02 149 5555 ถึง 60

 

เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่

เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่

สสส. ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape และ dtac จัดงานเสวนาให้ความรู้ “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่” ภายใต่โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ และไขทุกคำตอบเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและการเลี้ยงดูสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่

โดยวิทยากรที่จะมาแลกเปลี่ยนเป็นคุณหมอจากเพจชื่อดัง อย่างพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (หมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” , ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ (หมอวิน) กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” และนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว “เมริษา ยอดมณฑป” เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” โดยมี “ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ” บรรณาธิการเว็บไซต์ The Potential เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

“คาดหวังมาก” แต่ “ลงทุนน้อย”

หนึ่งต้นตอปัญหาในการเลี้ยงลูก

ไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้ยาก หากเราจะได้ยินคุณพ่อคุณแม่หลายท่านออกปากบ่นเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก หรือลูกมีปัญหา โดยเรื่องนี้ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ “หมอโอ๋” ชวนให้ฉุกคิดก่อนว่า เวลาเราพูดถึงปัญหา มันเริ่มต้นเกิดมาจากสิ่งใด

“เวลาที่เราพูดถึงคำว่าปัญหา ให้นึกถึงสมการง่ายๆ ก็คือ “ความคาดหวัง ลบ สิ่งที่เป็นอยู่” หมอพบว่า หลายๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความคาดหวังที่มันอาจจะเยอะเกินไป โดยเฉพาะความคาดหวังที่เรามีต่อเด็กและวัยรุ่นคนหนึ่ง แบบที่เราไม่เข้าใจในธรรมชาติของตัวเขา เราคาดหวังให้เด็กคนหนึ่งควบคุมอารมณ์ได้ พูดอะไรแล้วก็ทำตาม เราคาดหวังให้เขาเป็นเด็กที่เชื่อฟัง รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ เราคาดหวังสิ่งที่เป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็ก

“ทีนี้ พอความคาดหวังเยอะ ปัญหาก็จะเยอะตามไปด้วย สิ่งหนึ่งซึ่งหมอพบก็คือ ขณะที่พ่อแม่มีความคาดหวังสูง แต่ก็ลงทุนกับสิ่งที่เป็นอยู่ น้อย มันก็เลยทำให้ปัญหามันเกิดขึ้นจากความเป็นปัจจุบันของเด็กที่ควรจะพัฒนาได้ดี มันพัฒนาไม่ได้ คือถ้าเรารู้ว่า การเติบโตของเด็กคนหนึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะวัยตั้งต้นของชีวิต นี่คือการลงทุนที่หมอบอกว่าคุ้มค่าที่สุดเลยในฐานะพ่อแม่ คือการมีตัวเองเป็นคนที่สำคัญจริงๆ ในชีวิตของลูกในช่วงตั้งต้นของชีวิตให้ได้”

หมอโอ๋ อธิบายเพิ่มเติมว่า แพทเทิร์นของการเลี้ยงเด็กในบ้านเราก็คือ ตอนเล็กๆ ให้คนอื่นเลี้ยง แต่พอโตหน่อยค่อยเอามาเลี้ยงเอง เพราะคิดว่าเขารู้เรื่องแล้ว แต่สิ่งที่เรียกว่า Trust นั้นไม่มี ความรู้สึกว่าฉันคือคนที่มีความสำคัญ คนที่มีความหมายต่อคนเลี้ยงดู ก็ไม่ใช่พ่อแม่

“เพราะฉะนั้น ปัญหาที่หมอพบเยอะมากๆ ในกลุ่มวัยรุ่นก็คือ ปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ พูดอย่างทำอย่าง พ่อแม่พูดอะไร เด็กก็ไม่พร้อมฟัง พอเด็กไม่ฟัง พ่อแม่ก็ยิ่งพูดมากขึ้น บ่นมากขึ้น สอนมากขึ้น ชดเชยความรู้สึกว่าเมื่อก่อนไม่ได้ทำ และนั่นก็ยิ่งทำให้ลูกเริ่มห่างพ่อแม่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน โลกภายนอกก็ช่างดึงความสุข ช่างสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้กับตัวฉัน มีเพื่อนในเฟซในไลน์มียอดไลค์ที่ทำให้มีตัวตน ก็ทำให้เด็กคนหนึ่งพร้อมที่จะวิ่งออกจากบ้าน ตัวอาจจะยังอยู่บ้าน แต่ใจไปอยู่กับโลกออนไลน์ เกมออนไลน์บ้าง เพื่อนออนไลน์บ้าง รวมทั้งออกไปในชีวิตจริงๆ ด้วย

