02 149 5555 ถึง 60

 

เพราะเหตุใดดนตรี จึงกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

เพราะเหตุใด 'ดนตรี' จึงกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วยอัลไซเมอร์

"ดนตรีบำบัด" ตัวช่วยกระตุ้นความทรงจำ เมื่อคนที่เรารักตกอยู่ในภาวะความจำเสื่อม สูญเสียความทรงจำ หรือภาวะการรับรู้เสื่อมถอย ความทรงจำที่มีค่าค่อยๆ จางและจากเขาไปเรื่อยๆ เราจะสื่อสารและหาทางให้เขากลับมาพบกับความทรงจำและความรู้สึกครั้งเก่าอีกครั้ง

หลายคนต้องรู้สึกเวลาได้ยินเพลงที่เกี่ยวกับรักครั้งแรก หรือเพลงป๊อปขึ้นชาร์ตติดหู แล้วชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ผู้คนในความทรงจำ หรือบางเพลงฟังแล้วก็เกิดแฟลชแบล็คขึ้นมาแบบอัติโนมัติ นี่ก็เป็นเพราะว่าเพลงสามารถเชื่อมกับความทรงจำส่วนตัวของเราได้ และเมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำส่วนตัวเหล่านั้นก็กลายเป็นความทรงจำระยะยาว แต่ถึงอย่างไร เพลงนั้นก็ยังเชื่อมถึงความทรงจำตรงนั้นอยู่และยังสามารถพาเราลงลึกไปเรียกอารมณ์เก่าๆ ให้กลับมารู้สึกอีกครั้ง

เมื่อเพลงสามารถเรียกภาพความทรงจำของเรากลับมาได้ กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็อาจเป็นแบบนั้นได้เช่นกัน...

มีงานวิจัยหลายที่ชิ้นค้นพบจากการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลายร้อยคน พบว่ามีผู้ป่วยมากมายที่ได้ประโยชน์จากการฟังเพลงที่พวกเขาชอบ เพลงที่พาพวกเขาไปแตะชิ้นส่วนความทรงจำต่างๆ ซึ่งสามารถเชื่อมกับสมองส่วนของความรู้สึกและความทรงจำในระยะยาว มากไปกว่านั้นศาสตร์บำบัดระหว่างดนตรีและความทรงจำ ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนการฟังเพลงสำหรับผู้สูงอายุและดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้กลับมามีชีวิตชีวา และเพิ่มคุณภาพของชีวิตของพวกเขา ภายใต้คอนเซ็ปต์ music trigger-memories (ดนตรีกระตุ้นความทรงจำ) โดยองค์กรที่มีชื่อว่า “Music And Memory” และหลังจากที่องค์กรนี้ได้ทำงานไปสักระยะปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก จนมีผู้นำเรื่องของการฟังเพลงในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไปสร้างเป็นภาพยนต์ ชื่อว่า “Alive Inside”

จากการทดลองหนึ่ง ในปี 1992 โดย Hans Baumgartner, Pennsylvania State University นักศึกษาจำนวน 73 คน แต่ละคนได้รับโจทย์ให้ทำโดยไม่กำหนดเวลา

โจทย์ถามว่า "...เพลงไหนที่ทำให้เขาหวนนึกถึงอดีตของตัวเองในช่วงเวลาหนึ่งได้ชัดเจน?"

ใน 73 คนที่สำรวจ มีเพียง 3 คนที่นึกไม่ออกว่ามีเพลงไหนที่ทำให้นึกถึงความทรงจำพิเศษ คนที่เหลือมีเพลงในความทรงจำหมด โดยจำแนกชนิดของความทรงจำได้ ดังนี้

64% นึกถึงความสัมพันธ์ในอดีตหรือปัจจุบัน ทั้งคนรักและเพื่อน (เช่นเดตครั้งแรก หรือประสบการณ์เพศสัมพันธ์ งานปาร์ตี้ วาระพิเศษที่เกี่ยวกับเพื่อน)

26% ความรักปัจจุบัน

17% ความรักในอดีต

21% การใชัเวลากับเพื่อนฝูง

9% การท่องเที่ยว การเดินทาง

27% อื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ หรือคอนเสิร์ต การตายของคนในครอบครัว ความทรงจำวัยเด็ก ฯลฯ

