02 149 5555 ถึง 60

 

กรมสุขภาพจิตร่วมสถานศึกษาจ่อตั้ง ‘คลินิก’ เฝ้าระวังนิสิตนักศึกษาป้องกันฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตร่วมสถานศึกษาจ่อตั้ง ‘คลินิก’ เฝ้าระวังนิสิตนักศึกษาป้องกันฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตจ่อประชุมร่วมสถานศึกษา หาแนวทางป้องกันนิสิตนักศึกษาฆ่าตัวตาย เผยตัวเลข 4 จว.พบปัญหาสูง วอนสังคมช่วยเฝ้าระวัง ยึดหลัก 3 ส.

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนักศึกษาฆ่าตัวตายหลายรายว่า กรมมีการเก็บสถิติการฆ่าตัวตายทุกปี ซึ่งเก็บมาจาก 2 แหล่ง คือสถานพยาบาล และจากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแบ่งการเก็บข้อมูลออกเป็น 3 วัย คือวัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ โดยพบว่าวัยแรงงานมีอัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด รองลงมา คือวัยสูงอายุ และวัยรุ่นนักศึกษา ซึ่งมีอัตราที่ต่ำประมาณ 3 ต่อแสนประชากรวัยรุ่น แม้อัตราจะต่ำ แต่ต้องให้ความสนใจ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งการตายก่อนเวลาอันควรทำให้สูญเสียอายุขัยเฉลี่ย เช่น ฆ่าตัวตายตอนอายุ 20 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยคนไทยคือ 75 ปี เท่ากับต้องใช้คนอายุ 80 ปี ถึง 11 คน ถึงจะเฉลี่ยคืนกลับไปได้ และทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะกว่า 50 ปีหายไป สามารถทำงานสร้างรายได้ต่างๆ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนนักศึกษา ดังนั้น กรมจึงเตรียมที่จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่สถานศึกษา รวมถึงมีแนวคิดที่จะลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ 50 สถาบันอุดมศึกษา ที่มีจำนวนนิสิตนักศึกษามากกว่า 10,000 คน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้วางมาตรการในการเฝ้าระวังดูแลภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ซึ่งการเฝ้าระวังเป็นมาตรการที่ดีที่สุด จะป้องกันการฆ่าตัวตายได้ 60% ซึ่งสามารถเฝ้าระวังได้โดยใช้หลัก 3 ส. คือ 1.สอดส่องมองหา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนใกล้ชิดควรช่วยกันสอดส่องสังเกตว่าเพื่อน คนรอบข้างมีปัญหาหรือไม่ 2.ใส่ใจรับฟัง ซึ่งกลไกทางจิตของคนจะฆ่าตัวตายจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและไม่มีใครรับฟัง จึงต้องรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ มีท่าทียอมรับอยากช่วยเหลือ ความคิดอยากฆ่าตัวตายก็จะลดลง และ 3.ส่งต่อ กรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินตนเองด้วยหลัก 8Q

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินการเฝ้าระวังอย่างไร จัดตั้งเป็นคลินิกหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรงในการวางเทคโนโลยี ออกแบบระบบบริการต่างๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาก็มีเจ้าหน้าที่พยาบาล อาจารย์แนะแนว อาจารย์จิตวิทยา รวมถึงสถานที่รักษาพยาบาลเบื้องต้นในสถานศึกษาอยู่ อาจจัดตั้งเป็นคลินิก เพื่อให้มีศักยภาพในการคัดกรองมากขึ้น ซึ่งข้อกังวลเรื่องคนอาจไม่เข้ามารับบริการปรึกษานั้น อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกคนสามารถใช้มาตรการ 3 ส. ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัว โดยคลินิกจะเป็นจุดประสานงานในการช่วยเหลือเบื้องต้นและส่งต่อในรายที่ยาก

เมื่อถามถึงมาตรการในกลุ่มโรงเรียน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ระบบสุขภาพจิตในโรงเรียนมีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะขาดกำลังคน อุปกรณ์ เครื่องมือในการตรวจประเมิน หรือบุคลากรมีภาระงานหลายอย่าง ซึ่งกรมจะเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพ เครื่องมือ และระบบบริการส่งต่อให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการพัฒนาอบรมครูแนะแนว ซึ่งปกติจะมีการประเมินทักษะความสามารถของเด็ก ดูความถนัด ความรู้ความสามารถ ทัศนคติ และเชิงจิตวิทยาอยู่แล้ว ให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น และอาจใช้ชั่วโมงแนะแนวในการประเมินเด็ก เพื่อเข้าถึงและคัดกรองเด็กได้อย่างรวดเร็ว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า ในแต่ละปีจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย และในปี 2561 พบว่ามี 4 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน มีการฆ่าตัวตาย 17.55 รายต่อแสนประชากร 2.พัทลุง มีการฆ่าตัวตาย 11 รายต่อแสนประชากร 3.สระแก้ว มีการฆ่าตัวตาย 10.23 รายต่อแสนประชากร และ 4.กาฬสินธุ์ มีการฆ่าตัวตาย 8.9 รายต่อแสนประชากร ทั้งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 10 รายต่อแสนประชากร

ทั้งนี้ วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันความสุขสากล ซึ่งความสุขที่แท้จริงต้องเกิดจากภายใน ซึ่งจะอยู่ที่วิธีในการคิด ได้แก่ คิดให้ คิดเป็น และคิดดี โดยเฉพาะความสุขที่เกิดจากการทำประโยชน์ และมีคุณค่า ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขที่ยาวนาน ยิ่งการช่วยคนที่มีปัญหาทางใจ เช่น ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย ก็จะยิ่งมีความสุขและได้บุญมาก โดยอาศัยหลัก 3 ส. สำหรับวันที่ 20 มี.ค. กรมจะจัดกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างความสุขคนไทย ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT ตลาดบางใหญ่ สถานีเซ็นทรัลเวสต์เกต โดยจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความสุข เน้นประชาชนร่วมถ่ายทอดวิธีสร้างสุขของตนเองให้กับคนรอบข้าง รวมถึงจัดประกวดคลิปวิดีโอ ข้อความสั้น ภายใต้หัวข้อ สุขใจ…ไม่สูญเสีย ในเดือนเมษายนนี้

20 March 2562

ที่มา มติชนรายวัน

Posted By ์์Nitayaporn/Bungon/Thongpet/Kanchana

Views, 1360

 

Preset Colors