02 149 5555 ถึง 60

 

กรมการแพทย์จัดอบรมหมอแผนปัจจุบันใช้กัญชารักษาโรค ย้ำไม่ใช่การรักษาทางเลือกแรก

กรมการแพทย์จัดอบรมหมอแผนปัจจุบันใช้กัญชารักษาโรค ย้ำไม่ใช่การรักษาทางเลือกแรก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ สำหรับ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ครั้งแรกซึ่งมีผู้เข้าอบรมเต็มจำนวน 200 คน ว่า ครั้งนี้เป็นการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์เรื่องการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ โดยจะเน้น 3 ประเด็น คือ 1.มีความปลอดภัย สารสกัดจากกัญชามีความปลอดภัยจากสารพิษเจือปน และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่ำเมื่อใช้รักษาผู้ป่วย 2.มีประสิทธิผลในการรักษา เป็นประโยชนกับผู้ป่วยจริงๆ มีการบอกถึงผลดี ผลเสียของการใช้กัญชาอย่างชัดเจน และ 3.มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา ผู้ป่วยเข้าถึงสารสกัดจากกัญชาอย่างเท่าเทียม และไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดเป็นพิเศษ โดยหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีคณะกรรมการรับรอง ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต่อไป

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใดก็ตาม ที่จะใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ด้วย เนื่องจากสารสกัดจากกัญชา ถือเป็นสารที่ควบคุมเหมือนมอร์ฟีน ที่ต้องไปขึ้นทะเบียนและมีรายงานการใช้ โดยใบประกาศนี้จะมีอายุเพียง 2 ปี เนื่องจากองค์ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์เปลี่ยนเร็วมาก ภายใน 1-2 ปีนี้จะมีงานวิจัยออกมาจำนวนมาก จึงหารือกันในคณะกรรมการรับรองว่าเมื่อครบ 2 ปี ก็จะต้องมาเข้ารับการอบรมใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้หากโรงพยาบาลใดมีเพียงแพทย์มาอบรมก็จะมีปัญหา เนื่องจากการจะใช้ต้องมีทั้งแพทย์ และเภสัชกร ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นผู้สั่งจ่าย และจ่ายยา

“ทั้งนี้ หากสถาบันๆใดอยากจัดการอบรมหลักสูตรลักษณะนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีมาตรฐาน 4 ข้อ คือ ต้องมีการส่งรายละเอียดหลักสูตรมาให้กรรมการพิจารณารับรองหลักสูตรการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ก่อน 2 เดือน 2.ต้องส่งรายชื่อวิทยากรพร้อมคุณวุฒิของวิทยากร 3.ต้องมีคู่มือการอบรม และ4.ต้องระบุว่าผู้ที่ผ่านการอบรมต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง เช่น ของกรมการแพทย์ผู้เข้าอบรมต้องผ่านการทดสอบให้ได้ร้อยละ 60 ถึงจะได้การรับรอง เป็นต้น” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว และว่า สิ่งสำคัญขอย้ำว่า การให้กัญชาทางการแพทย์นั้น ต้องไม่ใช่การรักษาที่เป็นทางเลือกแรก แต่ผู้ป่วยจะต้องผ่านการรักษาตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานมาก่อนแล้วไม่ได้ผล และแพทย์จะต้องอธิบายข้อดีและผลกระทบจากการใช้กัญชาให้ผู้ป่วยเข้าใจจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้หรือไม่

เมื่อถามว่าในระยะแรกจะต้องมีการตั้งศูนย์รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ประมาณ 30 แห่ง ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ทำการเตรียมทั้งแพทย์ และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมเพื่อคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษากับผู้ป่วย

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัดกรมฯ ทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง ก็จะมีการทำวิจัยสารสกัดกัญชาในหลอดทดลอง เบื้องต้นจะมีการขอสารสกัดกัญชาประมาณ 100 ลิตร จาก อภ.มาทำการวิจัย โดยแต่รูปแบบการวิจัยจะไม่เหมือนกันว่าจะต้องใช้สารสกัด ปริมาณเท่าใด ต้องขึ้นอยู่กับหลักวิชาการและปริมาณสารที่ใช้ในแต่ละโรค อย่างไรก็ตามโครงการวิจัยนี้จะเน้นความปลอดภัย จึงจะรอสารสกัดจาก อภ. ที่จะได้สารสกัดในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนโครงการวิจัยนั้นจะเน้นทำวิจัยใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรค ภาวะที่ได้ประโยชน์มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน 2.กลุ่มภาวะที่น่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการต้องการข้อมูลวิชาการ และศึกษาวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม และ3.ภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองก่อน ศึกษาวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้ หากกลุ่มใดที่มีการผลิตสารสกัดกัญชาอยู่แล้วและมั่นใจว่ามีความปลอดภัยสามารถเข้าร่วมวิจัยกับกรมฯได้

30 April 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 600

 

Preset Colors