Cretien van Campen ผู้ศึกษาเรื่องกลิ่นกับความทรงจำ เผยว่า ดนตรีต่างจากกลิ่นที่มักขุดความทรงจำส่วนตัว แต่มักขุดความทรงจำที่มีผู้อื่นมาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะคนรัก ความทรงจำเกี่ยวกับเพลงมักเกี่ยวข้องกับเพื่อน เพราะเพลงมักถูกบรรเลงในวาระพิเศษของชีวิต งานเลี้ยง งานศพ หรืองานแต่งงาน

ในการทดลองอีกชิ้นในปี 2013 พบว่า เพลงนั้นทำให้สมองตื่นตัวในหลายๆ จุด ทั้งส่วนการรับฟัง ส่วนการเคลื่อนไหว และส่วนของอารมณ์ พร้อมเปรียบเทียบไว้ว่า "เพลงคือภาษาของอารมณ์ (Music is language of emotion)"

ปี 2014 คณะนักวิจัยของภาควิชาจิตวิทยาที่ Washington University นำโดยศาสตราจารย์ Henry Roediger III อธิบายว่า เสียงเพลงนั้นประกอบด้วยจังหวะและเนื้อร้องที่มีการสัมผัสอักษร จึงทำงานร่วมกันในการช่วยกระตุ้นศักยภาพของสมองส่วนที่เรียกว่า "ฮิปโปแคมปัส" และเนื้อเยื้อสมองส่วนหน้าที่รับผิดชอบด้านการกระตุ้นและเรียบเรียงความทรงจำให้สามารถดึงความทรงจำต่างๆ ออกมาได้ง่ายขึ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางครั้งเราจึงไม่สามารถเอ่ยปากร้องเพลงใดออกมาได้จนกว่าจะได้ยินจังหวะดนตรีเพลงนั้นขึ้นมาเสียก่อน

นักวิจัยชี้ว่าสมองส่วนที่ตอบสนองต่อเสียงเพลงนั้นวิวัฒนาการมาก่อนสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ด้านภาษา และนักวิจัยหลายคนยังเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาเสียงเพลง ดนตรี และการเต้นรำขึ้นมาเพื่อช่วยในการดึงข้อมูลบางอย่างออกจากความทรงจำ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของศาสตราจารย์ David Rubin แห่งมหาวิทยาลัย Duke ที่ชี้ว่า วรรณกรรมสำคัญของโลก เช่น มหากาพย์ Iliad และ Odyssey รวมทั้งนิยายพื้นบ้านหลายประเทศ ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาโดยใช้วิธีบอกเล่าผ่านบทกวีที่มีสัมผัสสระอักษร และจังหวะเหมือนเสียงเพลง เพื่อให้สามารถถ่ายทอดผ่านยุคสมัยต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ

ศาสตราจารย์ Henry Roediger III สรุปว่า มนุษย์สามารถฝึกฝนพัฒนาสมองให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ และเรียกความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเรียนรู้ที่จะจดจำสิ่งต่างๆเป็นจังหวะดนตรี นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กเล็กในอเมริกาแทบทุกคนจึงต้องถูกฝึกฝนให้จดจำอักษรภาษาอังกฤษเป็นจังหวะดนตรี

ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้หลังจากใช้ดนตรีบำบัด

ผู้ป่วยที่ค่อนข้างเงียบหรือไม่ค่อยสื่อสารสามารถเริ่มที่จะพูดหรือเริ่มเข้าสังคมได้มากขึ้น

ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าจะรู้สึกดีขึ้น

ผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวได้น้อยสามารถขยับตัวได้มากขึ้น

ผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเสื่อมของสมองในส่วนของการรับรู้

นับว่าเป็นโอกาสดีที่คนที่คุณรักจะสามารถสัมผัสความรู้สึกดีๆ ในชีวิตได้อีกครั้ง และตัวคุณเองก็จะพบกับความผ่อนคลาย พร้อมกับได้ปรับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับผู้ป่วยให้ดีขึ้น นับเป็นวิธีบำบัดที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทุนทรัพย์แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงจริงๆ

2 September 2562

ที่มา โพสต์ทูเดย์

Posted By Nitayaporn/Thongpet/Kanchana

Views, 1482

 

Preset Colors