02 149 5555 ถึง 60

 

แนะสูงวัยใช้สมองไม่จำเจไกล”โรคสมองเสื่อม”ได้

แนะสูงวัยใช้สมองไม่จำเจไกล”โรคสมองเสื่อม”ได้

แค่ปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อออกกำลังกระตุ้นให้สมองทำงานเพิ่มขึ้น ปรับความเคยชินจากสิ่งเดิมๆ ที่คุ้นเคยเป็นสิ่งใหม่

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติเซลล์ประสาทของมนุษย์มีการเจริญเติบโตจนถึงอายุ 5 - 6 ปี หลังจากนั้นจะไม่มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ประสาท แต่สามารถเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทได้ตลอดชีวิต ทำให้มีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทมากขึ้น แขนงเหล่านี้ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณประสาทไปยังเซลล์ต่างๆ รอบเซลล์ประสาทเพื่อให้การทำงานของสมองเป็นไปตามปกติ การเพิ่มจำนวนของแขนงเซลล์ประสาทเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ถ้ามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น จะมีการแตกแขนงของเซลล์ประสาทมากขึ้น ถ้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก จะกระตุ้นให้สมองแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น การทำงานของสมองจะดีขึ้น ดังนั้น ผู้สูงอายุสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้โดยหมั่นออกกำลังกายสมองเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง

นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุต้องหมั่นออกกำลังกายสมองเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยวิธีง่ายๆ ได้แก่ 1) ถ้าอยู่บ้าน ลองเปลี่ยนความเคยชินในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสเดิมๆ เป็นใช้ประสาทสัมผัสในด้านอื่น เช่น หลับตาแล้วใช้มือคลำวัตถุว่าเป็นอะไร เพื่อกระตุ้นประสาทส่วนสัมผัส สลับกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำ เช่น จากที่อาบน้ำก่อนกินข้าว เปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อนอาบน้ำ จะทำให้สมองใช้พลังงานทำสิ่งใหม่ๆ 2) ระหว่างเดินทางให้บริหารสมอง โดยไม่เปิดแอร์แต่เปิดกระจกขณะขับรถ เลือกที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อเชื่อมโยงประสาทรับกลิ่นและเสียงภายนอกให้ทำงานประสานกันมากขึ้น เปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน หรือเปลี่ยนวิธีเดินทาง เพราะจะช่วยกระตุ้นสมองให้สร้างแผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง เป็นการเพิ่มการทำงานของสมองให้มากกว่าปกติ

3) ขณะทำงานสามารถฝึกสมองได้ โดยเปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของบนโต๊ะทำงานเพื่อสร้างภาพใหม่ๆ ในสมอง เพิ่มการทำงานของสมองให้มากขึ้น พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย โดยจำใบหน้า น้ำเสียง อุปนิสัยส่วนตัว เพื่อเติมข้อมูลใหม่ๆ ให้กับสมอง รวมถึงชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียง อภิปรายหรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมสนุกๆ ทำ เพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกขวาและซีกซ้าย เช่น วาดรูป สเก็ตช์ภาพ จะเป็นการฝึกด้านจินตนาการให้สมอง ทำงานฝีมือ หรือประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ฟังเพลงภาษาต่างๆ เพื่อฝึกความสามารถด้านภาษาของสมองเพิ่มเติม หรือเล่นปริศนาอักษรไขว้

23 July 2562

ที่มา สยามรัฐ

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 954

 

Preset Colors