02 149 5555 ถึง 60

 

ดีเดย์ 20 ส.ค. สูบบุหรี่ในบ้านผิด กม. ฐานใช้ความรุนแรงในครอบครัว ส่งศาลเอาผิดอาญา สั่งบำบัดรักษา

ดีเดย์ 20 ส.ค. สูบบุหรี่ในบ้านผิด กม. ฐานใช้ความรุนแรงในครอบครัว ส่งศาลเอาผิดอาญา สั่งบำบัดรักษา

ดีเดย์ 20 ส.ค.นี้ สูบบุหรี่ในบ้านผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองครอบครัวฉบับใหม่ ฐานใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัว ฟ้อง พม.ส่งเอาผิดคดีอาญา และศาลเยาวชนกลาง สั่งแยกจากผู้รับผลกระทบ และให้บำบัดรักษา ด้าน รพ.รามาฯ เผยเด็กในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ ตรวจฉี่เจอสารพิษโคตินินสูง

วันนี้ (20 มิ.ย.) ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ" ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 18 ว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ โดย ศจย.ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า อีกไม่นานการสูบบุหรี่ภายในบ้านจะสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากขณะนี้มีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน คือ วันที่ 20 ส.ค. 2562 ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า หากได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องไปศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ที่มีอยู่ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่ หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยศาลสามารถสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ ส่วนโทษความรุนแรงในครอบครัว จะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดีส่งขึ้น 2 ศาล ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้

"อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของความคุ้มครองภายในครอบครัวเท่านั้น หากในบ้านมีเด็ก แต่คนในบ้านไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เป็นข้างบ้านที่สูบแล้วได้รับผลกระทบ จะไม่เข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องของในครอบครัว แต่อาจจะต้องไปใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแทน" นายเลิศปัญญา กล่าว

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในบ้านทำให้คนในบ้านได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง และเมื่อสารพษตกค้างตามเสื้อผ้า ผนัง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็จะได้รับสารพิษเหล่านี้ด้วย เรียกว่ารับควันบุหรี่มือสาม ดังนั้น ควันบุหรี่ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน สูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ หรือสูบนอกบ้านแล้วกลับเข้ามา ก็ยังคงมีสารพิษตกค้างอยู่ภายในบ้านได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจศูนย์เด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 122 ครัวเรือน พบว่า มีผู้สูบบุหรี่อาศัยอยู่กับเด็ก ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการสูบบุหรี่นอกบ้าน จากการตรวจสารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก พบปริมาณสารสูงถึง 2 นาโนกรัมต่อซีซี ถึง 16% แต่จากการให้เข้าบำบัดด้วยโปรแกรมเลิกบุหรี่ พบว่า 1 ใน 3 ประสบความสำเร็จในการลดเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่การเก็บข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่มาฉีดวัคซีนที่ รพ.รามาธิบดี จำนวน 75 ราย ที่มีประวัติมีคนในบ้านสูบบุหรี่ พบว่า 76% เจอสารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก โดยจำนวนนี้ 43% มีค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซีถึง 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการอาศัยเป็นยูนิทรวม เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ทาวน์เฮาส์ และหากคนในบ้านสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน ก็จะเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่าเช่นกัน

"กฎหมายใหม่ของ พม.มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เกิดการคุ้มครองคนในครอบครัวจากการสูบบุหรี่ แต่เรามีข้อเสนออีก 3 ประการ คือ 1.ครัวเรือนควรรับรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ โดยเฉพาะเรื่องพิษมือสองมือสาม และพิษต่อเด็ก 2.ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เมื่อตรวจสุขภาพเด็กหรือฉีดวัคซีน หากทราบประวัติของเด็กว่าคนในบ้านมีการสูบบุหรี่ ควรมีการดำเนินการให้คนในบ้านเข้ารับการบำบัด เพราะหากไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก คือ การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และ 3.การสูบบุหรี่ในพื้นที่ยูนิตรวม เช่น คอนโด อพาร์ทเมนท์ ถือเป็นการทำร้ายผู้อื่น เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้อากาศร่วมกัน จึงควรมีการห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในห้อง หรือนิติบุคคลต้องประกาศให้ชัดแต่แรกไปเลยว่า โครงการนี้ห้ามสูบบุหรี่ในห้องหรือสูบได้ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ หากปล่อยให้สูบได้จะได้ไม่ซื้อ เพราะก็เหมือนกับการเลี้ยงสุนัขหรือแมวในห้องที่ยังมีการห้าม แต่นี่การสูบบุหรี่ที่เป็นการทำร้ายร่างกายคนอื่น ก็ควรใช้หลักคิดเดียวกันหรือไม่ รวมถึงการสูบบุหรี่ในรถสาธารณะด้วย" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

20 June 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet

Views, 1946

 

Preset Colors