02 149 5555 ถึง 60

 

‘อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ’ แก้ด้วยโภชนาการช่วงแรกของชีวิต

‘อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ’ แก้ด้วยโภชนาการช่วงแรกของชีวิต

ปัญหาด้านโภชนาการของเด็กไทยที่ต้องได้รับการแก้ไข 3 เรื่อง ได้แก่ ภาวะโภชนาการเกิน ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็ก ภาวะโภชนาการไม่พอแบบเรื้อรัง ส่งผลให้การเจริญเติบโตชะงักและทำให้เด็กเตี้ย และภาวะโภชนาการไม่สมดุล ส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก

ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2561 จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ได้หยิบยกหนทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการดูแลโภชนาการที่ดีในช่วงแรกของชีวิต หรือมหัศจรรย์พันวันแรก นั่นคือตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึง 3 ขวบ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ ภาวะโภชนาการเกิน จะพบว่าเด็กอ้วนมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ ซึ่งครอบครัวยังเข้าใจผิดว่าเลี้ยงลูกให้อ้วนจะทำให้เติบโตดี ทั้งที่จริงแล้วการที่ปล่อยให้เด็กอ้วนตั้งแต่เล็ก ยิ่งทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเมื่อเติบใหญ่

“หลักการง่ายๆ ในการแก้ปัญหาเด็กอ้วน คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องลด 3 รสชาติในอาหารที่ลูกกิน ได้แก่ รสหวาน เค็ม มัน พร้อมกับสอนให้ลูกเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูก”

ขณะที่ พ.อ.นพ.เรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูรกุมารแพทย์โรคโภชนาการเด็ก กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ภาวะเตี้ยเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงภาวะโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรัง เนื่องจากกินอาหารไม่พอ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง แม้ความสูงของเด็กจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรม แต่การเลี้ยงดูเด็กให้มีโภชนาการที่ดีและสมดุลต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตก็เป็นปัจจัยเสริมให้เด็กไม่ประสบปัญหาภาวะเตี้ย

ถ้าจะแก้ปัญหาดังกล่าว พ.อ.นพ.เรืองวิทย์ เสนอว่า ต้องลดอัตราการเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย ควบคู่ไปกับการป้องกันภาวะเตี้ยจากภาวะโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรังด้วยการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมตลอดช่วงวัยเด็ก

“โภชนาการที่ช่วยส่งเสริมความสูงตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โปรตีน และแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ รวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส สังกะสี เหล็ก ทองแดง แมงกานีส และวิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค ซึ่งสารอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดพบได้ในอาหาร 5 หมู่และนม เพราะฉะนั้น ทางที่ดีคุณแม่ควรได้รับโภชนาการที่ดีเต็มที่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วก็ยังไม่สามารถละเลยต้องได้รับโภชนาการที่ดี เพื่อผลิตน้ำนมคุณภาพให้ลูก และเมื่อลูกถึงวัยหลัง 1 ขวบที่สามารถกินอาหารได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกอาหารที่มีสารอาหารที่ครบถ้วน สมดุล และควรให้กินนมเป็นอาหารเสริมให้ได้วันละ 2-3 แก้ว”

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ เสริมว่า เด็กวัย 1-3 ขวบมีความต้องการแคลเซียมมาก และนมเป็นแหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง การเลือกนมให้ลูกกินขึ้นอยู่กับความสะดวกของครอบครัว จะเป็นนมที่เติมสารอาหารพวกวิตามินเกลือแร่ก็ดี เพราะมีสารอาหารจำเป็นสำหรับช่วงวัยเด็กครบถ้วน แต่ราคาจะสูงกว่านมทั่วไป หากครอบครัวที่มีงบประมาณจำกัดอาจเลือกนมอื่นๆ หรือเด็กบางคนแพ้นมวัวก็สามารถกินนมถั่วเหลืองได้ เพราะปัจจุบันนมถั่วเหลืองก็มีการเติมแคลเซียมและวิตามินต่างๆ เพิ่มเช่นกัน

สำหรับโภชนาการมีผลต่อระดับสติปัญญา รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สารอาหารที่มีต่อสติปัญญาของเด็ก มี 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.โอเมก้า 3 2.วิตามินบี โฟลิก โคลีน ช่วยสร้างสมอง พัฒนาการด้านภาษา ความจำและความสามารถในการเรียนรู้ 3.สังกะสี ช่วยเรื่องสมาธิ 4.เหล็ก 5.ไอโอดีน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และ 6.วิตามินรวมและเกลือแร่ช่วยด้านสติปัญญา

“โครงสร้างสมอง มีการแบ่งขยายเซลล์ตลอดเวลาในช่วง 2-3 ขวบ โครงสร้างเหล่านี้จะขยายเร็วมาก และจะทำลายตัวเองด้วยถ้าไม่ได้ถูกใช้ สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา ได้แก่ วิตามินบี โคลีน สังกะสี และโอเมก้า 3 จะช่วยสร้างแขนงเครือข่ายสมองให้เกิดการเชื่อมต่อ ขณะที่วิตามินรวมและเกลือแร่ต่างๆ จะช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สารอาหารทั้งหมดจะทำงานได้อย่างดี เมื่อได้รับในปริมาณที่สมดุล” รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ทิ้งท้าย

28 March 2562

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 4516

 

Preset Colors