“ด้วยเหตุนี้ การที่หมอมาเปิดเพจ เจตนารมณ์อย่างหนึ่งก็คือว่า การที่เราสร้างวัยรุ่นคนหนึ่ง มันง่ายกว่าการไปซ่อมวัยรุ่นคนหนึ่งมากๆ มันไม่ได้แก้ง่ายๆ เหมือนกับว่าพามาพบหมอแล้วก็จะดีขึ้นทันทีเลย เพราะฉะนั้น การลงทุนสร้างเด็ก ด้วยการสร้างให้สมองของเขาเป็นสมองที่มีคุณภาพตั้งแต่ยังเล็ก เป็นเรื่องที่หมออยากให้คุณพ่อคุณแม่ลงทุน”

ปัญหา “เลี้ยงลูกไม่เป็น”

กับพ่อแม่ที่เป็นคนเจนวาย

ในฐานะกุมารแพทย์ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือ “หมอวิน” กล่าวว่า ปัญหาที่กุมารแพทย์เจอบ่อยมากๆ และคิดว่าคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็คงเจอเหมือนกัน เรื่องแรกคือ ปัญหาเรื่องการกิน เด็กไม่กิน เลือกกิน ไม่งดมื้อดึก สอง เด็กที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งอะไรทั้งนั้นตั้งแต่สองขวบยันโต สาม Complaining Kid บ่นลมบ่นฟ้า บ่นไปเรื่อยเปื่อย มีอะไรก็บ่นไปก่อน และสี่ กลุ่มเด็กที่ใช้พฤติกรรมรุนแรง ตีพ่อตีแม่ตียาย ใช้คำพูดที่ด่าทอหยาบคายตั้งแต่เด็ก

“คำถามก็คือ ปัญหาพวกนี้เกิดจากอะไร...พ่อแม่สมัยนี้ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกไม่เป็น พูดแล้วดูแรงนะครับ แต่จริงๆ แล้ว คำว่า “ไม่เป็น” หมายความว่า เราฝึกได้นะ เพราะไม่มีใครเลี้ยงลูกได้เลี้ยงลูกเป็นมาตั้งแต่แรกเกิด เพียงแต่เราไม่เข้าใจพัฒนาการตามวัยของเขา และไม่สามารถถอนความช่วยเหลือตามวัยของเขาได้ เช่น ถึงวัยที่เขาเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้แล้ว ไม่เคยฝึกให้เขาหยิบจับอาหารเอง ถ้าเขาหิว แล้วเขาหยิบจับอาหารเอง เขาอิ่ม มันได้ความรู้สึกบวกกับการกินอาการ

“แต่สิ่งที่เราทำ ณ ปัจจุบัน พ่อแม่ป้อนเองเลย ทั้งๆ ที่ลูกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กหยิบจับอาหารได้แล้ว และโต๊ะอาหาร แทนที่จะเป็นโต๊ะแห่งการมีความสุข กินแล้วอิ่ม นั่งคุยกัน เด็กได้มองคุณพ่อคุณแม่ กินข้าวด้วยกัน มีบทสนทนาด้วยกัน มันกลายเป็นโต๊ะแห่งความทุกข์ทรมาน มาถึงโต๊ะ มีอะไรก็ยัดเข้าปาก ยัดเข้าปากแล้วไม่พอ บ่นอีก ทำไมไม่กินล่ะ แม่อุตส่าห์ทำมาดีเลยนะ ซึ่งจริงๆ แล้ว สิ่งที่จะทำให้เด็กกินได้มากที่สุดคือ การทำให้ดู พูดให้น้อย ทำให้ดู อาหารนะลูก จับมือเขาตักเข้าปาก ป้อน แฮปปี้ จบ”

ข้อสังเกตประการหนึ่งซึ่ง “หมอวิน” สะท้อนให้เห็นว่าเป็นอุปสรรคของการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน ก็คือเรื่องของเจเนอเรชั่นที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้

“เราจะสังเกตเห็นว่า เด็กเล็กๆ ที่เป็นเจเนอเรชั่น Z และ Alpha ถูกเลี้ยงโดยคนเจเนอเรชั่น Y ซึ่งเติบโตมากับเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มที่อดทนรอคอยไม่ค่อยได้ ใช้เงินแก้ปัญหา แล้วก็พึ่งเทคโนโลยี หรือพึ่งข้อมูลอะไรก็ตามที่หยิบจับหาง่ายทางโลกโซเชียล และใช้เครื่องมือแทนการลงมือทำด้วยตัวเอง

