02 149 5555 ถึง 60

 

สูบบุหรี่ในบ้าน เป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

สูบบุหรี่ในบ้าน เป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

บุหรี่เป็นพิษทั้งต่อผู้สูบและคนที่อยู่รอบข้าง คือข้อมูลที่ทางการแพทย์ สาธารณสุข และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามย้ำกับประชาชนให้ตระหนัก และลด ละ เลิก บุหรี่ พร้อมกับมีมาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐที่ดำเนินการควบคู่กัน เพื่อเป้าหมายให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง และการเจ็บป่วยที่เกิดจากพิษภัยของบุหรี่ลดลงด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า

อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคน หรือ 32.0%

การสำรวจพบว่า เพศชายสูบบุหรี่มากกว่าเพศหญิง 22 เท่า สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3 : 1 ในปี 2534 เป็น 4.2 : 1 ในปี 2560 ซึ่งหนึ่งในมาตรการควบคุมสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้ผลคือ มาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญในการลดอัตราบริโภค แต่ต้องดำเนินการมาตรการอื่นควบคู่ด้วย ทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการรณรงค์สร้างกระแสสังคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ศ.นพ.รณชัย บอกว่า การศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านโดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ เด็กทารกที่ผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39%

จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศในปี 2561 โดย ศจย. คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49% มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้

สูบบุหรี่ในบ้าน หรือสูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ ก็ยังคงมีสารพิษจากควันบุหรี่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผนัง โซฟา เบาะหนังแท้ หนังเทียม รวมถึงในรถยนต์ เรียกว่า “บุหรี่มือสาม”

ศูนย์สร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กได้ศึกษาเด็กก่อนวัยเรียนอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ พบว่า 50% ของผู้สูบบุหรี่มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และเด็ก 16% ตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ แสดงถึงสารพิษตกค้างในตัวเด็กจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง และเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองร่วมโครงการเลิกบุหรี่มือสอง มีระดับโคตินินในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญแสดงให้เห็นว่า การได้รับพิษภัยจากบุหรี่มือสองและมือสามเป็นภัยร้ายที่ไม่คาดคิดต่อชีวิตของลูกน้อย เพราะเด็กต้องใช้อากาศหรือสิ่งของร่วมกันกับผู้ใหญ่ในบ้าน

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ถ้าบุคคลใดในครอบครัวสูบบุหรี่ถือว่าเป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยเจตนาให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ได้รับควันบุหรี่ถือเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งมีทุกจังหวัด จากนั้นหัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้เท่าที่จำเป็น พร้อมกับทำคำร้องและคำสั่งไปยื่นต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง

2 July 2562

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 762

 

Preset Colors