02 149 5555 ถึง 60

 

9 ข้อความทำร้ายจิตใจลูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยง

9 ข้อความทำร้ายจิตใจลูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีข่าวเด็กหนีออกจากบ้านหรือประชดครอบครัวด้วยการคิดสั้นฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง เป็นประเด็นที่คนในสังคมให้ความห่วงใยและเรียกร้องหาทางแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ทุกคนในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาจึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกเสมอที่สังคมคาดหวังในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสมาชิกใหม่ของสังคม

หลายกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีความสับสนและติดกับดักเรื่อง “วัย” โดยมักคาดหวังให้ลูกซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นสามารถรู้คิดและแสดงออกได้เหมือนกับผู้ใหญ่ทุกประการ ทั้งในเรื่องผลการเรียนและการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ การแสดงออกถึงความผิดหวังและโยนความกดดันผ่านการส่งข้อความ ทั้งทางคำพูด สีหน้า ท่าทางที่เต็มไปด้วยอารมณ์โดยไม่ระมัดระวังถึงผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก

แม้แต่กับตัวผู้ใหญ่เองที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็คงไม่ได้รู้สึกดีไปกับการรับข้อความในลักษณะดังกล่าว ตรงกันข้ามกลับรู้สึกอยากก้าวผ่านไปให้พ้นโดยเร็ว สำหรับเด็กก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน แตกต่างกันที่เด็กไม่สามารถรับมือโดยเฉพาะกับข้อความแย่ๆจากคนในครอบครัวที่เข้ามารบกวนจิตใจได้ ผลที่ตามมาคือ การขาดความมั่นคงทางอารมณ์และแสวงหาที่พึ่งพิงจิตใจภายนอกครอบครัว ซึ่งเด็กที่ติดเพื่อนหรือติดเกมส์ยังพอดึงกลับมาได้ แต่ที่แก้ไขได้ยากกว่าคือคนที่เลือกยาเสพติดหรือคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารผ่านข้อความต่างๆแม้จะเป็นไปเพื่อต้องการที่จะสั่งสอน ให้คำแนะนำและตักเตือนแก่เด็กๆ หรือแม้แต่เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด แต่ก็มีความละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังถึงผลกระทบที่อาจตามมาเสมอ ต่อไปนี้เป็น 9 ข้อความทำร้ายจิตใจลูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยง

1.ออกคำสั่งและตั้งเงื่อนไข – ในฐานะผู้ปกครองการเชื่อฟังคำสั่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่เหมาะสม แต่พึงหลีกเลี่ยงคำสั่งที่เป็นการบีบบังคับ กดดันหรือข่มขู่ และหากไม่ทำตามจะถูกลงโทษอย่างหนักเช่น สั่งให้ทำการบ้านเดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่รักหรือถูกตี การลงโทษสามารถทำได้โดยอยู่ภายใต้การตกลงและรับรู้ร่วมกันมาก่อนเสมอ และไม่ควรนำมาใช้พร่ำเพรื่อ

2.กดดันให้ตอบแทนบุญคุณ – ความกตัญญูและกตเวทีเป็นพื้นฐานของความเป็นคนซึ่งเด็กทุกคนควรได้รับการปลูกฝัง แต่ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้อเรียกร้องหรือข้อแลกเปลี่ยนเพื่อให้เด็กกดดันและลำบากใจ ผู้ปกครองบางคนขาดความระมัดระวังถึงขอบเขตที่เหมาะสมต่อความคาดหวังในตัวเด็ก จึงเผลอเรียกร้อง เช่น ฉันเลี้ยงเธอมาก็ต้องทำตามที่บอกเสมอ หรือฉันให้เธอมาเยอะแล้วถึงเวลาต้องตอบแทนด้วย

3.ตำหนิหรือประชดประชัน – การพูดจาตำหนิหรือประชดประชัน อาทิ ทำไมถึงทำตัวงี่เง่าน่ารำคาญเป็นประจำ ดีแล้วที่เธอไม่อยู่ตรงนี้ไม่เช่นนั้นข้าวของเสียหายหมด บอกแล้วไงว่าอย่าทำสมน้ำหน้ามั้ยล่ะ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีและไม่เป็นที่ต้องการแล้ว หลายคนยังนำนิสัยนี้ติดตัวมาถึงวัยผู้ใหญ่และมักพูดจาตำหนิเสียดสีคนอื่นจนเป็นเรื่องปกติ โดยหลงคิดไปเองว่าทำได้และทำให้ตัวเองดูเหนือกว่าผู้อื่นเสมอ

