02 149 5555 ถึง 60

 

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” นวัตกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัย

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” นวัตกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัย

ว่ากันว่า ช่วงเวลาทองในการบ่มเพาะ สร้างพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ที่เหมาะสมซึ่งเป็นการวางฐานรากให้เด็กได้เติบโตขึ้นอย่างสมวัยนั้น ควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่ “ช่วงปฐมวัย” ปัจจุบันรัฐบาลมีการกำหนดนโยบายเพื่อการดูแลพัฒนาเด็ก ภาครัฐ ภาคสังคม และผู้เกี่ยวข้องต่างหันมารวมพลัง เพื่อร่วมสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งเป็นกำลังของประเทศ

ในงาน “สานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) ได้มีการเปิดรายงานสถานการณ์สุขภาวะเด็กปฐมวัย จากการสำรวจข้อมูลประชากร ในกลุ่มครอบครัวของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่าย 2,148 อปท.

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. สะท้อนภาพรวมผลการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ อปท.มีเด็กปฐมวัยไม่เกิน 3% หรือ 263,223 คน ส่วนใหญ่ 43.38% หรือ 101,274 ครัวเรือนอาศัยอยู่กับตายาย รองลงมา 28.35% หรือ 66,176 ครัวเรือนอยู่กับพ่อแม่ และ 28.27% หรือ 65,997 ครัวเรือนอยู่กับบุคคลอื่นๆ เช่น ญาติ พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น ผลกระทบและปัญหาที่อาจจะตามมา คือ เรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการล่าช้า ปัญหาการเจ็บป่วย ขาดผู้ดูแลและความรุนแรง เมื่อดูในสถานการณ์ด้านสุขภาพ เด็กปฐมวัยทั้งหมด 263,242 คน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 6,082 คน

“สิ่งที่น่าห่วงจากความจริงที่พบในพื้นที่ว่า เด็ก 2 ใน 4 อยู่กับตายาย ปู่ย่า และบุคคลอื่นๆก็เพิ่มมากขึ้น เช่นนี้การทำงานก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ไม่ควรทำงานมุ่งแค่ที่พ่อแม่เท่านั้น แต่ต้องออกแบบการพัฒนาศักยภาพครอบครัวที่ดูแลเด็กปฐมวัยตามบริบทในพื้นที่ หรือสร้างระบบสวัสดิการที่ช่วยตายาย ปู่ย่า ญาติ เพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลเด็กปฐมวัยให้มีศักยภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันครอบครัวไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะดูแลเด็กปฐมวัยได้เต็มที่ ด้วยภาระที่ถาโถม ยิ่งครอบครัวในชนบทพ่อแม่จะต้องรับผิดชอบดูแลทั้งเด็ก ผู้สูงอายุในบ้าน ดังนั้น ถ้าทุนทางสังคมไม่เข้ามาช่วยโอบอุ้มก็จะไม่ได้เด็กที่มีศักยภาพ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาช่วย เพราะเด็กปฐมวัยถ้าได้รับการดูแลแต่เริ่มจะทำให้เขาไม่เข้าไปอยู่ในวงจรที่ไม่ดี สสส.จึงพยายามเชิญชวนทุกส่วนมาร่วมกันดูแลเด็กปฐมวัย ที่เวลานี้มีเพียง 3% ให้มีศักยภาพมากขึ้น”น.ส.ดวงพร กล่าว

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” กิจกรรมรูปแบบหนึ่งที่ช่วยจุดประกายและสร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย น.ส.ดวงพร บอกว่า สสส.ได้ร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เริ่มต้นสร้างสนามเด็กเล่นสร้างในพื้นที่ต้นแบบ 12 แห่ง ได้ทดลองดำเนินการมาแล้ว 2 ปี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยสร้างการเล่นที่สร้างสรรค์ ช่วยแก้ไขสร้างการเรียนรู้จากการเล่นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สร้างการมีวินัยทางสังคม มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้สนามเด็กเล่นที่ออกแบบให้กระตุ้นพัฒนาการของสมองและร่างกาย พัฒนาการทางสังคมที่มาพร้อมปัญญาและอารมณ์ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเด็กเข้าสู่วงจรไม่ดี เด็กแว้นน้อยลง เพราะได้รับการพัฒนาการอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกันไม่ใช่ความรุนแรง ทั้งนี้ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้สามารถสร้างได้ด้วยเงินตั้งแต่ 20,000-100,000 กว่าบาท แต่ให้อาศัยการดึงชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ก็เกิดความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้ลูกหลานในชุมชน อย่างไรก็ตาม ใน อปท.ได้มีการขยายผลนำสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไปดำเนินการใน 524 แห่ง และขณะนี้ได้เริ่มนำมาถอดบทเรียนเป็นครั้งแรก

ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่นแนวคิดในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่ผู้ออกแบบ นายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เล่าว่า ต้องการจัดรูปแบบสถานที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยผ่านการเล่น เป้าหมายคือให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่มีในธรรมชาติ เช่น ทราย น้ำ ต้นไม้ วัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ เป็นต้น ขณะที่การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ยึดตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน/ท้องถิ่น ที่เน้นให้เกิดสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กร ชุมชนท้องถิ่น ร่วมคิด ร่วมสร้าง บริหารจัดการสนามเด็กเล่นแห่งนี้ เพื่อให้เกิดเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาร่วมกัน

สำหรับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ประกอบด้วย 5 ฐาน คือ ฐานที่ 1 ค่ายกล Spider man ฐานที่ 2 สระน้ำ อิน จัน ฐานที่ 3 สระทารก ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ

ขณะที่ นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ในแต่ละฐานของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาช่วยให้เด็กได้เคลื่อนไหว ได้ออกกำลังกายซึ่งจะทำให้เกิดสุขภาวะที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมแต่ละฐานสามารถนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ จากการดำเนินงานใน 524 อปท.ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพบว่าประสบความสำเร็จ ที่สำคัญทำให้เกิดการสร้างความสามัคคีในชุมชน เกิดการมีส่วนร่วม และจากนี้จะถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การขยายผล ซึ่ง ในปี 2562 นี้ สถ.มีเป้าหมายจะขยายผลให้เกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ครอบคลุม อปท.ทั่วประเทศประเทศ อย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่งด้วย

ฉายภาพและเสียงตอบรับที่ดีเช่นนี้ เชื่อว่าภายในปีนี้ในหลายพื้นที่ จะมีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เกิดขึ้นกระจายทั่วทุกจุดเพื่อเป็นโอกาสที่ให้เด็กๆได้มีโอกาสสัมผัส ความสุขและความสนุกผ่านการเล่นที่สร้างสรรค์

15 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 318

 

Preset Colors