02 149 5555 ถึง 60

 

คุณพ่อคุณแม่...อย่าทะเลาะกันเลยนะ

คุณพ่อคุณแม่...อย่าทะเลาะกันเลยนะ

สำนวนไทยที่ว่า “ลิ้นกับฟัน” อาจอยู่ในคู่ชีวิตแทบทุกคน ผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์อาบน้ำร้อนมาก่อนก็มักใช้สำนวนนี้สั่งสอนคู่สามีภรรยาด้วยว่าความเป็นคู่ชีวิตใกล้ชิดเหมือนลิ้นกับฟันย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา ขอให้ใช้ความหนักแน่นในความรักและความปรารถนาดีต่อกันประคับประคองกันไป แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งต่างฝ่ายก็มักลืมทุกสิ่ง มุ่งแต่จะพิทักษ์สิ่งที่ตัวเองยึดถือโดยไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ใคร

หลายกรณีที่การทะเลาะเบาะแว้งลุกลามบานปลายไปถึงขั้นเลิกราหย่าร้าง หากมีกันสองคนเรื่องก็จบลงเพียงเท่านี้ แต่ที่สร้างครอบครัวจนมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ เมื่อมีเหตุอะไรก็ตามแต่ให้ต้องกระทบกระทั่งกัน ต่างฝ่ายต่างยังคงถือทิฐิไม่พยายามผ่อนหนักผ่อนเบา จนเกิดเป็นปัญหาครอบครัวสร้างความทุกข์ใจให้กับลูกของตัวเองก็มีจำนวนไม่น้อย โยนภาระให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาของผู้ใหญ่โดยไม่รู้ตัว

ปัญหาความไม่ลงรอยกันของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเงิน ความคาดหวังและการปรับตัวเข้าหากัน แนวทางการเลี้ยงลูกต่างกัน การนอกใจหรืออะไรก็ตาม ผู้ใหญ่ไม่ควรส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้เด็กๆที่ไม่รู้เรื่องด้วยแบกรับเอาไว้ ผู้เขียนอยากให้บทความนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายได้ฉุกใจคิดว่าความขัดแย้งกันในครอบครัวนั้นส่งผลร้ายต่อลูกๆที่เรารักได้อย่างไรบ้าง

1.ขาดความมั่นคงทางจิตใจ วัยเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทางจิตใจ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือตัวเอง จึงต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อารมณ์แปรปรวนของคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถส่งผลต่อความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจโดยตรง

2.เกิดความเครียดและทุกข์ใจ การตกอยู่ภายใต้บรรยากาศตึงเครียดในครอบครัวเป็นประจำจนทำให้เกิดความเครียดและความทุกข์ใจสร้างข้อจำกัดต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย เด็กมักขาดแรงจูงใจ ขาดความใส่ใจหรือไม่มีสมาธิมากพอที่จะทำกิจกรรมต่างๆให้สำเร็จลุล่วงได้ตามที่คาดหวัง

3.เกิดการเปรียบเทียบ วัยเด็กเป็นวัยที่เรียนรู้จากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา การที่เด็กพบว่าความอบอุ่นใกล้ชิดในครอบครัวของตัวเองแตกต่างจากของเด็กคนอื่น ทำให้เกิดการเปรียบเทียบและแบกรับปัญหา จนอาจรู้สึกน้อยใจในโชคชะตา สับสนและไม่มั่นใจว่าจะพึ่งพาใครเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ได้

4.ขาดทักษะในการแก้ปัญหา เมื่อรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มั่นใจว่าจะพึ่งพาใครได้ เด็กจึงมีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมความขัดแย้งที่อยู่ใกล้ตัว ทั้งการใช้อารมณ์และคำพูดต่อว่าคนอื่น หรือการหลบหนีปัญหา จนขาดการเรียนรู้ทักษะการใช้เหตุผล การพูดคุยและความอดทนในการแก้ปัญหา

5.หลุดจากกรอบทางสังคม เด็กที่ทุกข์ใจและรู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ไม่สามารถทำให้คนในครอบครัวดีกันได้มักขาดความมั่นใจในตัวเองและอาจตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ใน 2 ทิศทาง คือ ปลีกตัวออกจากสังคม หรือเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมแปลกแยกเพื่อปกปิดปมด้อยและทำให้ตัวเองดูโดดเด่น

6.เก็บไว้ในความทรงจำ เด็กที่เติบโตบนความขัดแย้งหรือการเลิกราของคุณพ่อคุณแม่มีแนวโน้มที่จะเก็บภาพความทรงจำที่ไม่ดีนี้ไว้กับตัวไปตลอดชีวิต ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการสร้างครอบครัวของตัวเองลดลงด้วย เนื่องจากกลัวหรือฝังใจว่าจะต้องประสบปัญหาครอบครัวเช่นเดียวกับที่ตนได้เคยประสบมา

