02 149 5555 ถึง 60

 

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 81 % รั้งอันดับ 3 ในเอเชีย แบงก์ชาติคลอดมาตรการสกัด

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 81 % รั้งอันดับ 3 ในเอเชีย แบงก์ชาติคลอดมาตรการสกัด

แบงก์ชาติ ออกมาตรการคุมแข้มสถาบันการเงิน วางกรอบนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน หลังพบหนี้ครัวเรือนพุ่งเกือบแตะ 80 % ของจีดีพี เตรียมเซ็น MOU กับแบงก์พาณิชย์ 13 สิงหาคม 62 คุมปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ มีผลบังคับใช้มกราคม 2563

หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงประเด็นถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนออกมาเมื่อปลายปี 61 ซึ่งพบว่าในไตรมาสที่ 4ปีดังกล่าวหนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.6% ซึ่งป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ทั่วโลก และถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกปี 62 สศช.มองว่าหนี้ครัวเรือนของไทย "ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ที่เติบโตขึ้น 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 เป็นต้นมา นั่นเป็นผลมาจากการเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 62 และความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ

ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้ตัวเลขหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัวถึง 9% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.75% ของสินเชื่อรวม และคิดเป็น 27.8% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 59 ขณะยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน ของสินเชื่อบัตรเครดิตกลับปรับตัวลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า

โดย สศช. มองว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 61 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

จากผลดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายหาทางแก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและตัวเลข จีดีพี เป็นที่แน่นอนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ย่อมเปรียบเสมือนหัวเรือนใหญ่เพื่อจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังนั้น ​ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) และสมาชิกสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน (Responsible Lending Directive) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ และเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนของไทยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปี 2561 อยู่ที่ 78.6% ซึ่งสูงอยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค งานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น นานขึ้น” กล่าวคือ คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย คนไทยอายุ 30 ปี ครึ่งหนึ่งมีหนี้แล้ว และประมาณ 1 ใน 5 เป็นหนี้เสีย คนไทยมีหนี้มากขึ้น ค่าเฉลี่ยหนี้ต่อรายเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ขณะที่ยอดหนี้ลดลงไม่มากแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณอายุ เกษียณแล้วหนี้ยังไม่หมด คนไทยอายุ 60 - 69 ปี ยังมีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาท/ราย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นประเด็นที่น่ากังวลใจ เพราะภาคครัวเรือนเป็นหน่วยเศรษฐกิจรากฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญในระดับ ปัจเจกบุคคล คนที่มีปัญหาหนี้สินมักจะเครียดพะวักพะวง ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่ปัญหาเรื่องผลิตภาพทั้งในระดับบริษัทและในระดับประเทศ

ธปท.มองว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องดำเนินการร่วมกัน ดังนั้นธปท. ได้ดำเนินการใน 3 มิติสำคัญ 1.นับตั้งแต่ระยะก่อนก่อหนี้ ผ่านการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงินในเชิงป้องกัน 2. ขณะก่อหนี้ใหม่ ผ่านการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 3. เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกับสถาบันการเงินมากกว่าหนึ่งแห่งให้มีโอกาสปลดหนี้และกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน สถาบันการเงินสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศด้วยการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบมากขึ้น หัวใจสำคัญคือ ในการพิจารณาสินเชื่อนอกจากการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เช่น การดูมูลค่าหลักประกันตามปกติแล้ว สถาบันการเงินต้องให้ความสำคัญกับ 1. ความสามารถในการชำระหนี้และสถานะทางการเงินของลูกค้าที่ควรจะมีเงินเหลือหลังจากผ่อนหนี้ต่อเดือนให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ (affordability) 2.ผลิตภัณฑ์ต้องตรงกับความต้องการและ profile ของลูกค้า และ 3. ไม่เสนอขายหรือชี้ชวนลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ที่จะก่อหนี้เกินความจำเป็น

แนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสมนี้ จะถูกนำไปใช้ใน ทุกกระบวนการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ตั้งแต่การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการเสนอขาย การพิจารณาสินเชื่อ ไปจนถึงการกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม รวมถึงการปลูกฝังวัฒนธรรมในองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบของลูกค้า เช่น การกำหนด KPI ที่ผูกกับเป้าสินเชื่อเป็นหลัก ทำให้พนักงานเน้นการขายโดยไม่ดูความเหมาะสมของลูกค้า หรือ การให้สินเชื่อที่ดูหลักประกันเป็นหลัก โดยไม่พิจารณาภาระหนี้โดยรวม เพราะทำให้หลังจากที่ผ่อนแล้วเหลือไม่พอดำรงชีพ

ธปท. คาดหวังที่จะให้สถาบันการเงิน กำหนดนโยบายการทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยมุ่งเน้นมิให้ลูกค้าก่อหนี้เกินตัว ตลอดทั้งกระบวนการ (end-to-end process) และ จัดทำรายงานประเมินพฤติกรรมการให้สินเชื่อรายย่อย (self-assessment report) เช่น การติดตามเครื่องชี้สินเชื่อปล่อยใหม่ เช่น DSR วงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาผ่อนชำระ วัตถุประสงค์การปล่อยกู้ ควบคู่กับข้อมูล profile ผู้กู้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ภาคครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินจำเป็น และลดโอกาสที่ครัวเรือนไทยจะเกิดปัญหาจากหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตของ สง. และนำไปสู่เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในระยะยาว

8 August 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1408

 

Preset Colors