02 149 5555 ถึง 60

 

"น้องเกรซ" มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ร่วมอบรมจิตอาสาผู้ฟังที่ดี ป้องกันคนฆ่าตัวตาย แนะ 3 เทคนิครับฟัง

"น้องเกรซ" มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ร่วมอบรมจิตอาสาผู้ฟังที่ดี ป้องกันคนฆ่าตัวตาย แนะ 3 เทคนิครับฟัง

"น้องเกรซ" มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ร่วมอบรมเป็นจิตอาสาผู้ฟังที่ดี รณรงค์คนไทยรับฟังคนรอบตัวมากขึ้น หวังลดปัญหาฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตแนะ 3 วิธี การเป็นผู้รับฟังที่ดี

วันนี้ (2 ก.ย.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกิจกรรมโครงการ Let Me Hear You พัฒนาจิตอาสาผู้ฟังที่ดี เพื่อสร้างกระแสสังคมให้เป็นผู้รับฟังที่ดี ป้องกันการฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า กรมสุขภาพจิต ได้แต่งตั้ง น้องเกรซ น.ส.นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ Miss Thailand World 2019 เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ทูตด้านสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการ เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์การทำงานด้านสุขภาพจิต และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เปิดใจรับฟังกันมากขึ้น และเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยน้องเกรซได้มาร่วมเปิดตัวโครงการ “Let Me Hear You” โครงการรณรงค์ให้คนในสังคมเป็นผู้ฟังที่ดีให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการรับฟังคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างทั้งในสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา ให้ได้ระบายความทุกข์ใจ ความเศร้าใจ ซึ่งจะทำให้คลายเครียด มีกำลังใจ และมีความสบายใจมากขึ้น เป้าหมายเพื่อลดการสูญเสีย รวมทั้งลดอัตราการฆ่าตัวตายในสังคมไทย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จิตอาสาผู้ฟังที่ดีจากโครงการนี้ จะกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ ของสังคม เพื่อทำกิจกรรม Street Side Listener ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการคนรับฟัง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และเข้าร่วมโครงการ “หัวใจมีหู” ในวันที่ 9 ก.ย. เพื่อจัดกิจกรรมเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ต่อไป สำหรับเทคนิคการเป็นผู้รับฟังที่ดีนั้น มี 3 ประการ คือ 1. การฟังด้วยหู คือ การรับฟังเรื่องราว เนื้อหา สาเหตุ 2. การฟังด้วยตา คือ การฟังสีหน้า ท่าที กิริยา และ 3. การฟังด้วยใจ คือ การรับฟังอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการลึกๆ ในใจ นอกจากนี้ คุณสมบัติของการเป็นผู้ฟังที่ดี ได้แก่ ใจที่พร้อมเปิดรับฟัง การจับประเด็นและสรุปใจความสำคัญได้ การจับความรู้สึกของผู้พูดและสะท้อนความรู้สึกได้ การยอมรับอย่างไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แนะนำสั่งสอน หรือเล่าเรื่องตัวเองแทน และหลังจากจบการรับฟังแล้ว ผู้ฟังจะไม่เก็บความทุกข์ของผู้อื่นไว้กับตัวเอง สามารถผ่อนคลายได้

"สำหรับกระบวนการในการรับฟังนั้น จะมีการสบตา สีหน้าอารมณ์สงบ สร้างความเชื่อมั่น ทักทาย ถามไถ่ เปิดโอกาสให้เล่าอย่างอิสระ สะท้อน ความรู้สึก เช่น เศร้า เสียใจ ทุกข์ใจ กังวลใจ โกรธ โดยเรื่องที่เล่าจะเก็บเป็นความลับ ยกเว้นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิต จะขออนุญาตแจ้งผู้เกี่ยวข้องหรือส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจมีการตกลงกันในการพูดคุย" นพ.เกียรติภูมิ กล่าวและว่า ส่วนของกิจกรรมนั้น น้องเกรซได้เข้าร่วมเป็นจิตอาสาอบรมการเป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมกับเครือข่ายจิตอาสาอีก 50 คน ในกิจกรรม “Workshop สร้างจิตอาสาผู้ฟังที่ดี สู่สังคมไทย” ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ฟังที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญ สามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือคนในสังคมที่มีความเครียดและขาดคนรับฟังที่ดีได้ โดยจิตอาสาที่ผ่านการอบรมกิจกรรมนี้แล้ว จะได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรมสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ฟังที่ดีหลังจากนี้ต่อไป

3 September 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1111

 

Preset Colors