง่มุมของการใช้สื่อภาพยนตร์ให้เป็นสื่อกลางในการส่งต่อความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิต เพื่อเผยแพร่กระจายออกไปสู่สังคมวงกว้าง ซึ่งสื่อภาพยนตร์นั้นในเชิงจิตวิทยาสามารถส่งผลต่อจิตใจของผู้รับชมได้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง อาทิ คุณนนทรีย์ นิมิบุตร, คุณปรัชญา ปิ่นแก้ว, คุณบัณฑิต ทองดี และกิจกรรม ME Talk : ม้านั่งสีขาวกับเรื่องราวของฉัน ตอน “9.55 เวลาชีวิต” นับเป็นงาน Talk สุขภาพจิตครั้งแรกในประเทศไทย โดยการสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราวด้านสุขภาพจิตของผู้พูด ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย คล้ายกับการเล่าเรื่องราวอยู่บนม้านั่งในสวนสาธารณะที่ร่มรื่น จากบุคคลสำคัญในหลากหลายสาขาวิชาชีพ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต, น้องเกรซ นรินทร Miss Thailand World 2019 และ คุณกอล์ฟ เทยเที่ยวไทย รวมทั้งภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตและจิตเวช บูทกิจกรรม “Food Therapy” “Art Therapy” “Street side Listener” และ “ME Sharing” อีกด้วย

11 October 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 538

 

Preset Colors