“ขณะที่ลูกของเราในทุกวันนี้ เป็นเจเนอเรชั่นที่ถือว่าเป็น Global Citizen ถ้าเขาไปได้ดี เขาจะไปได้ทั่วโลก โดยที่ไม่มีอะไรเป็นขอบเขตอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีมันเชื่อมโลกให้เล็กลง แต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยีไม่ดี เด็กเราก็จะกลายเป็นเด็กสมัยนี้ที่เราพูดกัน ก็คือ ขี้เกียจ อดทนรอ

คอยไม่ได้ ไม่มีสมาธิ แก้ปัญหาผิดๆ เช่น ทำงานแล้วถูกด่า แทนที่จะพัฒนาปรับปรุงตัวเอง ก็ย้ายงานไปเรื่อยๆ

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา”

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา”

“พัฒนาการเด็ก” กับ “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง”

หัวใจสำคัญของการเลี้ยงลูก

“เมริษา ยอดมณฑป” ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว กล่าวว่า การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “พัฒนาการตามวัยแต่ละวัย” ของเด็ก ถือเป็นหัวใจสำคัญอันดับต้นๆ ที่พ่อแม่พึงรู้ เพราะมันเปรียบเสมือน “ราก” สำหรับยึดเกาะให้กับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกได้อย่างถูกทางและเหมาะสม

“พัฒนาการของลูกอายุ 0-2 ขวบ เขาต้องการความเชื่อใจ ความเชื่อมั่นจากเรา เราอยู่ตรงนั้นกับเขามั้ย หรือเราส่งเขาไปอยู่ที่อื่น วัย 3 ปี เขาต้องการทดสอบร่างกายของเขา กล้ามเนื้อมัดเล็กกล้ามเนื้อมัดใหญ่มันทำอะไรได้บ้าง ขอย้ำตรงนี้ว่า ของทุกชิ้นในสายตาลูก เป็นของเล่นหมด แม้แต่อาหาร รีโมทคุณแม่ กุญแจรถคุณแม่ ทุกอย่างสามารถเป็นของเล่นให้ลูก ดังนั้น เขาไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ว่าอันนี้คืออะไรๆ เขาแค่ต้องการทดสอบกล้ามเนื้อ พ่อแม่ก็ต้องเตรียมพื้นที่ให้เขา เพื่อที่เราจะพูดว่า “หยุด” “ห้าม” ให้น้อยที่สุด ถ้าเราทราบตรงนี้เราจะเข้าใจการเตรียมพื้นที่ให้ลูก ได้อยู่ได้เล่น และเมื่อรู้ว่าลูกกิน มันก็ต้องเลอะ ก็ไม่เป็นไร ทำความสะอาดได้ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียม ไม่ใช่เตรียมป้อน แต่เตรียมผ้าปู

“ขณะที่วัย 3-4 ปี ขึ้นไป ลูกต้องเตรียมตัวเข้าโรงเรียน แต่จริงๆ จะบอกว่า การแยกจากจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อลูกอายุ 6 ปี แต่โดยความเป็นจริง อาจเร็วกว่านั้น เพราะพ่อแม่อาจต้องไปทำงาน เราย้ำตรงนี้ว่า ไม่เป็นไร เมื่อบริบทมันจำเป็น เราจะเตรียมลูกอย่างไรดี ปัญหาก็คือ เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น แล้วลูกจะรู้ว่าเรามีอยู่จริงมั้ย เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า ถ้าเขาล้ม จะมีคนช่วยให้เขาลุก เขาจะเชื่อใจโลกนี้ได้อย่างไร ขนาดคนที่ใกล้ตัวเขาอย่างพ่อแม่ เวลาเขาร้องแล้วยังไม่มาหาเขาเลย

“ดังนั้น ถ้าเรารู้พัฒนาการลูก เราจะรู้ว่า ลูกต้องการเรา ไม่ได้ต้องการแทบเล็ตหรือว่าคนอื่น ลูกต้องการพ่อแม่ มีพ่อแม่บางท่านถามว่า ขอทดแทนให้วันเสาร์ทั้งวันเต็มที่ได้มั้ย ชดเชยจันทร์ถึงศุกร์ ก็จะอนุญาตเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถไม่กินมื้อเช้ามื้อเที่ยงและกินมื้อเย็นมื้อเดียวเลยได้มั้ย ก็บอกว่า ไม่ได้นะคะ มันต่างจากการกินทีละนิดทีละมื้อ

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้ลูก จึงมีความสำคัญมากในการมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น อย่าว่าแต่เราจะสอนอะไรลูกเลย ลูกคงไม่ฟัง เพราะแม้กระทั่งตัวเรายังไม่มีอยู่จริง คำพูดเราก็คงเป็นเพียงแค่ลมปาก