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่บางกลุ่มยังมีความเข้าใจผิดๆหรือเห็นเพียงบางตัวอย่างที่ว่าการทะเลาะกันในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ เด็กจะเรียนรู้และสามารถปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง แต่สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือ การเรียนรู้ของเด็กนั้นจำเป็นต้องได้รับการแนะนำอย่างใกล้ชิดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อให้เด็กค่อยๆปรับตัวและสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม

จึงเป็นหน้าที่สำคัญของทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องไม่ปล่อยให้เด็กๆแบกรับความทุกข์ไว้โดยลำพังจนส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจในระยะยาว ลดการยึดถือตัวตนของตัวเอง ร่วมกันสร้างครอบครัวให้กับลูกๆบนพื้นฐานของความรักและความเข้าใจกัน สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ซึ่งเอื้อให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจดีและอ่อนโยน โดยอาจลองพยายามใช้วิธีการตามข้อแนะนำต่อไปนี้

1.สุข/ทุกข์ของลูกมาก่อน เมื่อประสบปัญหาให้ลองนึกถึงตัวเราเองบ้างว่าเราจะทุกข์ใจมากเพียงใดเมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะหรือเลิกรากัน ลูกของเราก็คงรู้สึกทุกข์ใจมากไม่ต่างกัน เช่นเดียวกันว่าเราจะสุขใจมากเพียงใดที่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่พร้อมหน้า ลูกของเราก็คงรู้สึกสุขใจมากไม่แตกต่างกันเลย

2.ไม่อ้างว่าใครรักลูกมากกว่า บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ต่างฝ่ายต่างอ้างตัวเป็นผู้รักลูกมากกว่าเสมอ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายต่างก็สามารถแสดงออกซึ่งความรักได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ลดความขัดแย้งและร่วมกันสร้างครอบครัวที่ดีเพื่อลูก

3.ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ หากความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม อย่าปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลนานนัก หามุมเงียบๆในบ้านสงบสติอารมณ์ ทบทวนเรื่องราวและประเด็นของแต่ละฝ่าย เมื่อใจเย็นลงแล้วให้ใช้เหตุผลพูดคุยหาความต้องการร่วมกันโดยนึกถึงลูกก่อนเสมอ

4.ความในไม่นำออก เวลาคนเรามีความทุกข์มักต้องการที่พึ่งทางใจและเล่าให้คนนอกฟังซึ่งไม่รู้ความตื้นลึกของปัญหาแต่อย่างใด ผู้ฟังที่ดีทำได้เพียงรับฟังและให้กำลังใจ แต่บ่อยครั้งมักข้ามเส้นออกความเห็นและยุยงทำให้ปัญหาบานปลาย การหันหน้าเข้าหากันเองเพื่อบอกความในใจจึงเป็นวิธีที่ดีกว่ามาก

5.ไม่หนีปัญหา การตัดสินใจออกจากบ้านไปเพื่อเลี่ยงการทะเลาะกันดูเหมือนจะใช้ได้ แต่นี่มักเป็นจุดจบของครอบครัว เพราะความห่างนั้นยากจะประสาน ผลคือการหย่าร้างและปล่อยลูกๆลอยเคว้งคว้างเป็นลูกปิงปองส่งกันไปมา ทางที่ดีคือพยายามเผชิญหน้ากับปัญหา ถอยกันคนละก้าวและให้เวลากันสักนิด

6.หลากเหตุผลอดทนเพื่อลูก เมื่อใดที่ยกคำว่าจะ “อดทน” อีกหรือไม่มาใช้ นี่คือสัญญาณอันตรายในครอบครัว เพราะอีกไม่นานเราจะไม่อดทนแล้ว นอกจากปัญหานอกใจกันคงไม่มีปัญหาใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แท้จริงแล้วครอบครัวคือพื้นที่ของความรักและความไว้วางใจ เริ่มแก้ที่ใจตัวเองทุกอย่างจะดีขึ้นได้

ถึงที่สุดแล้วคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะบอกว่าตัวเองพยายามทำดีที่สุดมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่สามารถเข้าไปตัดสินเรื่องราวที่แตกต่างกันในทุกกรณีได้ แต่สำหรับลูกๆทุกคนหากขอพรได้สักหนึ่งข้อ คงขอคุณพ่อคุณแม่ว่าอย่าทะเลาะกันเลยนะ

22 April 2562

ที่มา ผู้จัดการ ออนไลน์

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1789

 

Preset Colors