02 149 5555 ถึง 60

 

ความคิดยืดหยุ่น’หายไปจากเด็กยุคนี้

ความคิดยืดหยุ่น’หายไปจากเด็กยุคนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมงานค่ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีอาการเป็น “โรคซึมเศร้า” ในระดับที่แตกต่างกันไป บางคนเพิ่งมีอาการเริ่มต้น บางคนเคยเป็นและได้รับการรักษาจนหายแล้ว และบางคนก็สงสัยว่าอาการที่ตนเองเป็นอยู่เข้าข่ายหรือเปล่า !

ต้องยอมรับว่ามองภายนอกเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าหนุ่มสาวเหล่านั้นจะเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือไม่ ยิ่งถ้าคุณไม่ได้ใกล้ชิดระดับเห็นการเปลี่ยนแปลงในคน ๆ นั้น ยิ่งไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าเธอกำลังเผชิญกับอาการต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่

เด็กที่เคยเป็นและสามารถผ่านพ้นโรคซึมเศร้าไปได้ มาแลกเปลี่ยนพูดคุยและเล่าประสบการณ์ว่าเธอผ่านสถานการณ์นั้นมาได้อย่างไร เพื่อแลกเปลี่ยนกับคนที่กำลังเผชิญอยู่

ค่ายนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนต้องการให้เด็กหนุ่มสาวเหล่านั้นได้มีพื้นที่ มีโอกาส มีเพื่อน มีการระบายออก ซึ่งมีกระบวนการและรายละเอียด แต่ประเด็นที่ดิฉันสนใจคือ การอยากฝากคนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงคนใกล้ชิด ได้มีโอกาสเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา

เพราะพวกเขาเหล่านั้น ดำเนินชีวิตปกติ แต่มักจะมีอาการเมื่ออยู่คนเดียว

และจุดเน้นก่อนไปถึงอาการซึมเศร้าคือ ความเครียด และเหมือนหาทางออกไม่ได้

มีเด็กสาวคนหนึ่งบอกว่า “ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย แต่ไม่อยากรู้สึกอะไรแล้ว” เป็นความในใจที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนชีวิตมาถึงทางตัน !

เด็กยุคนี้มีความเสี่ยงสูงต่ออาการของสภาวะทางใจ มีความกดดันสูงต่อการแข่งขันรอบตัวแทบจะทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเรียนที่ต้องเรียนหนักและต้องเรียนดี การแข่งขันสูงตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปัญหาเรื่องเพื่อน เรื่องแฟน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ยังไม่นับรวมปัญหาสังคมที่มีความเสี่ยงต่อการสร้างความเครียดให้กับเด็กยุคนี้รายวัน

หรือแม้แต่ความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงม ตามใจลูก ไม่อยากให้ลูกลำบาก คิดและตัดสินใจให้ลูก ด้วยเหตุผลว่ารักลูก ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายลูก ทำให้ลูกขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง หรือสามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิตได้

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า เด็กมีความเสี่ยงต่อสภาพปัญหา คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะสร้างภูมิต้านชีวิตให้ลูกด้วย

เมื่อไม่นานนี้มีเพื่อนเก่า และเพื่อนออนไลน์ที่เข้ามาทักทายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เธอทั้งสองเล่าถึงเรื่องลูกให้ฟัง ซึ่งมีบริบทที่ใกล้เคียงกัน

เพื่อนเก่าเล่าให้ฟังว่า เธอมีลูกสาววัย 14 ปี ชอบเก็บตัว และเป็นคนเงียบ ๆ ไม่รู้ว่าคิดอะไร แต่เป็นเด็กเรียนดี ตั้งใจเรียนและอ่านหนังสือประจำ ตอนนี้เธอกำลังห่วงกลัวลูกเครียด เวลาลูกเธอจะทำอะไรจะต้องทำให้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ เพราะกลายเป็นว่าจะหมกมุ่นกับสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องเรียนที่เธอตั้งใจไว้ว่าจะต้องได้ที่ 1 หรือ 2 ในห้องเท่านั้น เธอถึงเอาแต่อ่านหนังสือ ทีแรกก็คิดว่าเป็นเฉพาะเรื่องเรียน แต่พอสังเกต ดูเหมือนเธอจะเป็นในทุกเรื่อง ถ้าจะทำหรือเอาอะไรก็ต้องทำให้ได้ ไม่ค่อยยืดหยุ่น

ส่วนเพื่อนออนไลน์ มีลูกชายวัย 17 ปี เข้าข่ายมนุษย์สมบูรณ์แบบ แม่เป็นห่วงกลัวว่าจะเครียด ยอมรับว่าเมื่อครั้งเป็นเด็กน้อยแม่ค่อนข้างจะเข้มงวดกับลูกเสมอ จนคิดว่าติดเป็นนิสัย กลายเป็นว่าตอนนี้เป็นห่วงมาก เพราะเขาไม่มีความยืดหยุ่น

สรุปก็คือ แม่ทั้งสองคนพูดถึงเรื่องลูกว่า ไม่มีความยืดหยุ่น

ก่อนหน้านี้เคยมีผลวิจัยการดำเนินชีวิตและทัศนคติเด็กไทย โดยมูลนิธิเพื่อคนไทยเมื่อปี 2557 พบว่าเด็กไทยกว่า 90 % ประสบภาวะความเครียด โดยเฉพาะเรื่องการเรียนที่ใช้คะแนนและการสอบเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่เพียงแค่สอบวัดผลในชั้นเรียน สอบระหว่างภาค สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังลงไปถึงการสอบเข้าของเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาด้วย

และงานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่าทัศนคติเด็กไทยพบภาพสะท้อนสังคม คือ ครอบครัวไทยเน้นปลูกฝังเด็กที่การเรียนมากที่สุด โดยเด็ก 99 % ให้คำนิยามเกี่ยวกับความสำเร็จ คือ การได้ผลการเรียนที่ดี หน้าที่การงานที่ดี เงินเดือนที่ดี เด็กไทยยุคนี้จึงถูกครอบงำด้วยทัศนคติที่กลัวว่าจะด้อยกว่าคนอื่นตลอดเวลา ส่งผลให้การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จมหายไปกับตำราเรียน การบ้านที่มีอยู่มากมาย จนเด็กไม่ได้วิ่งเล่นสนุกสนานตามวัย

สิ่งที่ตามมา คือ ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งก่อนการสอบ และหลังการประกาศผล ยิ่งเด็กคนไหนสอบตกหรือพลาด ยิ่งเสมือนชีวิตล้มเหลว โดนต่อว่าอับอาย เด็กบางคนอาจรับไม่ได้จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น

และนั่นทำให้นึกถึงทักษะอย่างหนึ่งของเด็กไทยที่ดูเหมือนจะค่อยๆหายไป แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็คือ ความคิดยืดหยุ่น (Mental Flexibility)

คนที่สมองมีความยืดหยุ่น มักเอาตัวรอดเก่ง เพราะรู้ว่าทางออกมีหลายทาง จึงมักไม่ค่อยท้อถอย เพราะเขารู้ว่าชีวิตมีทางออกเสมอ แม้ต้องใช้เวลานานเขาก็พร้อมที่จะฟันฝ่า

ความคิดยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่คนเป็นพ่อแม่ต้องสร้างให้ลูก ๆ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เพราะเมื่อมีสีขาวก็มีสีดำ หากไม่ขาวหรือดำ ก็ยังมีสีเทา หรือสีอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อผิดหวังก็มีสมหวัง ถ้าผิดหวังวันนี้ก็อาจสมหวังได้ในวันหน้า หรือสมหวังในวันนี้ ในวันหน้าก็ผิดหวังได้เช่นกัน ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือคิดว่าชีวิตหมดหนทาง

การยืดหยุ่นทางความคิด (Shift / Cognitive Flexibility) เป็นหนึ่งในทักษะของ EF (Executive Functions) การทำงานของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับทักษะการคิดเพื่อให้ชีวิตสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ที่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญเพื่อความสำเร็จในชีวิต

การยืดหยุ่นทางความคิด คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิด ยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็สามารถทำใจยอมรับได้ มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด ไม่ยึดติดกับความคิดและการกระทำเดิมๆ สามารถยืดหยุ่น พลิกแพลงแก้ปัญหาและปรับตัวได้ดี

รวมไปถึงการยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือ ความสามารถของเด็ก ๆ ในการควบคุมและยับยั้งตนเอง ให้จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ยอมทำสิ่งที่ไม่ชอบแต่จำเป็นได้ และยอมถอนตัวออกจากสิ่งที่ชอบเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นได้ เช่น สามารถยับยั้งตนเองไม่กินน้ำแข็ง เพราะว่าตัวเองป่วยอยู่ ฯลฯ

แต่ความคิดยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองไม่ได้ แต่สามารถฝึกฝนให้เกิดความชำนาญได้

วิธีฝึกให้ลูกมีความยืดหยุ่น เริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง

หนึ่ง – ฝึกให้ลูกเผชิญปัญหา

การเผชิญปัญหาทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความสมหวังและความผิดหวัง ถือเป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อผิดหวังแล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นได้ และสามารถแปรเป็นพลังให้สามารถลุกขึ้นได้ใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ หรือสร้างวัคซีนใจให้กับลูกอย่างรอบด้าน ยิ่งสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงในทุก ๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตอย่างรอบด้าน สอนให้ลูกรู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล

สอง – ให้กำลังใจและใช้คำพูดบวก

กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรสนับสนุนให้ลูกเห็นว่าคุณค่าจากจิตใจด้านใน ให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตจริงผ่านความผิดหวังของผู้คนจากข้อมูลข่าวสารบ้าง และเขาเหล่านั้นสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้หรือผ่านพ้นวิกฤตทางใจเหล่านั้นได้อย่างไร อาจชวนคิดต่อยอด และลองตั้งคำถามลูกว่าถ้าเป็นลูกจะทำอย่างไร

สาม – ชีวิตมีหลายมิติ

ชีวิตมีหลายด้านที่ต้องเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งเท่านั้นที่จะได้การยอมรับ แต่เก่งทางด้านอื่น หรือถนัดในด้านอื่นก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน และทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ล้วนแล้วต้องมีอุปสรรคทั้งสิ้น อยู่ที่มากน้อย และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา

ความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตเดินหน้าไปได้ตามครรลอง

ก็เหมือนการขึ้นสายกีต้าร์หรือไวโอลินนั่นแหละ จะให้ได้เสียงออกมาตรงตามโน้ต ไม่เพี้ยน ไม่แปร่ง ก็ต้องปรับให้ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป

เช่นกันกับการขึ้นเอ็นไม้เทนนิสหรือไม้แบดมินตัน

ถึงที่สุดแล้วหนทางไปสู่การรู้แจ้งตามแนวพุทธศาสนาคือการเดินสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป

27 June 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1839

 

Preset Colors