“พ่อแม่ที่มีอยู่จริง คือพ่อแม่ที่แม้ว่าเขาจะหันหลังไป เล่นอย่างอื่น เผชิญโลก เวลาเขาหันกลับมาแล้วยังมีเราอยู่ เขาจะกล้า แม้วันที่โตไปแล้ว เขาก็ยังต้องการพ่อแม่ ถ้าลูกมีพ่อแม่ ต่อให้โลกหนักหนาแค่ไหน เขาก็จะไม่ท้อแท้ จะเผชิญมัน ไม่ซึมเศร้า พ่อแม่ที่มีอยู่จริง จึงสำคัญกับลูกมาก ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ในปัจจุบัน บางทีก็มีอยู่จริงแค่ร่างกาย แต่ว่าสายตาและจิตใจ เรามีให้กับลูกหรือหน้าจอ พ่อแม่บางคนนั่งอยู่กับลูก แต่ตาอยู่บนหน้าจอ มีแค่แขนขา แต่หัวไปทางอื่น ตรงนี้ไม่เรียกว่าอยู่กับลูกนะคะ ลูกต้องการทั้งตัว หัวใจ และสายตาเรา เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่สำหรับลูก แต่เราเป็นอะไรก็ได้ที่ลูกให้เป็น”

พ่อแม่เป็นเช่นใด

ลูกเป็นเช่นนั้น

จากความคาดหวังของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นอย่างนี้อย่างนั้น สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับว่า พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็ก คือโมเดลหรือตัวอย่างที่เด็กจะเจริญรอยตาม

“หมอวิน” สรุปตรงนี้สั้นๆ ว่า “ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ เป็นคนที่ทำให้เด็กมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา เช่น ถามว่าทำไมเด็กไม่งดมื้อดึกล่ะ จะงดได้อย่างไร ในเมื่อพ่อแม่เองก็ยังทานอยู่เลย”

ขณะที่ “เมริษา ยอดมณฑป” กล่าวว่า ก่อนที่จะไปโฟกัสที่ลูก สิ่งสำคัญที่พ่อแม่มักลืมเลือน คือตัวของพ่อแม่เอง

“สุขภาพกายใจของเราดีหรือยัง ก่อนที่เราจะไปลงทุนลงแรงกับลูก พ่อแม่บางคนยังปวดหลัง ซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งยังไม่พร้อม เจอเรื่องมากมาย แต่ก็ดันตัวเองเพื่อลูก แต่สุดท้ายการเลี้ยงลูก มันก็เหมือนการวิ่งมาราธอน มันจะมาวิ่งถีบเร่งตัวเองด้วยระยะสั้นๆ ไม่ได้ ลูกไม่ได้ต้องการเราแค่สามปีแรก เขาต้องการเรามากกว่านั้น ยาวนานกว่านั้น เราควรดูแลตัวเองก่อน ก่อนคิดจะไปมีและดูแลลูกของเรา สุขภาพกายและจิตสำคัญจริงๆ พ่อแม่ที่สุขภาพจิตดี ลูกก็ย่อมดี”

สุดท้าย “หมอโอ๋” ให้มุมมองว่า การเลี้ยงลูก อย่ามุ่งผลลัพธ์ แต่ให้มุ่งกระบวนการ...

“พ่อแม่จะชอบอยากได้โซลูชั่น ที่มันจัดการปัญหาได้จบ และใช้ช่องทางลัด คือไม่คิดเอง ไม่หาคำตอบ เพราะว่าเราเป็นพวกที่รอไม่ค่อยเป็น อะไรก็ต้องแบบได้ทันที ช่องทางลัดไหนมีก็อาศัยช่องทางนั้น และพ่อแม่บางคนก็เลี้ยงลูกด้วยการใช้ทางลัด เพื่อให้เราสบายที่สุด เพราะเราอยู่กับความลำบากไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น เราก็จะแบบ..หยิบยื่นอะไรให้แล้วจบปัญหาได้ เราก็หยิบยื่น ลูกร้องแล้วเราอยากให้หยุดร้อง ก็ใช้วิธีเอาของเล่นให้ จะได้ลดเสียงหนวกหู

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่หมออยากฝากจริงๆ เรื่องหนึ่งก็คือ เวลาเลี้ยงลูก อย่ามุ่งพัฒนาลูก แต่ให้มุ่งพัฒนาตัวเรา การเลี้ยงลูกคือการพัฒนาตัวเองขั้นสูงเลย เพราะมันต้องพัฒนาทั้งทางด้านการมีสติ พัฒนาความรู้ พัฒนาการเป็นคนที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เด็กจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราสอนเขา แต่เขาจะเป็นอย่างที่เราเป็น”

4 July 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Kanchana

Views, 604

 

Preset Colors