4.ล้อเลียนปมในใจ – บางครั้งคุณพ่อคุณแม่นึกอยากเล่นสนุกหรือต้องการเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องอื่นด้วยความหวังดี แต่กลับใช้คำพูดล้อเลียนสิ่งที่เด็กไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา สีผิว บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว หรือความผิดพลาดในอดีต ซึ่งเป็นปมในใจที่ดูเหมือนว่าเด็กไม่ได้คิดหรือรู้สึกอะไร อาจหัวเราะเสียด้วยซ้ำ แต่เก็บสะสมฝังใจจนทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังได้

5.ดูถูกความสามารถ – แม้ว่าการพูดดูถูกบางครั้งจะเป็นไปในลักษณะของการท้าทายความสามารถ การกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมและต้องการที่จะเอาชนะคำสบประมาท แต่ก็ใช้ได้เพียงในบางสถานการณ์เท่านั้น เพราะโดยมากมักเป็นการกระตุ้นความรู้สึกในทางลบซึ่งทำให้เด็กรู้สึกถูกด้อยค่าและความสำคัญ จนทำให้ขาดแรงจูงใจและไม่อยากที่จะไปเรียนหรือทำกิจกรรมใดๆที่ตัวเองถูกดูถูกว่าทำได้ไม่ดีอีกต่อไป

6.เปรียบเทียบกับคนอื่น – การสร้างแบบอย่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมชั้น อาจเป็นเพียงความต้องการที่จะทำให้เห็นความคาดหวังของผู้ปกครองด้วยตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการดูถูกความสามารถและปิดกั้นลักษณะเฉพาะตัวของเด็กได้ด้วยเช่นกัน วิธีการที่เหมาะสมกว่าคือการดูแลและชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง รวมทั้งเข้าใจและส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน

7.อ้างสถานะทางเพศ – เด็กเรียนรู้จากการเล่นอาจซนหรือแกล้งคนอื่นบ้าง ไม่ระมัดระวังอะไรซึ่งผู้ใหญ่สามารถแนะนำการเล่นที่เหมาะสมได้อย่างตรงไปตรงมา แต่บางครั้งผู้ใหญ่ก็มักเอาความคิดของตัวเองไปตัดสินเด็กผู้ชายทะเล้นไม่เป็นสุภาพบุรุษ หรือเด็กผู้หญิงไม่เรียบร้อยอย่างกุลสตรี ซึ่งสร้างความสับสนและความกดดันที่นำเอาความคาดหวังเรื่องเพศมาตีกรอบการเรียนรู้ผ่านการเล่นสนุกในวัยเด็กโดยไม่จำเป็น

8.ยุยงให้ตอบโต้คนอื่น – เมื่อถึงเวลาที่เด็กต้องพบปะผู้คนและเข้าสังคมที่หลากหลายขึ้น อาจประสบปัญหาความสัมพันธ์กับคนอื่นบ้างในบางครั้ง เรื่องอาจบานปลายและกระทบจิตใจหลายคนหากผู้ปกครองขาดความใส่ใจรับฟังและใช้อารมณ์ความรู้สึกแนะนำให้ตอบโต้คนอื่น ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วเด็กหวังเพียงให้คุณพ่อคุณแม่ร่วมรับฟัง ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกและรู้สึกว่ามีคนคอยดูแลหรือช่วยแก้ไขปัญหาบ้างเท่านั้น

9.พูดให้ร้ายคนอื่นให้ฟัง – การทำร้ายจิตใจไม่ได้มีเพียงเฉพาะการพูดจากับเด็กโดยตรงเท่านั้น บางครั้งผู้ปกครองอาจลืมตัวนินทาคนอื่นกับกลุ่มเพื่อนโดยมีเด็กอยู่ด้วย ตั้งใจพูดให้ร้ายคนรู้จักหรือคนอื่นให้ลูกฟังจนเป็นนิสัยเท่ากับเป็นการยัดเยียดข้อมูลทางลบและความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคนอื่นไปโดยปริยาย ปล่อยให้เด็กแบกรับความรู้สึกอึดอัดใจ สับสนและทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องพบกับบุคคลที่ถูกกล่าวพาดพิงถึงในทางที่ไม่ดี

แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมีความหวังดีเป็นที่ตั้งโดยพยายามสั่งสอนและบอกกล่าวถึงสิ่งที่ควรเป็นหรือสิ่งที่ควรทำแก่ลูกๆเสมอ แต่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดี ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของความรักและการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มากกว่าการตอกย้ำซ้ำไปซ้ำมาด้วย 9 ข้อความทำร้ายจิตใจลูกๆ ดังที่กล่าวมา

22 May 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 2871

 

Preset Colors