02 149 5555 ถึง 60

 

แพทย์ชี้ ‘ซึมเศร้า’ รักษาหายได้ ย้ำ ทานยาตามคำแนะนำ

แพทย์ชี้ ‘ซึมเศร้า’ รักษาหายได้ ย้ำ ทานยาตามคำแนะนำ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี เครือมติชน พร้อมด้วยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 30 แห่ง จัดงานเฮลท์แคร์ “เรียนรู้ สู้โรค 2019″ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศวันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนทยอยลงทะเบียนตรวจสุขภาพตั้งแต่ช่วงเช้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะบูธคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้เข้าแถวเพื่อรอคิวในการรับบริการรักษาจำนวนมาก

จากนั้น เวลา 13.00 น. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธี โดยมี นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บมจ.มติชน พร้อมด้วยผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ

ต่อมา เวลา 14.00 น. ที่เวทีกลาง มีกิจกรรมเฮลท์ทอล์ก “รู้เท่าทัน ป้องกันโรคซึมเศร้า” โดย นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า โรคซึมเศร้าเป็นอีกโรคที่พบคนเป็นมากในโรคไทยจิตเวชเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นภาระ เช่น ทำให้ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับโรคทางกายแล้วเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาระทางกายมากที่สุด ซึ่งสาเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ทราบชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่พบว่าเป็นปัจจัยหนุนนำให้เกิดโรคมีหลายอย่าง ทั้งร่างกายและชีววิทยา เช่น สารสมดุลของสมองที่เปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยของโรคอื่น รวมถึงปัจจัยด้านจิตสังคม

นพ.กานต์กล่าวว่า ซึมเศร้าเป็นอาการหนึ่งที่เรียกว่าภาวะซึมเศร้า แต่โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์จะดูว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เช่น การเกิดโรคทางกาย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาหายได้ สำหรับวิธีการรักษามีทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา แต่หลักๆ แล้วจะใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ ยารักษาโรคซึมเศร้ามีหลายชนิด โดยการรักษาที่ไม่ใช้ยาสามารถทำได้ด้วยการทำจิตบำบัด รวมทั้งการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งมีผลวิจัยรองรับชัดเจนว่าสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้มีอาการดีขึ้นได้รวดเร็ว โดยไฟฟ้าที่ใช้ไม่ใช่กระแสแรงสูง แต่เป็นการรักษาผ่านกระแสไฟฟ้าระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม หลายคนรู้สึกว่าสิ่งที่มีผลต่อใจมากคือโรคซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ แต่ในมุมของจิตแพทย์คือภาวะเช่นนี้เป็นการที่ผู้ป่วยต้องเจอกับโรค โดยภาวะของโรคทำให้มีอาการ

นพ.กานต์กล่าวว่า ผู้ป่วยควรทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ และยารักษาโรคซึมเศร้าไม่มีผลต่อการติดยาแน่นอน ส่วนเรื่องที่ผู้ป่วยกังวลผลข้างเคียงของยา ยอมรับว่ายาทุกตัวที่รักษาโรคมีผลข้างเคียงหมด แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ควรทาน เพราะยาสามารถรักษาให้ผู้ป่วยปรับอารมณ์ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้น หากมีผลข้างเคียง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์

“สิ่งที่อยากแนะนำผู้ป่วยซึมเศร้าเรื่องปรับอารมณ์คือการออกกำลังกาย รักษาให้ตัวเองแข็งแรง โดยการมาหาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือช่วยให้อาการคลี่คลายลงได้ ดีกว่าเราเก็บไว้อยู่อย่างเดียว ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย คนรอบตัวควรสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ด้วยกันเป็นประจำจะสังเกตได้ง่าย เช่น สังเกตการนอนหลับพักผ่อน เพราะบางครั้งการตื่นเร็วที่ต่างไปจากเดิมอาจเป็นอาการหนึ่งของการเกิดโรค รวมทั้งคำพูดบางอย่างที่เป็นไปในแง่ลบ เรื่องสำคัญคือถ้ารับรู้แล้วอย่าปล่อยผ่าน” นพ.กานต์กล่าว

28 June 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1086

 

Preset Colors