02 149 5555 ถึง 60

 

ข้อสังเกตเด็กออทิสติก ทารก2เดือนไม่สบตา-รีบพบหมอ

ข้อสังเกตเด็กออทิสติก ทารก2เดือนไม่สบตา-รีบพบหมอ

ข้อสังเกตเด็กออทิสติก – สําหรับเด็กที่เป็นออทิสติก หากได้รับการดูแลรักษาให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุยังน้อย จะให้ผลดีที่สุด

ฟื้นฟูเด็ก

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงเด็กที่เป็นออทิสติก(Autistic) ว่า สาเหตุของออทิสติก เกิดจากความผิดปกติในสมองของเด็กตั้งแต่กำเนิด ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดู ทำให้เด็กบกพร่องทางพัฒนาการ โดยเฉพาะทักษะทางสังคมและการสื่อสาร ไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างด้าว พูดซ้ำๆ เลียนแบบโดยไม่เข้าใจความหมาย หรือพูดไม่มีความหมาย สื่อสารบอกใครไม่ได้ และไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น ยังไม่มีวิธีการป้องกัน และไม่มียารักษาหายขาด แต่สามารถดูแลฟื้นฟูให้เด็กใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2558 พบว่าในกลุ่มเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกๆ 1,000 คน จะพบเป็นออทิสติกได้ 6 คน โดยส่วนใหญ่มักมาเมื่ออายุเกิน 4 ขวบ ทำให้ประสิทธิภาพการฟื้นฟูได้ผลดีไม่เท่าที่ควร

เล่นกับเด็ก

สาเหตุที่เด็กออทิสติกเข้าถึงบริการน้อย ส่วนหนึ่งเกิดมาจากพ่อแม่ผู้ปกครองขาดความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเด็กที่เป็นออทิสติกจะมีหน้าตา การเจริญเติบโตในช่วงขวบปีแรกเหมือนเด็กปกติทั่วไป อีกทั้งพื้นฐานสังคมไทยยังมองว่าเด็กพูดช้า พูดไม่ชัด เป็นเรื่องปกติ หากเป็นเด็กออทิสติก จะทำให้เด็กขาดโอกาสได้รับการดูแลกระตุ้นแก้ไขพัฒนาการ มีผลเสียติดตัวไปจนถึงตอนโตหรือตลอดชีวิต

นายสันทัด ธีรพัฒนพงศ์ พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าแผนกผู้ป่วยนอก ร.พ.จิตเวชนครราชสีมา กล่าวว่า การจะรู้ว่าเด็กมีอาการผิดปกติเป็นออทิสติกหรือไม่นั้น วิธีการที่ใช้ได้ผลที่สุดคือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็กทุกวัน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูได้ หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเห็นได้ชัดขณะอุ้มลูกดูดนมทดสอบ-เล่นกับเด็ก

หากพบว่าเด็กอายุ 2 เดือน ยังไม่จ้องหน้า ไม่สบตาหรือไม่จ้องมองโมบายที่แขวนที่เปลนอน เหมือนกับเด็กวัยเดียวกัน ผู้ปกครองก็สามารถกระตุ้นตามคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ที่ได้รับแจกไป และให้รีบพาไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อประเมินซ้ำและดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และติดตามต่อเนื่องในช่วงอายุ 9, 18, 30, และ 42 เดือน จะให้ผลดีที่สุด เด็กจะมีพัฒนาการและต้นทุนชีวิตดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเด็กปกติที่สุด

ประการสำคัญที่สุดพ่อแม่ควรเร่งกระตุ้น พัฒนาการลูกควบคู่กันไปด้วย โดยการเล่นกับลูกมากขึ้น เช่น จ๊ะเอ๋ ปูไต่ ฝึกการกระตุ้นพัฒนาการด้วยของเล่นที่มีสีสันสดใส เคลื่อนไหวได้และมีเสียง พูดคุยกับเด็ก เล่านิทานจากภาพ ชี้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำท่าทางประกอบการเล่า พาไปสนามเด็กเล่น ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาลูกในเบื้องต้นได้มาก

สำหรับการดูแลรักษาเด็กที่เป็นออทิสติกใน เขตสุขภาพที่ 9 ร.พ.จิตเวชนครราชสีมา นอกจากมีห้องสนูซีเลนที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทการรับรู้แล้ว ยังได้จัดคลินิกพิเศษ เพื่อฝึกกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเต็มที่ภายใน 5 ขวบปีแรก 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือเน้นการใช้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฝึกกับเด็ก กระตุ้นให้เด็กคิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น มีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่เต็มขั้น วิธีการนี้ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นร้อยละ 80-90 รูปแบบที่ 2 คือการฝึกกิจกรรมบำบัด เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตประจำวันได้ แสดงพฤติกรรมอารมณ์เหมาะสม และรูปแบบที่ 3 คือการกระตุ้นพัฒนาการทั้ง 5 ด้านได้แก่ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การใช้ภาษา ความเข้าใจทางภาษา และทักษะทางสังคม สร้างความพร้อมให้เด็กกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม

จากการศึกษาพบว่าเด็กร้อยละ 95 มีพัฒนาการดีขึ้นภายใน 6 เดือน และบูรณาการความร่วมมือใกล้ชิดต่อเนื่องระหว่างพ่อแม่ ทีมผู้รักษา และครูที่โรงเรียน โดยผลของการดูแลเด็กออทิสติกตั้งแต่อายุยังน้อย จะให้ผลเมื่อเด็กเติบโตขึ้น โดย 1ใน 3 จะพึ่งพาตนเองได้

23 July 2562

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1692

 

Preset Colors