02 149 5555 ถึง 60

 

สมองเสื่อมอารมณ์เหวี่ยง...กับยาโรคจิต

สมองเสื่อมอารมณ์เหวี่ยง...กับยาโรคจิต

ครอบครัวของผู้ป่วยที่เป็นสมองเสื่อมจะทราบดีว่า ผู้ป่วยนอกจากจะมีปัญหาด้านความจำแล้ว ยังมีความผิดปกติที่ร่วมกับความ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เหวี่ยงต่อผู้คนรอบด้าน

เคยพูดเพราะ กลายเป็นหยาบคาย ก้าวร้าว พฤติกรรมการนอนผิดปกติและอาจจะรุนแรงไปถึงหวาดระแวง กลัว มีอาการหลอน คิดว่ามีคนมาขโมยของ จนเอาของไปซ่อน และแน่นอนหาไม่เจอ เลยเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตไปอีก เป็นต้น แต่ก็มีที่ใจดี แจกของ เงินทอง เซ็นเช็ค โอนเงิน จนต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล

ผู้ดูแลแม้จะเป็นคนในครอบครัวเอง จิตตก มีความทุกข์ไปทั้งบ้าน จ้างคนมาดูแล คนป่วยก็ไม่เอาและคนดูแลก็ดูไม่ไหว ออกกันเป็นทิวแถวลักษณะดังกล่าวทำให้มีความต้องการยาที่ทำให้สงบคือยาโรคจิต ซึ่งทำให้นิ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังฤทธิ์ที่ไปกดสมอง ซึ่งมีอยู่น้อยลงอยู่แล้วให้ทำงานน้อยลงไปอีก ทำให้เกิดซึม กลายเป็นยิ่งช่วยตัวเองไม่ได้ใหญ่ มีความดันโลหิตตก มีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ และในอีกระดับหนึ่งทำให้ตัวแข็งมากขึ้น และนำไปสู่ยาที่พยายามจะช่วยอารมณ์ ให้ฟื้นขึ้นมาก็คือยาต้านซึมเศร้า

และถ้ามีอาการตัวแข็งพาร์กินสันก็จะได้ยาในกลุ่มนี้เพิ่มไปอีก

ยาเหล่านี้ร่วมกับยาที่ใช้ในโรคสมองเสื่อม ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เพื่อเพิ่มสารเคมีในสมองพยายามทำให้ดูกระฉับกระเฉงขึ้น แต่แท้จริงเป็นการเร่งสมองที่เหลืออยู่น้อยลงให้ทำงานมากขึ้นไปอีก และในระยะต่อมาจะกระตุ้นสมองไม่เลือกระบบ จนกลับทำให้มีอารมณ์แปรปรวนหนักขึ้นไปอีก

เป็นการยากที่จะให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ยาโรคจิต ยากที่จะเดินสายกลาง แต่เมื่อจะใช้คงต้องใช้ในขนาดและปริมาณที่น้อยที่สุดและหยุดหรือปรับขนาดยาเมื่อเริ่มเห็นอาการที่ไม่พึงประสงค์

ในขณะเดียวกันก่อนที่จะใช้ยาโรคจิต อาจจะมีกลยุทธ์อย่างอื่นที่หักเหอารมณ์ของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจของครอบครัวในตัวโรคนั้นๆ และแม้แต่ต้องไม่ตีความผิดไปว่า การถามซ้ำๆ ซากๆเป็นอาการทางจิต ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเกิดเนื่องจากผู้ป่วยจำไม่ได้ จึงต้องถามแล้วถามอีก และเมื่อบอกแล้วบอกอีก อธิบายแล้วอธิบายอีก ยังไม่จำ ยังไม่เข้าใจ คนดูแลจะหงุดหงิดและเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิตสับสนและในที่สุดนำไปสู่การใช้ยาโรคจิตโดยที่ไม่ได้เป็นอาการทางจิตจริง

นอกจากนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องลดแม้กระทั่งหยุดยาที่ใช้กระตุ้นสมอง ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ได้รักษาหรือชะลอโรคใดๆทั้งสิ้น

