02 149 5555 ถึง 60

 

โรคลายม์ ไม่ใช่โรคประจำถิ่นไทย อย่ากังวลเกินไป

‘โรคลายม์’ ไม่ใช่โรคประจำถิ่นไทย อย่ากังวลเกินไป

จากกรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาล (รพ.) วิชัยยุทธ ได้โพสต์เตือนประชาชนที่ชอบเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะต่างประเทศ ให้ระมัดระวังการติดเชื้อ “โรคลายม์” (Lyme disease) ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของหลายประเทศ แต่ไม่เคยพบในประเทศไทย เนื่องจากล่าสุด พบหญิงสาวชาวไทยรายหนึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศตุรกี หลังจากนั้นกลับมาป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการหนัก และแพทย์ได้ช่วยกันรักษาใช้เวลาอยู่โรงพยาบาล 2 เดือน และหลังจากนั้นอีก 5 เดือน กลับไปทำงานได้แล้วตามปกติ แต่ความจำบางส่วนหายไป และแพทย์ตรวจพบว่าติดเชื้อโรคดังกล่าวนั้น

“หมอมนูญ” เผยพบผู้ป่วย “โรคลายม์” รายแรกในไทย ติดเชื้อหลังเที่ยวตุรกี

รู้จักโรคลายม์

โรคลายม์-นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโรคลายม์ ว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อว่า โบเรลเลีย (Borellia) การติดต่อสู่คนเกิดจากการถูกเห็บที่มีเชื้อนี้กัด สำหรับประเทศไทยยังไม่พบการรายงานป่วยจากโรคนี้มาก่อน มีเพียงการทบทวนว่ามีการศึกษาหนึ่งที่มีเพียงสัตว์ตัวเดียวที่ตรวจเจอ จากนั้นก็ไม่มีรายงานไหนอีกที่บอกว่าเกิดการติดเชื้อนี้จากประเทศไทยเลย นั่นคือ ความเสี่ยงที่ว่าเห็บในไทยจะมีเชื้อตัวนี้ค่อนข้างต่ำมาก จึงไม่ต้องเป็นกังวลกับโรคนี้มากนัก ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ติดต่อจากคนสู่คน ส่วนอาการหลังรับเชื้อ จะมีระยะเวลาฟักตัว 2-4 สัปดาห์ บางคนอาจสั้นกว่า ซึ่งการถูกเห็บกัดจะคล้ายกับการถูกแมลงกัดตามปกติ คือ จะมีรอยบวมแดงที่ถูกกัด บางคนมีรอยเป็นผื่นวงกลม และเนื่องจากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็จะมาด้วยเรื่องอาการไข้ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น

อาการของโรค..รักษาหายได้

“บางส่วนหลังจากผ่านในช่วงแรกไป มักจะไม่ค่อยมีอาการอื่น แต่จะมีจำนวนหนึ่งที่เชื้อมีการลุกลามหรือแพร่ไปสู่อวัยวะอื่น ทำให้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา จะมีอาการของอวัยวะอื่นๆ ตามมา เช่น ปวดข้อ มักจะเป็นมากกว่า 1 ข้อ หรือหากเชื้อไปที่หัวใจ ก็จะมีอาการเต้นผิดปกติ บางรายไปสู่สมอง ทำให้สมองอักเสบ บางครั้งถ้ารับการรักษาไปแล้ว อาจจะมีผลตกค้างอันเนื่องจากสมองถูกการติดเชื้อทำให้มีความผิดปกติที่อาจจะถาวรหรือกึ่งถาวร ถ้าไปอยู่ตรงตำแหน่งความจำ ก็อาจทำให้ความจำหายไป หรือบางรายที่ไปเกี่ยวกับเรื่องจุดที่ควบคุมทำหน้าที่ต่างๆ ก็จะมีอาการไปตามนั้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคนี้มียารักษาให้หายได้ เพราะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ ไม่ว่าจะเป็นดอกซีไซคลีน อะม็อกซีซีลลิน หรือกลุ่มเซฟาโลสปอริน ก็สามารถที่จะฆ่าเชื้อตัวนี้ได้ ซึ่งการวินิจฉัยหาโรคนี้ทำได้ โดยดูประวัติว่าเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการรายงานโรคหรือมีเชื้อนี้เป็นโรคประจำถิ่น และมาด้วยเรื่องอาการไข้ เมื่อทำการตรวจร่างกาย หากสงสัยโรคนี้ก็ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถตรวจระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อเชื้อแบคทีเรียตัวนี้และนำมาประกอบการยืนยันวินิจฉัยได้

