02 149 5555 ถึง 60

 

"มข."-"รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ"จี้สื่อหยุด!ขายข่าวฆ่าตัวตาย

"มข."-"รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ"จี้สื่อหยุด!ขายข่าวฆ่าตัวตาย

ชี้ข่าวกระทบจิตใจผู้ใกล้ชิดอย่างมาก เน้นทำงานสื่อต้องมีจรรยาบรรณ สำนึกรับผิดชอบสังคม เน้นการดูแลจิตใจซึ่งกันและกันสำคัญมาก พร้อมให้สังเกต 10 สัญญาณเตือน

จากรายงานกรมสุขภาพจิตที่ระบุการฆ่าตัวตายในไทยเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติที่สูงเป็นอันดับ2รองจากอุบัติเหตุ ในปี 61อัตราอยู่ที่ 6.11เพิ่มขึ้นจาก6.03 ในปี 60 ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของ เพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54ปี ล่าสุดพบมาจากการลอกเลียนแบบ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับ โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จัดเสวนา พลังของสื่อกับการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งวงเสวนาเสนอแนะว่าการนำเสนอข่าวต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ระมัดระวังไม่ทำเป็นพาดหัว ไม่เขียนข่าวที่ทำให้สะเทือนใจ หลีกเลี่ยงบรรยายฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ลงภาพหรือฉายคลิปซ้ำๆ หลีกเลี่ยงเน้นย้ำถึงสาเหตุหรือสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดอย่างละเอียด ซึ่งการฆ่าตัวตายแต่ละครั้งมีปัญหาสะสมซับซ้อนมากว่า 1 สาเหตุ

ผู้ทำงานสื่อควรมีจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในวิชาชีพนำเสนอภาพข่าว หรือเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความสำนึกและรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่สมควรช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาสังคมด้วยความสำนึกในวิชาชีพ หากมีกรณีฆ่าตัวตายควรเน้นเสนอข่าวในลักษณะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการโรคซึมเศร้าไปขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือช่องทางอื่นๆ ที่มีประโยชน์

นพ.ธนวัฒน์ ขุราษี จิตแพทย์ ประจำรพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์กล่าวว่า ข่าวฆ่าตัวตายแต่ละครั้งจะกระทบจิตใจแต่ละคน โดยเฉพาะคนใกล้ชิด ซึ่งแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายป้องกันได้จากบุคคลรอบข้าง ครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด ชุมชม และสังคม การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยซักถาม รับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ ให้คลายความเศร้า กังวล ทุกคนช่วยกันได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเองมาก่อน ต้องคอยดูแลใกล้ชิด ช่วยเหลือประคับประคองจิตใจ หรือพาไปรักษากับแพทย์ เช่นเดียวกับในรายที่มีความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งจะมีทั้งใช้ยารักษา โดยต้องกินยาต่อเนื่อง และให้การปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยนความคิดและมุมมองก็จะช่วยได้

“การสังเกตสัญญาณเตือนหรือสัญญาณผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย10สัญญาณ ดังนี้ 1.ประสบปัญหาชีวิต เช่น ล้มละลาย เป็นหนี้ สูญเสียคนรักกะทันหัน พิการจากอุบัติเหตุ 2.ใช้สุราหรือยาเสพติด 3.มีประวัติคนในครอบครัวเคยฆ่าตัวตาย 4.แยกตัว ไม่พูดกับใคร 5.นอนไม่หลับเป็นเวลานาน 6.พูดด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล สีหน้าเศร้าหมอง 7.อารมณ์แปรปรวน จากซึมเศร้าหรือหงุดหงิดมานาน เป็นสบายใจร่าเริงผิดปกติ 8.พูดอยากตาย หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ 9.เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน 10.วางแผนฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า หากพบผู้ที่มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่กล่าวมา ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย รับฟัง ให้ความช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่มีปัญหาสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง”

25 July 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1227

 

Preset Colors