02 149 5555 ถึง 60

 

วันสุขภาพจิตโลก

วันสุขภาพจิตโลก

วันที่ 10 ตุลาคม องค์การอนามัยโลกถือเป็นวันสุขภาพจิตโลก เพื่อให้ผู้คนสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นสาเหตุของการตายสูงอันดับต้นๆ และเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ปีนี้ เขาเน้นที่เรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย

ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 14.4 ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ไม่น่าภูมิใจเลย อาจจะพอปลอบใจตัวเองได้บ้างว่า เกาหลีใต้ฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 4 (เฉลี่ย 26.9 คน) ญี่ปุ่นอันดับ 14 (เฉลี่ย 18.5 คน) อินเดีย อันดับที่ 21 (เฉลี่ย 16.3 คน) ศรีลังกา อันดับที่ 29 (เฉลี่ย 14.6 คน)

ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ล้วนอันดับต่ำกว่าไทย สิงคโปร์ อันดับ 67 ( 9.9 คน) จีน อันดับ 69 ( 9.7 คน) ลาว อันดับ 84 ( 8.6 คน) พม่า อันดับ 94 (7.8 คน) เวียดนาม อันดับ 101 (7.3 คน) มาเลเซีย อันดับ 123 ( 5.5 คน) และฟิลิปปินส์ อันดับ 163 (3.2 คน)

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ บอกว่า ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี โดยเป็นเพศชาย 80.4% ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี 2561-2562 พบว่าเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ 53.04% ปัญหาจากสุรา 29% โรคทางกาย 25.7 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 19% โรคทางจิต 12% และโรคซึมเศร้า 7.8%

ไม่มีข้อมูลว่า ล่าสุดคนพยายามฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จมีจำนวนเท่าใด การวิจัยที่สหรัฐอเมริกาหลายปีก่อนบอกว่า จำนวนคนพยายามฆ่าตัวเองมีมากกว่าที่ตายจริงถึง 3 เท่า และส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ แต่เพราะ “ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” “ชีวิตไม่มีความหมาย” “เบื่อโลก”

กรณีของไทย แพทย์บอกว่า สาเหตุสำคัญเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ที่ไม่ดีกับสามีภรรยา คนรัก พ่อแม่ หน้าที่การงาน ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆ ทั้งหมด (จนบางครั้งแยกไม่ออก) โดยเฉพาะปัญหาทางจิตอื่นๆ ที่ควรรู้ ขอสรุปข้อมูลจากโรงพยาบาลรามา 5 โรคสำคัญทางจิตเวชที่คนไทยควรรู้

1.โรคแพนิค โรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติมีการทำงานที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการแพนิค ได้แก่หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด จุกแน่น เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือเหมือนกับจะถึงชีวิต กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นมาอีก หรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นบ้า มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเกี่ยวเนื่องกับอาการ เช่น ไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยได้ไหม หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ

2.โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง หากมีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย ความคิดเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้คุณค่า หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง รู้สึกสิ้นหวัง อาจมีความคิดอยากตาย สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว

3.โรคจิตเภท ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว มีภาพหลอนเกิดขึ้น และจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยบางรายเมื่อพบว่าตนเองอาการดีขึ้น มักคิดว่าหายแล้วและหยุดใช้ยา ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก

4.โรคไบโพลาร์ โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง อาการช่วงนี้จะเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอาการแมเนีย ซึ่งจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้เลย

5.โรคสมองเสื่อม พบมากในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คนเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอย เช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าตนเองวางไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับเรื่องที่ทำ แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โรคนี้มีลักษณะคือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมา เป็นต้น

ตัวเลขคนไทยมีปัญหา “ทางจิต” ประมาณ 1.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 คนมีปัญหา ซึ่งก็คงไม่แน่ชัดนักว่า เครียดหรือบ้าขนาดไหนถึงรวมเข้าไปในคนประเภทนี้ ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง (paradox) ของโลกวันนี้ที่พัฒนามาไกลมาก มีมือถือคนละหลายเครื่องหลายเบอร์ โทร.ถึงใครต่อใครที่ไหนได้หมด ดูหนังฟังเพลงได้ตลอดเวลา แต่ยัง “เหงา เครียด บ้า ฆ่าตัวตาย” กันมากมายขนาดนี้

แล้วเกี่ยวโยงไปถึงการทะเลาะกัน ตีกัน ฆ่ากัน ปัญหาอาชญากรรม ฆ่ากันตายในอัตราที่สูง บ่งบอกถึงควมเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณของสังคม

9 October 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 2389

 

Preset Colors