02 149 5555 ถึง 60

 

ถกปัญหาโจ๋ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

ถกปัญหาโจ๋ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

ถกปัญหาโจ๋ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย ผู้เชี่ยวชาญชี้ต้องพัฒนาจิตใจเด็กด้วย : สุขภาพ – สืบเนื่องจากข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยกระโดดตึกฆ่าตัวตายในช่วงสอบที่ผ่านมา ได้สร้างความตกใจให้กับสังคม จนต้องหันกลับมาสำรวจถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ครั้งนี้เราจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาถกปัญหา พร้อมหาวิธีแก้ไข

ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศ ไทย (IYF) และคอลัมนิสต์ประจำน.ส.พ. ข่าวสด เปิดเผยว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมนึกถึงเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ได้พบกับนักศึกษาหญิงที่ชื่อว่า นัท เธอศึกษาอยู่ในคณะและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่เธอเป็นโรคซึมเศร้าครับ เธอเปิดใจคุยกับผมว่า ในสายตาคนรอบข้างมักจะมองเธอเป็นเด็กตั้งใจเรียน และไม่เคยทำเรื่องเสื่อมเสีย ซึ่งก็เป็นแบบนั้น

แต่เธอกลับอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกไม่มีความสุข มองทุกสิ่งด้วยความสิ้นหวัง ทั้งเรื่องครอบครัว เพื่อน และการเรียน วนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ ด้วยความเป็นลูกสาวคนเล็ก และนิสัยขี้อ้อน เธอจึงถูกประคบประหงมกว่าพี่ชาย เอ่ยปากอยากได้สิ่งไหน ไม่วายพ่อแม่ต้องหามาให้ และมีหน้าที่เรียนให้เก่งอย่างเดียว แต่นัทได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ IYF เธอจึงได้พบกับผม และผมมีโอกาสได้ให้คำปรึกษา โชคดีที่เธอฟังและยอมทำตามคำแนะนำ จึงได้รอดพ้นจากการคิดสั้น”

ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิลกล่าวต่อว่า จากเรื่องของนัทอาจฟังดูเหมือนเป็น ‘การเลี้ยงดูที่ดี’ แต่ความจริงแล้วกำลังทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว และคิดว่าปัญหาที่นัทเคยเผชิญ กำลังเกิดขึ้นกับเยาวชนไทยจำนวนมาก

“ผมไม่ได้หมายความว่า ห้ามดูแลเอาใจใส่ หรือแสดงความรัก แต่การตามเอาใจมากเกินไป โดยไม่ฝึกให้พบเจอกับความยากลำบาก ในระยะยาวจะทำให้จิตใจของลูกๆ ไม่ได้ออกกำลัง สุดท้ายจิตใจก็ ‘นุ่มนิ่ม’ เหมือนเต้าหู้ ถูกปัญหาพุ่งเข้าชนก็ได้แต่แตกสลายไปโดยง่าย และสิ่งนี้คือ สาเหตุหลักของปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย”

ดร.(กิตติมศักดิ์)ฮักเชิลกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหา สถาบันครอบครัว ควรมีบทบาทที่สุด เพราะมีความใกล้ชิด สามารถสอนเด็กให้หักห้ามใจ และสร้างจิตใจที่เข้มแข็งได้ตั้งแต่เริ่มต้น บุคลากรทางการศึกษาก็มีส่วนสำคัญ คุณครูหรืออาจารย์ต้องมีองค์ความรู้ด้านจิตใจ เพื่อแบ่งปันกับเด็กและเยาวชนเมื่อพวกเขามีปัญหา

“การพัฒนาทักษะความสามารถให้กับเยาวชนเป็นสิ่งจำเป็นก็จริงอยู่ แต่ต้องพัฒนาด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างความแข็งแรงจากภายในให้พวกเขา ผู้ที่จะเป็นอนาคตของชาติ ในฐานะที่ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชน เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วจึงอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพร่วมกับรัฐบาลไทยครับ”

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่าวิกฤต เพราะว่าการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไทยยังไม่สูงมาก แต่การเสียชีวิตในวัยหนุ่มสาวนั้นน่าเสียดาย เพราะพวกเขาจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อไปในอนาคต จึงไม่ควรที่จะมาจบชีวิตก่อน เป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งแนวโน้มการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นค่อยๆ เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงว่าต้องใส่ใจปัญหานี้

วัยรุ่นคือช่วงที่กำลังเรียนรู้ที่จะพัฒนาวุฒิภาวะในจิตใจ เป็นวัยที่สะสมความเครียดจากเรื่องการเรียน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว ในวัยเรียนจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา และเพื่อน คอยให้คำปรึกษา ความพยายามฆ่าตัวตายจึงไม่เกิดขึ้น แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้ปรึกษา

โดยหลักการของด้านสุขภาพจิต ที่เรียกว่า การดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น มี 3 ส คือ ส.แรก เรียกว่า สอดส่องมองหา ให้คอยดูว่าใครที่มีปัญหา คนที่ดูก็มี 3 คน คือ 1.เพื่อน 2.พ่อแม่ และ 3.อาจารย์ที่ปรึกษา โดยเด็กที่มีผลการเรียนตกต่ำลง เด็กที่ติดเกม เด็กที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแล และใส่ใจเป็นพิเศษ

ส.ที่สอง คือ ใส่ใจรับฟัง การที่แบบรับฟัง บางทีเราชอบไปปลอบใจกันง่ายๆ แต่คนที่มีปัญหาเขาต้องการรับฟังและต้องการความช่วยเหลือ คือ อาจจะต้องไป และ ส.ที่สาม คือ ส่งต่อ เชื่อมโยง ถ้าดูแล้วเขาสะสมความเครียดไว้เยอะ ก็ต้องขอคำปรึกษา และรับการดูแลจากมืออาชีพ ความจริงหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องเข้ามารับผิดชอบดูแล

นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า ทางกรมสุขภาพจิต จะทำเป็นนโยบายหรือโครงการสำคัญ และพยายามทำงานร่วมกันกับฝ่ายต่างๆ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

20 March 2562

ที่มา ข่าวสด

Posted By Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 828

 

Preset Colors