02 149 5555 ถึง 60

 

ใครอยู่ในภาวะ FOMO บ้างยกมือขึ้น

ใครอยู่ในภาวะ FOMO บ้างยกมือขึ้น

ภาวะ Fear of Missing Out หรือที่เรียกสั้นๆน่ารักๆว่า FOMO แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกวันนี้ภาวะดังกล่าวนอกจากจะยังคงเกาะติดอยู่กับใครหลายคนแล้ว ยังขยายตัวไปยังกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยตามความต้องการใช้งานโลกออนไลน์ที่แทรกซึมเข้าไปในทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน จนบ่มเพาะบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ให้กับหลายคนในยุคสมัยนี้ไปโดยปริยาย

โดย FOMO มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ช่วยสร้างที่ยืนและประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการแสดงตัวตนในแบบที่ต้องการผ่านการสร้างกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนอและแบ่งปันภาพถ่ายและเรื่องราวในชีวิต หรือแม้แต่ VDO Live โดยจะเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งครอบคลุมกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่ในผู้สูงอายุก็สามารถพบได้มากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงช่องทางการสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น

ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการความเข้าอกเข้าใจและการยอมรับจากบุคคลอื่น จึงมีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างตัวตนและหาที่ยืนบนโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างมากกว่า ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเหมือนชีวิตจะต้องพลาดสิ่งสำคัญไปหากไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ในเกือบจะทุกๆนาที ไม่ว่าจะเป็นเวลากิน เวลาทำงาน หรือแม้แต่ก่อนนอน ขอเพียงได้แสดงความคิดเห็น ได้แสดงตัวตนให้คนอื่นรู้ว่ากำลังติดตามเรื่องนั้นๆอยู่ รวมทั้งหากได้รู้ได้เห็นเป็นคนแรกหรือได้รู้ว่ามีคนคอยติดตามชื่นชมยินดีเรื่องของตัวเองมากๆ หัวใจก็คงจะพองโตด้วยความดีใจเป็นพิเศษ

ตรงกันข้าม คนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะรู้สึกผิดหวังและเสียใจมากหากไม่ได้ทราบข้อมูลข่าวสารที่ตนสนใจเป็นคนแรกๆ รวมทั้งรู้สึกโกรธหากมีใครไม่สนใจ ไม่เห็นด้วย หรือโต้แย้งความคิดเห็นของตัวเอง ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลาดสิ่งสำคัญจนทำให้สถานะในโลกออนไลน์ของตัวเองสั่นคลอน จึงจำเป็นต้องผลักดันตัวเองให้ต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอภาพสมาร์ทโฟนเพื่อแสดงตัวและเฝ้ารอการแจ้งเตือนสิ่งใหม่ๆจากสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา กลายเป็นการบ่มเพาะบุคลิกภาพที่ขาดความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว เกิดความเครียด วิตกกังวลและตกอยู่ในภาวะ “กลัวการตกกระแส” หรือ FOMO โดยไม่รู้ตัว

หากยังไม่เห็นภาพก็ลองนึกถึงปัญหาเด็กติดเกมดู ผู้ใหญ่อย่างเราคงเคยสงสัยว่าเกมออนไลน์ที่เด็กๆหลายคนนั่งเล่นกันทั้งวันทั้งคืนจนไม่ยอมลุกไปกินข้าว อ่านหนังสือ หรือแม้แต่ไม่ยอมหลับยอมนอนนั้นมีดีอย่างไร ซึ่งสำหรับเด็กแล้วอาจได้รับทั้งความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน การพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา รู้สึกท้าทาย รวมถึงได้เข้าสังคมกลุ่มเพื่อนออนไลน์ที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงและไม่เข้าใจ แม้การเล่นเกมจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ถึงปัญหาด้านสุขภาพและพัฒนาการด้านการเรียนและสังคมของเด็ก

ด้วยเหตุนี้ การเฝ้ามองหน้าจอสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นการบั่นทอนทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ ส่งผลทำให้ชีวิตขาดความสมดุลเนื่องจากต้องแบ่งเวลากิน เวลาทำงาน เวลาครอบครัวและเวลาพักผ่อนไปให้กับกิจกรรมออนไลน์ เกิดความเครียดและวิตกกังวลด้วยกลัวที่จะตกกระแส ขาดความมั่นคงทางอารมณ์ โดยความมั่นใจ ดีใจหรือเสียใจแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์กับโลกออนไลน์ ซึ่งไปบั่นทอนความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ในขณะเดียวกันการจดจ่ออยู่กับกระแสข้อมูลข่าวสารทำให้ขาดสมาธิและขาดประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานซึ่งมีผลโดยตรงต่อความก้าวหน้าในอนาคต

การให้น้ำหนักกับชีวิตบนสื่อสังคมออนไลน์มากเกินพอดีจึงมักก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง เมื่อเป็นดังนี้แล้ว การพิจารณาหาวิธีการป้องกันและแก้ไขจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดผลกระทบ ต่อไปนี้เป็น 5

แนวทางง่ายๆในการดูแลตัวเองไม่ให้ตกอยู่ในภาวะ FOMO กล่าวคือ

1.เริ่มจากการตั้งสติเพื่อทบทวนตัวเองว่าเสพติดสื่อสังคมออนไลน์หรือไม่ โดยในแต่ละวันได้ใช้เวลาไปกับสิ่งนี้มากน้อยเพียงใด พยายามพิจารณาแยกส่วนที่จำเป็นต้องใช้งาน เช่น ใช้เพื่อการทำงานหรือธุรกิจ ออกจากส่วนที่เห็นว่าไม่จำเป็น เช่น เล่นเพื่อผ่อนคลายหรือเพื่อความสนุกท้าทาย

2.พยายามพัฒนาตัวเองในด้านการใช้เหตุผล ฝึกฝนการควบคุมอารมณ์ รวมทั้งปรับความคิดและจิตใจให้เคารพและยอมรับการเป็นตัวของตัวเอง และเคารพผู้อื่น เช่นหากต้องการแสดงตัวตนบนสื่อสังคมออนไลน์ควรต้องหัดควบคุมให้ตัวเองแสดงตัวตนอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและสุภาพ

3.ตั้งเป้าหมายในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดช่วงเวลาและระยะเวลาในการใช้งานให้ชัดเจนพิจารณาตามความจำเป็นของแต่ละคน โดยทั่วไปเวลาที่เหมาะสมคือ ใช้งานวันละไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง

4.ปรับตัวปรับใจโดยพยายามค่อยๆลดการใช้งานลงมากกว่าการงดใช้งานโดยทันที เพื่อไม่ให้รู้สึกเหมือนชีวิตถูกตัดขาดหรือขาดหายอะไรไปจนในที่สุดต้องขวนขวายกลับมาใช้งานตามเดิม

5.สิ่งสำคัญคือ จำเป็นต้องหากิจกรรมอื่นที่เหมาะสมมาทดแทน อาทิ กำหนดกิจกรรมภายในครอบครัวเพื่อเสริมสร้างสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด การพักผ่อน ออกไปท่องเที่ยวหรือทำงานที่จะช่วยพัฒนาทักษะความสามารถของตัวเอง

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของเรานั้นเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ภาวะ FOMO ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงหนึ่งในผลข้างเคียงจากการใช้เทคโนโลยีที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ตัวเราหากรู้จักเลือกใช้ก็จะเป็นโอกาสที่สร้างคุณค่าและอำนวยประโยชน์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

26 August 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 959

 

Preset Colors