ข้อแนะนำ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เห็บปกติจะอยู่ในสัตว์ การที่กระโดดหรือหลุดมากัดคนได้ มักเป็นเหตุบังเอิญ หรือเราเข้าไปคลุกคลีกับสัตว์ที่มีเห็บนี้อยู่ ก็มีโอกาสที่เห็บจะกระโดดมากัดเราได้ นอกจากนี้ เห็บยังมีการหากินอาศัยตามพุ่มไม้ต้นไม้ การไปเดินป่าที่มีเห็บอยู่อาศัยก็มีโอกาสที่เห็บกัดได้เช่นกัน ดังนั้น การป้องกัน คือ ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดในการไปจุดที่มีโอกาสหรือมีความเสี่ยง และการไปท่องเที่ยวในแต่ละวันควรตรวจดูว่า มีรอยนูนแดงหรือไม่ที่เกิดจากถูกสัตว์ แมลง หรือเห็บกัดหรือไม่ หากมีก็อาจขอคำแนะนำจากแพทย์หรือพบแพทย์ตรวจ ไม่ว่าจะอยู่ในต่างประเทศหรือเดินทางกลับมาไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม หากถูกเห็บกัดแนะนำว่า 1.ทำความสะอาดบาดแผล ใส่ยา และขอคำแนะนำจากแพทย์ 2.เห็บอาจไม่ได้ก่อโรคโดยตรง แต่การถูกกัด บางคนจะไปเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติม กลายเป็นผิวหนังอักเสบ เนื้อเยื่ออักเสบ กลายเป็นแผลหนองหรือติดเชื้อในกระแสโลหิตตามมา บางคนภูมิต้านทานไม่ค่อยดี เมื่อเป็นแผลก็มีการลุกลาม ดังนั้น การถูกสัตว์เล็กๆ น้อยๆ กัดพวกนี้ ให้ดูแลแผลถือเสมือนมีโอกาสติดเชื้อได้เสมอ ก็จะมีความปลอดภัย

• อย่ากังวล ไม่ใช่โรคประจำถิ่น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การเกิดโรคติดเชื้อจากต่างประเทศมีหลายโรค อย่าไปกังวลว่าโรคนี้หรือโรคไหน เพราะเวลาไปต่างประเทศแล้วไปติดโรคกลับมามีหลายโรค ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าคนไทยที่จำเป็นต้องไปต่างประเทศ ต้องรู้ว่าประเทศนั้นมีคำแนะนำอย่างไร โรคประจำถิ่นอะไร เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันตนเองได้ถูก เช่น แอฟริกามีไข้เหลือง ก็ต้องฉีดวัคซีนไข้เหลืองไป และระมัดระวังดูแลตนเอง หรือไปคองโกที่มีอีโบลา ก็ต้องรู้วิธีป้องกันตนเอง และหากไปประเทศที่มีโรคประจำถิ่น เมื่อกลับมาแล้วมีความผิดปกติไม่สบาย ไปพบแพทย์ต้องให้ประวัติว่า กลับมาจากประเทศอะไร มีพฤติกรรมอย่างไรเมื่ออยู่ในประเทศนั้น จะช่วยให้นำมาประกอบการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะทำ

18 July 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana/Maneewan

Views, 812

 

Preset Colors