02 149 5555 ถึง 60

 

สัญญาณเตือน "ซึมเศร้า" เสี่ยงทำร้ายตัวเอง

สัญญาณเตือน "ซึมเศร้า" เสี่ยงทำร้ายตัวเอง

แพทย์เผย โรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่คิดมาก อยากให้ช่วยกันสังเกต WHO เตือนภายใน 2030 ซึมเศร้าจะเข้าครองโลก

ถ้าพูดถึงโรคทางกายอันดับต้น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตทั่วโลกคือ “หัวใจและหลอดเลือด” อย่างไรก็ตาม นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ บอกว่า แต่จากนี้ไปอาจจะต้องคำนึงถึงปัญหาทางจิตมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะ “โรคซึมเศร้า”

        

“องค์การอนามัยโลก พยากรณ์ไว้ใน Provisional agenda item 6-2 ว่า ตั้งแต่ปี 2011 ในราวปี 2030 นั้นโรคซึมเศร้า จะขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก ประมาณการเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังหลักให้กับประเทศชาติ”

    

นพ.กฤษดา ระบุว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัยมา “รุม” เกิด เช่นสังคม จิตใจหรือทางชีวภาพจากสารเคมีสมองไม่ปกติ เกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบซึมเศร้าหนักนาน ซึมเศร้าต่อเนื่องนานกว่าร่วมกับอารมณ์ผิดปกติ และโรคซึมเศร้าแบบไบโพลาร์หรือ 2 ขั้วที่อาจแสดงออกด้วยการชอปปิงมากมายจนเป็นหนี้บัตรเครดิตก็ได้

    

“ทั้งนี้ โรคซึมเศร้ารุนแรง มีความ  เสี่ยงทำร้ายตัวเองมากถึง 1.4 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป”

        

“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยา ใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์อาการจึงดีแบบเห็นชัด มีรายงานว่าคนไข้จะตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าตัวแรกที่ให้ แต่หากยังไม่ดีแพทย์จะทำการปรับหรือเปลี่ยนให้ แต่ไม่อยากให้หยุดหรือลดขนาดยาเอง

        

“แต่คำถามคือ ทำไมยังมีการทำร้ายตัวเองของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอย่างน่าตกใจ นั่นเป็นเพราะมีผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ถึง 50% ที่เข้าสู่ขั้นตอนรักษา หรือในหลายประเทศมีตัวเลขที่เข้ารักษาไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ” 

        

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้เบื้องต้น สัญญาณที่ผู้ป่วยสะท้อนออกมา อาทิ อารมณ์เปลี่ยนไป อ่อนไหวในเรื่องเล็กน้อย, ร้องไห้บ่อย, หงุดหงิดง่าย ผิดกับเมื่อก่อน,   ไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ, ไม่มีสมาธิ-ขี้ลืม โดยเฉพาะเรื่องใหม่ ๆ เช่นเพิ่งวางของไว้ก็ลืม ใจลอย ไม่อาจจดจ่อกับสิ่งเดิม ๆ ได้เช่น อ่านหนังสือได้ประเดี๋ยวก็วาง, ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

        

นอกจากนี้ ยังอาจจะมีอาการ นอนผิดปกติ อาจนอนมากหรือนอนไม่หลับก็ได้ อ่อนเพลียไม่มีแรงเหมือนคนไร้พลังจากข้างใน, น้ำหนักลดหรือน้ำหนักเพิ่ม จากภาวะกินผิดปกติไปจากเดิม, ปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างไม่เหมือนเดิม อาจเก็บตัว พูดน้อย ขี้หงุดหงิดหรือทะเลาะกับแฟนบ่อย ๆ, ประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงานแย่ลง ไร้สมาธิและรู้สึกหมดพลังจากข้างใน จนถึงขั้นไม่อยากทำงาน หยุดงานหรือขาดเรียนบ่อย

       

จะเห็นว่า มีสัญญาณมากมายที่ผู้ป่วยซึมเศร้าพยายามส่งถึงคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นเราต้องใส่ใจ และรับฟังคนใกล้ตัวให้มาก และถ้าพบคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ สามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินการรักษา ซึ่งมียารักษาที่มีประสิทธิภาพ หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพียงอาการที่คล้ายกับโรคซึมเศร้าได้ หากเป็นกรณีนี้ก็จะได้หาทางแก้ไขต่อไป

        

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า คือการรับประทานยาบางชนิด อาทิ    ยากลุ่มสเตียรอยด์และฮอร์โมน, ยาลดความดันโลหิตอย่างโพรพราโนลอลหรือยารักษาโรคพาร์กินสัน นอกจากนั้นยังมีโรคเนื้องอกในสมอง, ไทรอยด์ ตํ่าหรือขาดวิตามิน เป็นต้น

       

“แต่ไม่ว่าจะอย่างไรขอให้ทราบว่าอย่าหมั่นไส้หรือ ใส่อารมณ์กับผู้ป่วยซึมเศร้าว่าเขาแกล้งทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ” นพ.กฤษดา กล่าว

อย่างน้อย สามารถโทรฯปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/733823

2 October 2562

ที่มา เดลินิวส์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1332

 

Preset Colors