รายงานในที่ประชุมสมองของยุโรปในเดือนมิถุนายน 2019 นี้ เป็นรายงานจากประเทศเดนมาร์กซึ่งวิเคราะห์ผลของการใช้ยาโรคจิตในผู้ป่วยที่มีสมองเสื่อมจำนวน 33,000 ราย ที่ระบุในสำนักงานสถิติแห่งชาติ อายุระหว่าง 65 ถึง 95 ปี และมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ระยะชัดเจน (full blown dementia) ระหว่างปี 2009 ถึงปี 2014 จากการศึกษาพบว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้น 35% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา

ทั้งนี้ โดยมี 8,244 รายที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาโรคจิตและอีก 24,730 รายที่ไม่ได้รับยาดังกล่าว ค่าอายุเฉลี่ยขณะที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อม อยู่ที่อายุ 82 ปี และระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ได้รับการ วินิจฉัยสมองเสื่อมถึงเริ่มมีการใช้ยาอยู่ที่ 252 วัน

การศึกษา (โดยดูจาก 180 day mortality, Cox regression model) พบว่าอัตราตายต่อ 100 ผู้ป่วย-ปี อยู่ที่ 58.3 เมื่อเทียบกับ 36.3 ในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาและหลังจากที่ได้ปรับปัจจัยต่างๆ สำหรับอายุและเพศ สัดส่วนของอันตรายอยู่ที่ประมาณ 1.49 (crude hazard ratio. 95% confidence interval, 1.41-1.57)

และแม้เมื่อปรับตัวแปรอื่นๆเช่น ภาวะโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานสภาพสถานพักฟื้นระยะเวลาตามเดือน ปี ตัวเลข ยังคงอยู่ที่ 1.35

จากข้อมูลดังกล่าวคณะผู้ศึกษาสรุปได้ว่าอัตราเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 35%

ทั้งนี้ ถ้ายิ่งมีโรคประจำตัว ความเสี่ยงเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก เมื่อใช้ยาโรคจิต โดยถ้ามี โรคเส้นเลือดหัวใจ หรือสมอง หรือเบาหวาน (78.2 ต่อ 50.9) ถ้าไม่มีจะอยู่ที่ 58.3 ต่อ 36.3

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยสมองเสื่อมเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไรหรือชนิดไหน และไม่ได้บอกว่ายาโรคจิตประเภทที่ใช้เป็นยาในรุ่นแรกหรือในรุ่นถัดมา และไม่สามารถที่จะสรุป ได้ว่ายาโรคจิตประเภท ใด ที่เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จะมีความปลอดภัยสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางคนมีว่าการใช้ยารุ่นเก่า clozapine น่าจะปลอดภัยมากกว่าตรงที่ไม่ค่อยเกิดภาวะตัวแข็ง การทรงตัวไม่ดีที่ทำให้ล้ม อย่างไรก็ตาม ยาโรคจิตทั้งหลายก็มีผลทำให้มีการเต้นของหัวใจผิดปกติร่วมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

เนื้อหาในบทความนี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อมีผู้ป่วยที่มีโรคสมองเสื่อมเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วครอบครัวประสบเคราะห์กรรมไปด้วย และไม่มียารักษาใดๆในขณะนี้ และเมื่อโรคสมองเสื่อมพัฒนาขึ้น มีภาวะจิตอารมณ์แปรปรวน ย่อมนำไปถึงการใช้ยาอีกหลายชนิดซึ่งต้องมีความระมัดระวังสูงสุด เพราะจะ ทำให้ดูแลรักษายากและมีความสิ้นเปลืองมากกว่าเดิมมหาศาล

สุดท้ายอย่าลืมนะครับว่าสารเคมีทั้งหลายโดยเฉพาะสารเคมีพิษยาฆ่าแมลงที่ปะปนใน อาหาร ที่เรากินทุกวัน คือสาเหตุที่สำคัญอีกประการของโรคสมองเสื่อม มะเร็งและแทบทุกระบบของร่างกาย

26 August 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 981

 

Preset Colors