02 149 5555 ถึง 60

 

ฆ่าตัว! ตายพิสดาร เหตุเลียนแบบออนไลน์

ฆ่าตัว! ตายพิสดาร เหตุเลียนแบบออนไลน์

ความโหดร้ายในรูปแบบ “การฆ่าตัวตาย” กำลังเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และแปลกประหลาดมากขึ้น จากการใช้โลกโซเชียลฯ ผนวกเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งกับ “ความตาย” ที่มีการ “ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์” ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมการ “เลียนแบบ”

กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าเดิม และเกิดง่ายกับทุกเพศ...ทุกวัย ไม่เลือกคนรวย หรือคนจน เมื่อมีปัญหาถาโถมเข้ามาจากทุกทิศ ทั้งหนี้สินรุงรัง โรคร้ายคุกคาม ความเครียดสะสมพอกพูน นำมาสู่อารมณ์ชั่ววูบได้

ที่น่าสนใจไม่ใช่เกิดกับบุคคลป่วย “โรคซึมเศร้า” เท่านั้น...หากแต่สามารถเกิดขึ้นกับคนปกติได้เช่นกัน...

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษก กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลสาเหตุของการฆ่าตัวตายในสังคมไทยว่า จากประชากรกลางปี 2560 จำนวน 65,204,797 คน มีอัตราการฆ่าตัวตายทั้งประเทศเท่ากับ 6.03 คนต่อประชากรแสนคน หรือเท่ากับ 3,934 คนต่อปี เฉลี่ยวันละ 11 ราย

การฆ่าตัวตายของผู้ชายมีอยู่ 3,175 ราย ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 759 ราย... ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า ส่วนใหญ่สถานภาพสมรสโสดร้อยละ 49.1 และอยู่ในวัยแรงงานร้อยละ 76.0 มักมีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,343 ราย...ภาคเหนือ 1,067 ราย...ภาคกลาง 1,061 ราย และภาคใต้ 463 ราย

ในช่วงอายุการทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตมากที่สุด คือ อายุ 40-44 ปี และพบว่าผู้ฆ่าตัวตายอายุน้อยลงระหว่าง 5-9 ขวบ 1 ราย ในภาคเหนือ และอายุ 10-14 ปี 16 ราย...มีผู้ฆ่าตัวตายอายุมากสุด 60-64 ปี 284 ราย ในเดือนที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ เดือนสิงหาคม รองลงมา เดือนมีนาคม ด้วยวิธีการแขวนคอร้อยละ 79.82

ที่ผ่านมา “ผู้หญิง” มีโอกาสพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า “ผู้ชาย” แต่ผู้ชายมีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า เพราะเลือกใช้วิธีด้วยความรุนแรง เช่น อาวุธปืน ทำให้ฆ่าตัวตายสำเร็จ

หากเทียบย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายลดลง เพราะกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก ให้ความสำคัญอย่างมาก มองเป็นเรื่องเร่งด่วน มีผลกระทบต่อปัญหาระดับครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ภาพรวมของประเทศ

“ตัวเลขการฆ่าตัวตายของประเทศไทยยังต่ำกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยทั้งโลก 11 คนต่อประชากรแสนคน หากเปรียบเทียบกับประเทศอเมริกาใต้ มีการฆ่าตัวตายสูง 32.2 คนต่อประชากรแสนคน มากกว่าประเทศไทย 5 เท่า หรือประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ 20 คนต่อประชากรแสนคน” นพ.อภิชาติ ว่า

เรื่องนี้ในสังคมไทยเกิดขึ้นมานาน แต่ด้วยอดีตมีช่องทางสื่อสารไม่ดีเท่ากับยุคดิจิทัล หรือยุคโลกโซเชียลฯ ที่มีเหตุการณ์ฆ่าตัวตาย ถูกนำออกแผยแพร่สู่สาธารณชนมากขึ้น และสาเหตุก็แตกต่างตามตัวบุคคลในยุคสมัยนั้น ทว่า...การฆ่าตัวตาย...ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ ไม่มีเลือกเพศ หรือเลือกคนรวย คนจน ทุกคน ทุกอาชีพ มีความเสี่ยงเกิดการฆ่าตัวตายได้ทั้งหมด...

หนำซ้ำ...สังคมกำลังเข้าใจผิดว่า คนที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายต้องป่วยเป็นโรคทางจิตเวชก่อน...อยากให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า ที่ผ่านมาตัวเลขบุคคลฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประวัติป่วย หรือเข้ารักษาตัวทางจิตเวชด้วยซ้ำ สำหรับใน “คนปกติ” ที่มีโอกาสฆ่าตัวตายนั้น มีบางสาเหตุเกิดจาก...“อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติด”...แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจาก “อารมณ์ชั่ววูบ” เช่น บางคนตื่นเช้ามายังดูเหมือนคนปกติ... ตกเย็นอาจพบเจอปัญหาความรุนแรง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ คิดอะไรไม่ออก จนเกิดการฆ่าตัวตายขึ้น

และมักพบการสูญเสียคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือเรื่องผิดหวังจากความรัก ธุรกิจ สังคม รวมถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ที่มีการเจ็บปวดเรื้อรัง เกรงว่าจะเป็นภาระกับลูกหลาน เป็นสาเหตุทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายมากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่อง “หนี้สิน” ที่หลายๆคน หลายๆครอบครัวกำลังเผชิญ นำมาสู่ความไม่สบายใจ ส่งผลให้มีความเครียดสูง และหาทางออกปัญหาหนี้สินไม่ได้ จนเกิดสภาวะกดดัน ตั้งสติไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก

กระทั่งมีอารมณ์ชั่ววูบ มีโอกาสการฆ่าตัวตายในการแก้ปัญหาสูงเช่นกัน

ยิ่งเป็นการฆ่าตัวตาย “วัยเด็ก” ที่เริ่มมีตัวเลขน้อยลง สาเหตุมาจากความผิดหวังของเรื่องการเรียน การปรับตัว ความรัก หรือถูกบุคคลรอบข้างรังแก เกิดความน้อยใจ และหาทางออกไม่ได้

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า...“ผู้ป่วยทางจิตเวช” มีโอกาสก่อเหตุพบบ่อยที่สุด คือ “โรคซึมเศร้า”...เมื่อมีอาการป่วยไม่ได้รักษา หรือปรึกษาแพทย์ ทำให้อาการรุนแรง หรือผู้ป่วยมารับการรักษาตามระบบ แต่ไม่สม่ำเสมอหรือรับประทานยาไม่ครบ มีผลให้อาการแย่ลง นำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายตามมา...

ประเด็นสำคัญ หากมีการดูแลอย่างเต็มที่...ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสหายขาดจากโรคนี้ได้เช่นกัน...และสามารถลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้ในอนาคต

ปัจจุบันรูปแบบการฆ่าตัวตายก็เปลี่ยนแปลง...“แปลกประหลาดมากขึ้น” ตามยุคสมัย มีการใช้เทคโนโลยี หรือโลกโซเชียลฯ เข้ามามีบทบาทเป็นองค์ประกอบหนึ่งรวมอยู่ด้วย จากปรากฏการณ์ “ไลฟ์สดก่อนฆ่าตัวตาย” ของผู้ที่มีปัญหาต้องการฟ้องสังคมในการทำร้ายตัวเอง เพื่อหาคนรับผิดชอบกับปัญหาบางอย่างนี้

อีกด้านหนึ่งเป็นการแสดงให้สังคมได้เห็นถึงความหมดหวังของการเกิดทุกข์ และไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรที่ดีกว่านี้ เพราะคนในโลกนี้ไม่มีใครมีความสุขแล้ว...ฆ่าตัวตาย แต่เพราะบางคนมีปัญหาถึงต้องทำเช่นนั้น

ในความจริง...พฤติกรรมแบบนี้ คือการร้องขอความช่วยเหลืออีกช่องทางหนึ่ง ที่กำลังเผชิญกับปัญหากระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรง แต่ไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นการฆ่าตัวตายโชว์ หรือเรียกร้องความสนใจ จนเป็นเรื่องรำคาญบุคคลอื่น และไม่มีใครสนใจ ส่งผลให้ช่วยเหลือคนกำลังจะฆ่าตัวตายในขณะนั้นไม่ได้

และไม่ควรกดไลค์...กดแชร์ หรือเขียนข้อความซ้ำเติม แต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็วจะดีกว่า ถือว่าเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ ให้สามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้

แถมยังลดปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะบางคนมีความทุกข์และเครียดจัดรุนแรง หาทางออกไม่ได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นคิดสั้น เมื่อมีการเปิดดูโซเชียลฯ พบเห็นลักษณะการฆ่าตัวตายซ้ำๆ อาจส่งผลให้บุคคลนั้นมีความคิดฆ่าตัวตายขึ้นตามมาก็ได้

ที่มา...ของการใช้ถุงครอบหัวฆ่าตัวตาย หรือรมควันฆ่าตัวตาย ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมเลียนแบบทั้งสิ้น อย่าเข้าใจว่ามีความผิดปกติของจิตใจ เพราะคนฆ่าตัวตายมักใช้วิธีการสะดวกง่ายใกล้ตัว เช่น อดีตบ้านสร้างเป็นไม้ มีขื่ออยู่กลางบ้าน ก็ใช้วิธีผูกคอ ในสมัยนี้บ้านเป็นอาคารสูง ไม่มีขื่อแล้ว คนก็ใช้วิธีโดดตึก

มีข้อสังเกตบุคคลแนวโน้ม “คิดฆ่าตัวตาย” มักเริ่มมีอาการซึมเศร้าผิดปกติ แยกตัวออกจากบุคคลอื่น พูดเรื่องความตายซ้ำๆ หรือสั่งเสียทำพินัยกรรม ในเวลาไม่สมควร รวมถึงมีการหาข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ ระบายความรู้สึกว่าอยากตาย...หากมีสัญญาณเหล่านี้ คนใกล้ชิดต้องรีบเข้าไปให้คำปรึกษารับฟังปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการระบายความรู้สึกในใจ จะช่วยลดความคิดฆ่าตัวตายลง หากปัญหาใดแก้ไขได้ทันที ก็ควรดำเนินการ...

แต่ถ้าปัญหานั้นซับซ้อน หรือบุคคลนั้นยังคิดฆ่าตัวตายอยู่ตลอด ต้องรีบพาไปพบแพทย์ หรือติดต่อผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับการมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ หากใครฝึกสมาธิ ตั้งสติ และดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง เผชิญหน้าหาทางออกการแก้ปัญหา อุปสรรค ได้ดีเหมาะสม...

แม้มีปัญหาหนักหนาสาหัสแค่ไหน...ก็มีโอกาสก้าวข้าม “การฆ่าตัวตาย” สูงเท่านั้น.

24 July 2562

ที่มา ไทยรัฐ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 897

 

Preset Colors