02 149 5555 ถึง 60

 

เด็กเจอภัย "เหล้ามือสอง" 24% ทั้งดุด่าทุบตี จากพ่อแม่อันดับหนึ่ง ชี้ลดเข้าถึงน้ำเมา ลดคดีรุนแรงครอบครัว

เด็กเจอภัย "เหล้ามือสอง" 24% ทั้งดุด่าทุบตี จากพ่อแม่อันดับหนึ่ง ชี้ลดเข้าถึงน้ำเมา ลดคดีรุนแรงครอบครัว

เปิดผลวิจัย เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเหล้ามือสองถึง 24% ทั้งถูกดุด่าทุบตี ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย เห็นเหตุการณ์ความรุนแรง อันดับหนึ่งมาจากพ่อแม่ คนแปลกหน้า ตามด้วยญาติพี่น้องและเพื่อน ยิ่งครอบครัวขี้เหล้ายิ่งเสี่ยงเพิ่มกว่า 3.3 เท่า หวั่นเด็กโตขึ้นสร้างปัญหาสังคม ย้ำต้องตัดวงจร มีมาตรการคัดกรองเด็กเสี่ยง ส่งพ่อแม่บำบัดก่อนเกิดเหตุ พบลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ ทั้งขึ้นราคาและเวลาห้ามจำหน่าย ช่วยลดคดีความรุนแรงในครอบครัวได้

วันนี้ (23 ก.ย.) น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายในงานเสวนา "สถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยในครอบครัวนักดื่ม" จัดโดย สสส. ว่า สถานการร์บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2560 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี หรือกลุ่ม “นักดื่มหน้าใหม่” จำนวน 2,282,523 คน หรือร้อยละ 23.91 หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด ที่ระบุว่าดื่มสุราในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนักดื่มประจำและนักดื่มหนักมีสัดส่วนลดลงเพียงเล็กน้อย โดยปี 2557 มีนักดื่มประจำ 703,885 คน ปี 2560 จำนวน 684,598 คน ส่วนนักดื่มหนัก ปี 2557 จำนวน 1,122,797 คน ปี 2560 จำนวน 1,005,462 คน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการป้องกัน ประเทศไทยอาจมีเยาวชนเป็นนักดื่มประจำและนักดื่มหนักเพิ่มมากขึ้น และไทยยังขาดนโยบายเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมการผลิตเบียร์เชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศที่น่ากังวล และเป็นอุปสรรคต่อการลดจำนวนกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่

ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่มในประเทศไทย หรือภัยเหล้าที่เราไม่ได้ดื่ม ในกลุ่มประชากรไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,695 คน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 79 เคยได้รับผลกระทบจากภัยเหล้ามือสองอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยร้อยละ 76.8 ได้รับผลกระทบด้านจิตใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะเพราะการดื่มของคนแปลกหน้า หวาดกลัวเมื่อเผชิญคนแปลกหน้าที่ดื่มตามถนน เป็นต้น ร้อยละ 42 ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น คนในครอบครัว เพื่อนไม่ทำงานเพราะเมา เคยมีปัญหาครอบครัวจากการดื่มของคนอื่น ขณะที่เด็กและเยาวชนไทยร้อยละ 24.6 เคยได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ของคนอื่น โดยร้อยละ 9.5 ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรง เช่น ร้อยละ 7.4 ถูกดุด่าอย่างรุนแรง ร้อยละ 3.5 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 1.7 ถูกตี ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ร้อยละ 10.7 อยู่ในสภาวะแวดล้อมเสี่ยงไม่เหมาะสม เช่น ร้อยละ 7.4 เคยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 5.2 มีเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กที่ดูแล และร้อยละ 0.1 เด็กที่ดูแลเคยไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การอยู่ในครอบครัวที่มีคนดื่มอย่างหนัก จะเพิ่มโอกาสเด็กได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็น 3.3 เท่าของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่มหนัก

ภญ.อรทัย กล่าวว่า สำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มพบว่า ส่วยใญ่ ร้อยละ 5.7 มาจากการดื่มของพ่อแม่ ร้อยละ 5.7 มาจากการดื่มของคนในชุมชนหรือคนแปลกหน้า ร้อยละ 3.5 มาจากการดื่มของญาติพี่น้อง และร้อยละ 1.4 มาจากเพื่อน ทั้งนี้ ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นความรุนแรงต่อเด็กรูปแบบหนึ่ง ส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจ คุณภาพชีวิตและพัฒนาการของเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะหากมีมาตรการคัดกรองเด็กที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง หากสามารถคัดกรองส่งพ่อแม่ที่มีการดื่มไปบำบัดรักษาและช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ จะช่วยลดความรุนแรงหรือช่วยก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้ อย่างประเทศอังกฤษก็จะมีมาตรการตรงนี้ รวมถึงต้องมีมาตรการลดการเข้าถึงแอลกอฮอล์ตั้งแต้ต้นน้ำ ซึ่งมีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ถ้าขึ้นราคาสุรา 1% จะลดความรุนแรง 3.1-3.5% ขณะที่งานวิจัยพบว่า ชุมชนไหนมีจำนวนร้านเหล้ามาก ก็จะมีรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวมากเช่นกัน แต่เมื่อลดจำนวนชั่วโมงจำหน่ายเหล้า กลับพบว่า จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวลดลงไปด้วย การไปใช้ห้องฉุกเฉินในรพ.จากเหล้าลดลง ดังนั้น จึงต้องตัดตอน บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลดสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง เพิ่มกิจกรรมเชิงบวกกับเยาวชน เพื่อ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัย เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งว่า ครอบครัวที่มีนักดื่มนั้น การผลิตซ้ำซึ่งความรุนแรงจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนกว่าจะถึงจุดแตกหักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีนัยยะไม่ต่างจากใบอนุญาตให้เด็กๆใช้มันต่อไปหรือผลิตซ้ำได้ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความชอบธรรมที่จะนำไปสู่นโยบายในเชิงป้องกัน เชิงเยียวยาอย่างเป็นระบบ เช่น 1.พ่อแม่หรือครอบครัวที่เป็นนักดื่มต้องเข้าถึงการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ 2.การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวต้องไม่เน้นการรักสถาบันครอบครัวแต่ต้องเน้นการปกป้องผู้ถูกกระทำ 3.องค์กรที่รับผิดชอบเยาวชนที่ผ่านความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นระดับถูกกระทำ ระดับรู้เห็นหรือประจักษ์พยาน ต้องไม่ซ้ำเติมหรือผลิตซ้ำความรุนแรงกับเยาวชนโดยเด็ดขาด เพื่อปฎิบัติการเพื่อสื่อสารกับเยาวชนอย่างตรงไปตรงมาบนความเคารพในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

24 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By NitayapornThongpet/Kanchana

Views, 861

 

Preset Colors